ดร.โสภณ เสนอยกเลิกบีอาร์ที
  AREA แถลง ฉบับที่ 462/2567: วันพฤหัสบดีที่ 06 มิถุนายน 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            ที่ผ่านมามีผู้เสนอให้เพิ่มสายรถบีอาร์ที และเสนอไปสร้างในต่างจังหวัด ดร.โสภณมองว่าเป็นการสร้างความหายนะแก่เมืองโดยตรง จึงเสนอให้ยกเลิก มาดูมุมมองที่น่าสนใจจากประสบการณ์ในต่างประเทศ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าถึงเวลายกเลิกรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ หรือ Bus Rapit Transit (BRT หรือรถบีอาร์ที) ได้แล้ว โดย ดร.โสภณ ได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศ โดยย้ำว่าควรยกเลิกได้แล้ว จะได้ไม่สร้างปัญหาบานปลายแก่เมือง

            จากประสบการณ์ที่ได้ไปทำงาน ณ เมืองหลวงของบีอาร์ทีคือกรุงจาการ์ตา (เพราะมีสายรถมากที่สุด) ที่ ดร.โสภณเคยไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย และโครงการของธนาคารโลกประจำกรุงจาการ์ตา การมีบีอาร์ที (ที่นั่นเรียก Buswayหรือ TransJakarta ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 มีระยะทางรวม 251.2 กิโลเมตร) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เข้าทำนอง “เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย” คือแทนที่จะลงทุนสร้างรถไฟฟ้าตั้งแต่แรก แต่กลับไปสร้างบีอาร์ทีแทน จนต่อมารัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว

            ส่วนที่แรกที่มีการสร้างบีอาร์ทีก็คือกรุงโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย โดยเขาเรียกว่า TransMilenio โดยมี 12 สาย รวม 114.4 กิโลเมตร  อย่างไรก็ตามที่นครเคอริชิบา (Curitiba) ประเทศบราซิลที่ ดร.โสภณ เคยมีโอกาสไปดูงานก็พบว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เนื่องจากในจำนวนประชากร 80% ของเมืองนี้ใช้รถบีอาร์ที แต่เป็นเพราะเมืองนี้เป็นเมืองที่มีรายได้ของประชากรไม่มากนัก ไม่สามารถสร้างรถไฟฟ้าได้ จึงจำเป็นต้องใช้รถบีอาร์ที

            สำหรับในกรณีกรุงเทพมหานครเคยมีข่าวจะเลิกรถบีอาร์ทีเพราะขาดทุนไปปีละ 200 ล้านแต่ภายหลังมีกระแสไม่ให้ยกเลิก โดยอาจมาจากการทำแบบสอบถามโดยคณะนักศึกษาให้กับหน่วยงานบางแห่ง ในครั้งนั้น ดร.โสภณซึ่งใช้บริการรถบีอาร์ทีเป็นประจำในช่วงนั้นได้ตอบคำถามด้วย แต่ตอบว่า “เห็นควรให้เลิก” ปรากฏว่ากลุ่มนักศึกษาที่ทำแบบสอบถามก็เลิกถามไปดื้อ ๆ คาดว่าคงอยากได้เฉพาะคนที่บอกให้มีอยู่ต่อไป!

            การที่ไปเที่ยวถามคนใช้บริการ ส่วนมากก็ต้องตอบว่าอยากให้อยู่ต่อเพราะตนเองใช้บริการประจำ แต่ถ้าหากทราบว่าที่ผ่านมาขาดทุนปีละ 200 ล้านบาท หากไม่ต้องการให้ขาดทุนสำหรับผู้ใช้สอยวันละ 20,000 คน ก็คงต้องขึ้นราคาอีกเที่ยวละ 27.4 บาท จากที่เก็บค่าโดยสารปัจจุบัน 5 บาท กลายเป็น 32.4 บาท หรือเผื่อค่าดำเนินการต่าง ๆ ก็ควรเก็บ 40 บาทตลอดสาย และเพื่อหาเงินชดเชยที่ขาดทุนไปแล้วนับพันล้าน ก็คงต้องขึ้นราคาอีกเที่ยวละ 20 บาท รวมเป็นเงิน 60 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการขึ้นราคาที่ประชาชนผู้ใช้บริการคงรับไม่ได้เพราะปัจจุบันราคาก็ขึ้นมาเป็น 15 บาท ซึ่งก็คงยังขาดทุนสะสมมหาศาล

            อันที่จริงควรเลิกบีอาร์ที แต่อาจเกรงใจพรรคการเมืองที่สร้างบีอาร์ทีนี้ขึ้น จะกลายเป็นการฟ้องว่าโครงการนี้ล้มเหลว ส่งผลกระทบทางการเมืองหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ สิ่งที่ควรทำก็คือการสร้างรถไฟฟ้าวิ่งแทนเพราะคลองตรงกลางถนนสามารถสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าได้โดยไม่กระทบต่อการจราจรในปัจจุบันมากนัก ทั้งนี้ต้องมีการแก้ผังเมืองให้สามารถก่อสร้างพื้นที่อาคารในอัตราส่วนได้ถึง 15-20 เท่าของพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio) เพื่อเพิ่มปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้า

            ส่วนในช่วงเฉพาะหน้า เส้นทาง BRT นี้ให้ใช้เป็นช่องจราจรพิเศษ เฉพาะช่วงเวลา 06.30-09.00 น. และช่วง 1630 - 19:00 น. เพื่อให้รถประจำทางวิ่งโดยเฉพาะ เพื่อการบริการแก่ประชาชน แต่นอกเหนือจากเวลานี้ ให้คืนพื้นที่จราจรให้กับรถอื่นๆ

            ที่ผ่านมามีผู้คัดค้านการเลิกบีอาร์ที โดยมีเหตุผลดังนี้:

            1. อยากให้ขยายเส้นทางบีอาร์ทีมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนใช้รถประจำทางมากขึ้น ข้อนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะทำให้ผิวการจราจรสูญหายไป 1 ช่องทางจราจรตลอดทั้งวัน ยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับการจราจรมากยิ่งขึ้น  ถ้าต้องการให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ก็ควรสร้างเป็นรถไฟฟ้าที่อาจเป็นแบบปกติหรือแบบมวลเบามากกว่า

            2. บ้างก็บอกว่า “คนใช้ชอบ คนไม่ใช้ก็จะให้เลิก” ข้อนี้ต้องประเมินจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งมีไม่มากนักและมีในชั่วโมงเร่งด่วนเท่านั้น จำนวนรถก็มีน้อย (ถ้ามียิ่งมากก็คงยิ่งขาดทุน)

            3. ราคาถูก แต่ถ้ารวมต้นทุนอื่นๆ แล้วค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายนับว่าขาดทุนเป็นอย่างมาก ถ้าประเมินจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงและตระหนักถึงการขาดทุนมหาศาลปีละ 200 ล้านในอดีต ก็ควรจะเลิกได้แล้ว

            4. บนถนนที่มีระบบขนส่งมวลชนแบบราง เช่น บีทีเอส รถยนต์ก็ยังติดเหมือนกัน ข้อนี้ต้องมองในมุมกลับว่าหากถนนเหล่านั้น เช่น สีลม สุขุมวิท หากไม่มีระบบรถไฟฟ้า ก็คงกึ่ง “จลาจล” เข้าไปแล้ว การมีระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐาน (รถไฟฟ้าใต้ดินหรือบนดินแบบปกติหรือรางเบา) ย่อมทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น

สร้างบนน้ำได้

            5. แม้ยกเลิกรถบีอาร์ทีและได้ผิวจราจรเพิ่มขึ้นอีก 1 ช่องทาง รถก็ยังติดอยู่ดี ข้อนี้เราพึงมองว่าการเพิ่มช่องทางจราจรจาก 3 เป็น 4 ช่องทาง ทำให้พื้นที่การจราจรเพิ่มขึ้นถึง 33.3% ย่อมทำให้การไหลเวียนสะดวกยิ่งขึ้น ยิ่งในกรณีออกนอกเมืองในช่วงเย็นและค่ำ ยิ่งทำให้เกิดการระบายการจราจรได้ดีกว่านี้หากยกเลิกบีอาร์ทีเสีย

            อันที่จริงการสร้างรถไฟฟ้าสามารถทำได้ทันที ด้วยการใช้คลองช่องนนทรีที่ตั้งอยู่ตรงกลาง โดยไม่รบกวนผิวการจราจร ทั้งนี้ควรจะสร้างจากสถานีช่องนนทรีที่บีทีเอสตัดผ่านไป หรืออาจขยายไปถึงหัวถนนสาทรช่วงที่ตัดกับถนนพระรามที่ 4 เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที และวิ่งไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปจนถึงถนนพระรามที่ 3 และสร้างข้าม หรือมุดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงเส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ท่าพระไปได้เลย

            ส่วนที่มีบางส่วนเป็นห่วงว่าจะทับซ้อนกับรถไฟฟ้าสายสีเทา ซึ่งยังไม่มีอนาคตที่แน่นอน ก็อาจปรับรถไฟฟ้าสายสีเทาบางส่วนได้ เช่น อาจเริ่มจากสถานีคลองสี่ สายไหม จตุโชติ เทพรักษ์ ร่วมมิตรพัฒนา วัชรพล ก็อาจเริ่มจาก;วัชรพล-อยู่เย็น ตรงถนนรามอินทรา แล้วมาตามประดิษฐ์มนูธรรม 27 ประดิษฐ์มนูธรรม 25 โยธินพัฒนา ประดิษฐ์มนูธรรม 15 สังคมสงเคราะห์ ลาดพร้าว 71 ศรีวรา ศูนย์แพทย์พัฒนา วัดพระราม 9 เพชรบุรี 47 แจ่มจันทร์ ทองหล่อ 10 ทองหล่อ พระโขนง บ้านกล้วยใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกษมราษฎร์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วแทนที่จะไปทางพระรามที่ 3 นางลิ้นจี่ รัชดา-นราธิวาส และสิ้นสุดที่สะพานพระรามที 9 แทน ก็จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้เป็นอย่างยิ่ง

            การมีรถไฟฟ้าผ่านถนนพระรามที่ 3 และสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทาผ่านถึงสะพานพระรามที่ 9 ก็ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมหาศาลในพื้นที่ ศูนย์กลางธุรกิจการเงินของประเทศในย่านสีลม-สาทรก็สามารถขยายตัวมาทางด้านนี้ได้ และแต่เดิมก็ได้พยายามเปลี่ยนผังเมืองมาช่วงหนึ่ง โดยสังเกตได้ว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ย้ายสำนักงานใหญ่มาถนนพระรามที่ 3 ช่วงหนึ่ง ธนาคารกรุงเทพก็ตั้งใจจะสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ แต่ท้ายสุดก็ย้ายมาเพียงศูนย์คอมพิวเตอร์และอื่นๆ  ถ้ามีรถไฟฟ้าเช่นนี้ เมืองก็จะเจริญ และหากมีการปรับระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ กรุงเทพมหานครก็จะได้ภาษีมาพัฒนาท้องถิ่นได้อีกมาก

            รื้อรถบีอาร์ทีแล้วสร้างรถไฟฟ้า (มาตรฐานหรือมวลเบา) ด่วน!

อ่าน 1,120 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved