ขนาดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยคือ 5.7% ของ GDP
  AREA แถลง ฉบับที่ 62/2567: วันอังคารที่ 23 มกราคม 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

             หลายท่านอาจสงสัยว่าขนาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละปี มีค่าเท่ากับเท่าไหร่ของขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ Gross Domestic Products (GDP) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ขอเรียนให้ทราบว่า

            1. จากการประมาณการของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยประมวลจากตัวเลขล่าสุดคาดว่าขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติตามราคาตลาดจะเป็นเงิน 18,200,000 ล้านบาท

            2. ในขณะเดียวกันจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยถึงเดือนตุลาคม 2566 และคาดการณ์ถึงสิ้นปี 2566 คาดว่ามูลค่าการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศในปี 2566 จะเป็นเงินประมาณ 1,039,333 ล้านบาท ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าขนาดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยเท่ากับ 5.7% ของ GDP

            3. ส่วนการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ทั่วประเทศในปี 2566 ทั้งที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์อื่นทั่วประเทศ น่าจะเป็นเงิน 1,045,790 ล้านบาท แสดงว่าการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ มีสัดส่วนเท่ากับ 5.7% ของ GDP เช่นกัน

            จะเห็นได้ว่าอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนในตลาดเพียงประมาณ 1/18 ของ GDP ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก เมื่อเทียบกับภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย  การส่งเสริมให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง จะเป็นเรื่องดี แต่การส่งเสริมให้มีการซื้อมากเกินไป จะกลายเป็นการกระตุ้นการเก็งกำไรจนอาจทำให้ตลาดเติบโตเกินความเป็นจริง และอาจทำให้เสื่อมทรุดลงในที่สุดเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน

            รัฐบาลจึงพึงทบทวนให้หนักต่อการคิดกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลร้ายคือ

            1. ผู้ซื้อบ้านที่ยังไม่พร้อมอาจไม่ได้ประโยชน์โดยตรง เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชน

            2. อาจทำให้สถาบันการเงินอำนวยสินเชื่อมากจนเกิดความเสียหายได้

            3. ทำให้บริษัทพัฒนาที่ดินต้องพัฒนาสินค้ามากเกินความจำเป็น เพราะมีอุปสงค์เทียม

            4. อาจทำให้รุกที่ดินเกษตรกรรมชานเมืองมากยิ่งๆ ขึ้นในขณะที่กรุงเทพมหานครยังไม่มีผังเมืองใหม่มา 7 ปีแล้ว เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น

            สิ่งที่รัฐบาลพึงส่งเสริมควรเป็น

            1. การบังคับใช้ พรบ.ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาอย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคว่าเงินดาวน์จะไม่ถูกนำไปใช้ผิดประเภทและไม่สูญไปเมื่อโครงการไม่สามารถพัฒนาจนส่งมอบได้ เมื่อผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ก็ย่อมจะมาซื้อบ้านมากขึ้นด้วยความมั่นใจ ตลาดก็จะดีขึ้นตามลำดับ

            2. กระตุ้นให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะถ้าลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เพียง 1% จะส่งผลให้เงินผ่อนชำระลดลงถึงประมาณ 8% เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด

 

อ่าน 1,648 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved