อ่าน 1,567 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 103/2557: 24 กรกฎาคม 2557
กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน ทำได้จริง ทำได้เดี่ยวนี้

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ใคร ๆ ก็บอกว่าควรส่งเสริมการใช้จักรยานในกรุงเทพมหานคร แต่แนวทางที่นำเสนอไม่เป็นจริง ผมเคยไปเจอคนชอบขี่จักรยานเป็นสุภาพสตรีวัยกลางคนคราวป้า บอกอยากขี่จากแถวบ้านบางกะปิ-คลองจั่น เข้ามาสีลม ผมถาม ‘ป้า’ (ในใจ) ว่าป้าอยากตายหรือ เพราะมันเสี่ยงชีวิตเกินไปจริงๆ ที่จะทำเช่นนั้น แล้วเราจะทำให้ได้จริงๆ กันอย่างไร ลองมาดูกัน
          ผมเชื่อว่าทุกคนคงหลงใหลมนต์เสน่ห์ของรถจักรยาน และอยากใช้จักรยานอยู่เหมือนกัน ยิ่งในภาวะที่มีมลพิษมากมาย เราอาจอยากช่วยลดมลพิษ และยิ่งเราเห็นเมืองนอกขี่จักรยานกันเป็นล่ำเป็นสัน เราก็อยากขี่บ้าง แล้วเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครอันแออัดนี้ เราจะทำได้อย่างไร
          ก่อนอื่น เรามาดูเมืองนอกกันก่อนว่าทำไมเขาถึงทำได้ เขาขี่จักรยานได้เพราะจักรยานเป็นวิถีชีวิต เขาขี่กันเป็นปกติสุข ไม่ได้ขี่เป็นแฟชั่น ไม่ใช่มีแต่จักรยานให้เช่า แต่จักรยานของส่วนตัว จักรยานบรรทุกเด็ก จักรยานเด็ก รวมทั้งจักรยานสามล้อบรรทุกเด็กก็สามารถนำมาใช้ได้ ชาวบ้านสามารถเช่าจักรยานขี่ไปตามจุดต่างๆ และเมื่อต้องการไปติดต่อธุระยังจุดอื่น ๆ อีก ก็สามารถเช่าจักรยานอีกคันหรือคันไหนที่ว่างขี่ไปได้อีก มีจุดคืนมากมาย ค่าใช้จ่ายเขาก็คิดเป็นรายวัน ราย 3 วัน หรือรายสัปดาห์ เป็นต้น
          ยิ่งกว่านั้น เขายังมีรถประจำทาง รถไฟฟ้าที่สามารถนำจักรยานฝากขึ้นไปด้วยโดยวางอยู่ด้านหน้าของรถประจำทาง แต่ในกรณีประเทศไทยคงเป็นไปได้ยาก เพราะชีวิตฉุกละหุกฉุกเฉินไปหมด เวลาที่จะค่อย ๆ เดินขึ้นรถก็ยังไม่มีเลย จะเอาจักรยานไปฝากวางไว้หน้ากระโปรงรถของรถประจำทางคงไม่มีเวลาแน่ ไหนยังต้องเสียเวลาเอาออกจากรถอีกต่างหาก
          ในเมืองนอกโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา อากาศค่อนข้างดี ไม่ร้อน และแทบไม่มีฝุ่น จึงขี่ได้โดยร่างกายไม่สกปรก ท่านเชื่อหรือไม่ว่าพลังงานในยุโรปและอเมริกานั้นมาจากพลังงานสะอาดคือนิวเคลียร์อยู่มากทีเดียว ถ้าใครที่กลัวนิวเคลียร์ คงไม่ต้องไปยุโรปและอเมริกากันแล้ว เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่มากมายหลายร้อยโรง แต่นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อากาศดี
          อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานคร นอกจากร้อน ฝุ่นมากแล้วยังกว้างขวางมาก จากตลาดบางกะปิ ไปตลาดบางแค มีระยะทางไกลถึง 30 กิโลเมตร จากสะพานใหม่ถึงสีลม มีระยะทาง 22 กิโลเมตร หรือจากตลาดของเขตหนองจอกไปถึงสีลม ก็มีระยะทางถึง 43 กิโลเมตร  ในต่างประเทศ เขาขี่จักรยานกันไม่เกิน 5 กิโลเมตร ตอนที่ผมยืมจักรยานเพื่อนขี่ไปอบรมที่นครแกรนด์เรพิดส์ เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ผมเห็นคนอื่น ๆ เขาเอาขึ้นรถประจำทางแล้วค่อยเอาลงมาขี่ตอนถึงใกล้ๆ ที่ทำงานด้วยซ้ำ เหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำกรุงเทพมหานครเป็นเมืองจักรยาน
          แต่ท่านเชื่อไหมการแปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานทำได้ทันที คุ้มค่า มีความเป็นไปได้ทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง เริ่มต้นเพียงทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลาย และสนับสนุนการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้
          หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ถ้าซื้อมาคัน ละ 3,000 บาท (ราคาซื้อเป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใด ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น
          ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ  17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน
          หากพิจารณาถึงผลดีด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกาย ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก แนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ หากขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญแก่การสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้ โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินเองเลย
          เราไม่อาจให้ขี่กันได้ทั่วกรุงเทพมหานครหรือไปตัวเมืองนนทบุรี หรือปากน้ำ เราต้องรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ใช้รถจักรยานเช่า ถ้าคนจำนวนมากขี่จักรยาน เลนจักรยานก็ไม่ต้องมี แต่ระยะแรกต้องมีอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก และช่วยดูแลระวังอุบัติเหตุ
          อันที่จริงกรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา ผมไปขี่จักรยานต่างประเทศ หนักใจเรื่องเนินสูงเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังต้องแบ่งส่วนข้างถนน กั้นเขตให้ดี เพื่อเป็นทางจักรยานที่ปลอดภัย ห้ามจอดรถยนต์ในทางจักรยานอย่างเด็ดขาด ถ้าเราจะขี่จักรยานไปทำงานในเมืองทุกวัน เราก็ควรมีชุดที่ปกคลุมร่างกายให้ดี แล้วค่อยไปเปลี่ยนชุด อาบน้ำที่ทำงาน หรือจัดสถานที่อาบน้ำให้ผู้ขี่จักรยานด้วยเลย
          ถ้าเรารณรงค์ให้เขตบางรัก สาทร ปทุมวัน ราชเทวี คลองเตย และวัฒนาเป็นเขตส่งเสริมการใช้จักรยาน  การใช้จักรยานก็จะยิ่งเป็นจริงเพราะระยะทางแต่ละจุดไม่ไกลเกินไป ยิ่งเราส่งเสริมให้คนใช้จักรยานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคนขี่มาก ในเวลาไม่ช้าจะมีจักรยานในเขตใจกลางเมืองทั้ง 6 เขตนี้มากกว่ารถจักรยานหรือรถอื่น ๆ เสียอีก
          ยิ่งหากเรากระตุ้นด้วยการขอความร่วมมือจากดารา 'เซเลป' ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฯลฯ ออกมาช่วยกันขี่จักรยานจากอาคารชุดหรือบ้านอยู่อาศัยใจกลางเมืองไปทำงานด้วยแล้ว จะยิ่งกระตุ้นให้คนขี่จักรยานมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเสริมด้วยการสร้างอาคารจอดรถในเขตรอบนอกเพื่อส่งเสริมให้คนจอดรถไว้นอกเมือง แล้วนั่งรถไฟฟ้าและเช่าจักรยานขี่ในเมืองมากยิ่ง และเมื่อโครงการสำเร็จ เราก็จะสามารถขยายเขตขี่จักรยานครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้นอีก
          สุดท้ายผมขอฝากโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันแรกไว้ด้วยครับ เฉกเช่นในนานาอารยประเทศยุคใหม่ การใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและเสียง ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร ผมจึงอยากรณรงค์ส่งเสริมการซื้อจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันแรกเพื่อขี่ไปทำงาน โดยมีราคาถูก ถูกกว่ารถจักรยานคันเท่ๆ ของคนชอบจักรยานเสียอีก ไม่เปลืองที่จอดรถ และปลอดภัยด้วย
          คนเมืองควรทำเมืองให้สะอาดปลอดมลพิษด้วยสองมือและสองขาของเราเอง ด้วยการใช้จักรยานแทนรถยนต์ ง่าย ๆ ทำได้ หากหัวส่าย หางก็กระดิกแน่นอน

ภาพที่ 1: ถนนจะมีทางคนเดิน/จักรยานวิ่ง (ฮาร์ตฟอร์ด รัฐคอนเนคติกัต)

ภาพที่ 2: เราสามารถเช่าจักรยานขี่ท่องไปทั่วเมือง(นครโตรอนโต แคนาดา)

ภาพที่ 3: จักรยานเช่าได้ด้วยบัตรเครดิตหลากหลาย (กรุงเวียนนา ออสเตรีย)

ภาพที่ 4: อากาศดี ใส่สูทก็ยังขี่จักรยานได้ (นครแกรนเรพิดส์ รัฐมิชิแกน)

ภาพที่ 5: การขี่จักรยานเป็นวิถีชีวิตปกติในทุกนครในญี่ปุ่น (กรุงโตเกียว)

ภาพที่ 6: จีนก็หันกลับมาใช้จักรยานและจักรยานยนต์ไฟฟ้า (กรุงปักกิ่ง)

ภาพที่ 7: ผมเป็นนักท่องเที่ยวแต่ชาวบ้านก็เช่าขี่ไปทำงาน (กรุงวอชิงตันดีซี)

ภาพที่ 8: ทั่วยุโรปจักรยานเด็ก/สามล้อเต็มไปหมด (กรุงโคเปนเฮเกน)


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved