“สิทธิชุมชน” สิ่งเหนี่ยวรั้งความเจริญชาติ
  AREA แถลง ฉบับที่ 283/2567: วันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ประเทศจะเจริญได้ เราต้องยกเลิก “สิทธิชุมชน” ซึ่งเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งและถ่วงความเจริญของประเทศชาติ แต่กลับเป็นแนวคิดที่สุดสวยงามสำหรับพวกเพ้อฝันบางกลุ่ม ที่เจือเข้ามาเพื่อเบื่อเมาสังคมไทยโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ดูอย่างการพัฒนาของจีน ถ้าติดซากเดน “สิทธิชุมชน” ป่านนี้คงยังล้าหลังอยู่

            ท่านที่ไปเที่ยวเมืองจีนบ่อยๆ โดยเฉพาะตอนนั่งรถผ่านชนบทอันไพศาล ลองสังเกตดูว่าท่านเห็นหมู่บ้านดั้งเดิมบ้างไหม มีเหมือนกัน แต่น้อยมาก เช่น หมู่บ้านไป๋สือโพ อำเภอเป่าเฟิง เมืองผิงติ่งซาน มณฑลเหอหนาน หรืออื่นๆ บางเมืองผมก็เคยไป มีแหล่งอาหารแปลกๆ เช่น เต้าหู้เหม็น ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงมีแทบไม่ถึง 0.01% ของหมู่บ้านต่างๆ ในชนบท ซึ่งเปลี่ยนรูปไปหมดแล้ว เมื่อ 20 ปีก่อน ผมไปเซี่ยงไฮ้ เขาบอกว่า ถ้าไม่ได้กลับบ้านสัก 6 เดือน อาจหาทางเข้าบ้านไม่เจอ เพราะมีการตัดถนน จัดรูปที่ดินใหม่กับขนานใหญ่ให้เหมาะสมกับชีวิตสมัยใหม่ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

            หมู่บ้านในชนบทส่วนใหญ่มีการรื้อร้างสร้างใหม่เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตใหม่ๆ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2566 ผมเดินทางไปหมู่บ้านปาหม่า สมญานาม “หมู่บ้านอายุยืน” หรือเป็น 1 ใน 5 หมู่บ้านอายุวัฒนะของโลก  แต่อาคารต่างๆ การจัดสรรที่ดินใหม่เพื่อการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เกิดขึ้น มีอาคารใหม่ๆ สร้างขึ้นมา ไม่ใช่หมู่บ้านแบบดั้งเดิมดังที่เรานึกฝัน  นี่คือความจำเป็นในการจัดรูปที่ดิน การจัดสรรที่ดินในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่ “จมปลัก” อยู่กับแบบเดิมๆ ที่เหลือไว้ส่วนน้อยนิดเพียงเพื่อการท่องเที่ยว

            คนหนุ่มสาวที่หวังดีต่อชาติจำนวนมาก ติดกับดักความคิด “สิทธิชุมชน” เช่น สิทธิของชาวกระเหรี่ยงบางกลอย (ที่อ้างว่าครองภูเขาเป็นลูกๆ มานาน) สิทธิของชาวกะเหรี่ยงเหมืองคลิตี้ (ที่การทำเหมืองทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป) ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน-ขุนศึก-ศักดินา ทุกวันนี้ผมอายุ 66 ปี ก็ยังยืนอยู่ข้างความถูกต้องของประชาชน และชิงชังการเอาเปรียบประชาชนคนเล็กคนน้อย

            แต่ถ้าคิดอีกที ปัญหาอาจสลับซับซ้อนกว่านั้น แต่เรามองแบบง่ายๆ ดาดๆ ไปหรือไม่ เช่น บางคนอ้างว่าเราไม่ควรเปิดเผยราคาและชื่อผู้ซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ เพราะถ้าโจรรู้ก็อาจถูกปล้นได้ แต่ในความเป็นจริง เราควรเปิดเผยให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาการฟอกเงิน ใครซื้อขายบ้านและที่ดินต้องจึงเปิดเผยให้คนรู้กันทั่ว (ปกติเพื่อนบ้านก็รู้อยู่แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน) และทำให้มีฐานข้อมูลในการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษีได้สอดคล้องกับความเป็นจริง  ส่วนหากใครจะปล้นใคร ก็ต้องเพิ่มความเข้มแข็งของตำรวจ ไม่ใช่ไพล่ไปสร้างความเพี้ยนในอีกระบบหนึ่ง

            อย่างกรณีข้อเรียกร้องของชาวกระเหรี่ยงที่ประสงค์จะทำไร่เลื่อนลอย 36 ครอบครัวๆ ละประมาณ 150 ไร่ต่อปี (รวม 5,400 ไร่ และต้องหมุนเวียน กลับมาทำกินพื้นที่เดิมทุกๆ 10 ปี) เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เท่ากับเป็นการสร้างกฎหมู่โดยอภิสิทธิชนส่วนน้อย และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่คนอื่น  ปกติชาวบ้านทั่วไปได้ที่ดินครอบครัวละประมาณ 15 ไร่เท่านั้น ที่ดินนั้นเป็นของประชาชนทั่วไปทุกคนโดย ไม่ใช่ของใครที่อยู่ใกล้ทรัพยากรแล้วมาอ้างเป็นของตนเองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ที่ผ่านมาคนเหล่านี้เอาเปรียบสังคมมามากพอแล้ว ถือว่าได้กำไรชีวิตไปแล้ว

            ในจีนมีการ “ถอนรากถอนโคน” (Uproot) ชาวเขาเผายี (Yi) หรือลีซอ จีนนำชาวเขาจาก 38 หมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขาแถวยูนานมาอยู่รวมกันในเมืองเดียว ไม่ใช่ให้พวกเขาอยู่บนภูเขาเช่นเดิม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางการเมืองโดยการทำให้เป็นคนจีน ชาวเขาเหล่านี้ได้รับการจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านให้อย่างเรียบร้อย และชาวบ้านได้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงเป็นของตนเอง

            ถ้าคิดให้ลึกอย่างกรณีเหมืองคลิตี้ นับเป็นความสูญเสียของชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีสารตะกั่วรั่วไหลจากโรงงานที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2518 และชาวบ้านได้เรียกร้องมาโดยตลอด จนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 มีคำพิพากษาศาลฏีกาให้กรรมการของบริษัทเหมืองแร่ที่เข้ามาก่อความเสียหายต้องรับผิดชอบเยียวยาและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ถูกปนเปื้อนด้วยสารตะกั่วในระดับสูง กรณีนี้ถือได้ว่าโรงงานละเมิดต่อประชาชน ทั้งนี้คงเป็นเพราะรัฐที่ไม่รอบรู้ อ่อนแอและโกงกิน จึงทำให้เกิดโรงงานแบบนี้ขึ้นโดยไม่ได้ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ  อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องทำเหมืองในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวม ก็อาจเจรจาย้ายชุมชนออกไปได้เช่นกัน

            ในประเทศมาเลเซีย มีการย้ายสวนยางพารา และชาวบ้านใกล้เคียงออกไปด้วยอำนาจการเวนคืน เพื่อนำที่ดินมาสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพื่อความเจริญของท้องถิ่น (ประชาชนจะได้มีงานทำที่มีรายได้และฐานะดีมากขึ้น) และประโยชน์ของประเทศโดยรวม เขาถือว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อนผลประโยชน์ของกลุ่มชน (ตามแบบฉบับกฎหมายอังกฤษ) ซึ่งอาจจะแตกต่างจากการถือประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเป็นที่ตั้ง (ตามแบบฉบับของกฎหมายฝรั่งเศส)

            กรณีจำเป็น ก็ต้องย้าย โดยประเทศไทยเคยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจเหมือนกัน แต่ปัจจุบันกลับถอยหลังเข้าคลอง เช่น

            1. กรณีเหมืองแม่เมาะ ลำปาง มักกล่าวอ้างว่า การย้ายชุมชนจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน แต่การค้นพบว่าบริเวณใต้ที่ตั้งอำเภอแม่เมาะเป็นแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่ ก็ได้โยกย้ายชาวบ้าน วัด โรงเรียนและอื่น ๆ ออกนอกพื้นที่ เพื่อขุดหาถ่านหินมาแล้วโดยตัวอำเภอใหม่ในปัจจุบันและประชาชนได้รับการโยกย้ายออกห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 15 กิโลเมตร

            2. การสร้างท่าเรือคลองเตย ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของเมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และยังมีวัดโบราณ 4 แห่งเมื่อ พ.ศ. 2480 ได้แก่ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดการสร้างวัดขึ้นใหม่ ได้รวมเอาวัดหน้าพระธาตุกับวัดทองเข้าด้วยกัน มาตั้งวัดใหม่ที่ริมถนนสุขุมวิทว่าวัดธาตุทอง ส่วนวัดเงินก็นำไปรวมกับวัดไผ่ล้อมและวัดโชติการาม (วัดพระยาไกร) กลายเป็นวัดไผ่เงินโชตนาราม ในปี พ.ศ. 2483

            3. การสร้างเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนเขาแหลม เขื่อนสิริกิติ์ ก็ปรากฏว่ามีชุมชนเดิมอยู่ ทำให้เห็นภาพของวัดจมอยู่ใต้น้ำมาแล้ว กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบ Unseen สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า หากมีความจำเป็นต้องรื้อย้ายชุมชนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก็ควรดำเนินการ

            พวก NGOs มักอ้างประชาชน แต่ในหลายนกรณีประชาชนเอาด้วย แต่พวกนี้กลับไม่ยอมให้เกิดการพัฒนา เช่น:

            1. เขื่อนแม่วงก์ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้สร้างแต่พวก NGOs กลับบอกว่าเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ทั้งที่เป็นชายขอบป่า และย้ายชาวบ้านออกมาเพื่อเตรียมสร้างแล้ว

            2. กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบเชิงลบ เข้าใจและยินดีให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสร้างโรงไฟฟ้า แต่พวก NGOs ไม่ยอม

            3. กระเช้าขึ้นภูกระดึง ประชาชนเกือบทั้งหมด (เกิน 90% ต้องการให้สร้าง) แต่ก็ไม่ได้สร้าง

            ถ้ามีความจำเป็นเพื่อชาติ ก็ควรมีการเวนคืนชุมชนท้องถิ่นทั้งหลาย แต่ปัญหาสำคัญของการเวนคืนก็คือการจ่ายค่าทดแทนที่มักจะ “ต่ำ-ช้า” คือ จ่ายต่ำๆ จ่ายช้าๆ  รัฐพึงจ่ายค่าทดแทนให้เป็นธรรม (ทั้งมูลค่าทรัพย์สินที่เสียไป ผลกระทบจากการสูญเสียทรัพย์สินนั้น เป็นต้น) เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

            โชคดีที่จีนไม่ยึดถือ สิทธิชุมชน อันจอมปลอม หาไม่ก็คงยังดักดานด้องพัฒนาต่อไป

 

ปล. แจกฟรีหนังสือ “สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ เพื่อชีวิตสัตว์ ป่าและมนุษย์” โปรดคลิก Link นี้เพื่อดาวน์โหลดหนังสือ 

https://bit.ly/3gTCD7i

 

 

อ่าน 786 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved