อ่าน 2,187 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 35/2558: วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558
ประเทศถูกฉุดรั้งเพราะเอ็นจีโอ ต้องระวัง!

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          วันนี้ผมขอพูดถึงบทบาทด้านลบของเอ็นจีโอ หรือกลุ่มองค์กรเอกชนหรือ (Non-governmental Organization: NGO) ซึ่งอาจเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีตัวตนชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อมหรืออื่นใด แต่ก็ใช่ว่าเอ็นจีโอจะแย่ไปซะทั้งหมดนะครับ ผมหมายเฉพาะถึงเอ็นจีโอที่มีบทบาทเชิงลบที่ทำลายการพัฒนาเมือง การพัฒนาประเทศ และประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

กรุงเทพฯ เกือบเป็นนครโสเภณี
          หลายท่านยังคงจำได้ว่า Dictionary Longman เมื่อปี 2536 {1} ที่เขานิยามว่ากรุงเทพมหานครคือนครแห่งโสเภณี ในขณะนั้นประเทศไทยประท้วงกันยกใหญ่ ทาง Longman ก็ออกมาบอกว่าได้ข้อมูลมาจากเอ็นจีโอ แต่สุดท้ายเขาก็ยินดีที่จะแก้ไขนิยามกรุงเทพมหานครเสียใหม่ นี่เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่เราต้องใส่ใจการทำงานต่าง ๆ ของเอ็นจีโอว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่
          พวกเอ็นจีโอ (เฉพาะที่ไม่ดี) ทำงานอะไร ก็ชอบทำให้ดูเป็นเรื่องใหญ่เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคม ตัวเองจะได้เด่นดังไปด้วย อาจบอกโสเภณีมีเป็นล้าน โสเภณีเด็กมีเป็นแสน ขอทานมีเป็นหมื่น พวกนี้ทำดีไปมา ก็ได้เงินใช้ ขอทุนจากโน่นนี่ และสุดท้ายก็จบลงตรงการเมือง ได้เป็น ส.ส. ส.ว. โดยเฉพาะในระบบสรรหาแต่งตั้ง พวกนี้จะชอบเป็นพิเศษ

เกือบทำให้คนกรุงเสียโอกาส
          ผมนึกไปนึกมาจึงทำให้อดเสียวสันหลังไม่ได้ว่า หากเมื่อ 20 ปีก่อนพวกเอ็นจีโอ กล้าแข็งเช่นทุกวันนี้ ป่านนี้รึคงไม่ได้สร้างทางด่วนขั้นที่ 2 ที่คร่อมคลองประปา สมัยนั้นพวกเอ็นจีโอโกหกว่า หากสร้างทางด่วนคร่อมคลองประปา จะทำให้สารพิษตกลงไปในคลอง ทำให้คนกรุงไม่แข็ง-แรง แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้เรากลับยังสบายดีกัน แต่ถ้าวันนี้ยังไม่มีทางด่วนเส้นนี้ และพวกเขามาโพนทะนายกใหญ่ เชื่อว่าคงไม่ได้สร้างเป็นแน่
          สะพานพระรามที่ 8 ก็เป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่ง สมัยที่จะสร้างพวกเอ็นจีโอ (อย่าลืมนะครับ เฉพาะที่ไม่ดี) ร้องแรกแหกกระเชอกันใหญ่ อ้างว่าเป็นการทำลายโบราณสถาน ทั้งที่สะพานดังกล่าวแค่คร่อมไว้ ดีซะอีกที่ได้บังแดดบังฝนได้บ้าง อ้างชาวบ้านตามริมถนนจะถูกเวนคืน ตกลงเราเลยได้สะพานเล็ก ๆ แคบ ๆ ใช้งานไม่ได้เต็มที่เพราะพวกนี้นี่เอง นี่ถ้าไม่ใช่โครงการในพระราชดำริ ป่านนี้ก็คงไม่ได้สร้างเพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยอย่างแน่นอน แม้แต่สะพานพระปิ่นเกล้า ก็คงไม่ได้สร้าง เพราะถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงต้องสงวนไว้รักษาความเป็นไทย ๆ ไว้ ห้ามสร้างสะพานอย่างแน่นอน ชาวธนบุรีคงได้สะอื้นไห้ หากเอ็นจีโอเฟื่องในสมัยก่อน

ชอบตีความแบบตีขลุม
          เอ็นจีโอ (เฉพาะที่ไม่ดี) ชอบตีความตีขลุมเข้าข้างตนเอง เช่น ในกรณีการเวนคืน ก็ชอบอ้างแต่สิทธิชุมชน ถ้าจะเวนคืนแล้วไปถามแต่ผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน ก็คงไม่ต้องทำอะไรกัน อย่างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในกรุงปารีส กรุงลอนดอน กรุงโตเกียว มีทุกระยะ 400-500 เมตร ในกรุงโซลมีทุกระยะ 1 กิโลเมตร แต่ไทยมีในทุกระยะ 2 กิโลเมตร ยิ่งถ้าเฉลี่ยออกไปนอกเมือง ต้องทุก 3 กิโลเมตร จึงจะมีสะพาน  ชาวบ้านชาวช่องลำบากในการเดินทางข้ามแม่น้ำทุกเช้าเย็น เผาผลาญน้ำมัน เพิ่มโลกร้อน กลับไม่แยแส
          ในสมัยก่อนในการเวนคืน แม้แต่เจดีย์ วัด ก็ยังต้องย้ายเพราะหากตัดถนนโค้งไปมา ก็อาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมา ในสมัยที่มีแผนการก่อสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานกรุงธนบุรีนั้น แม้แต่วังสุโขทัย ก็ยังร่นกำแพงวังเข้าไปเลย จนต่อเมื่อเลิกแนวคิดสร้างสะพานดังกล่าว กำแพงวังจึงค่อยก่อไว้ดังเดิม ดูอย่างทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ผ่านใจกลางเมือง ถนนรัชดาภิเษกที่ผ่านย่านคนรวย ๆ ของถนนสุขุมวิท ทุกคนก็ต้องไปเพื่อความเจริญของประเทศ ตราบเท่าที่รัฐบาลจ่ายค่าทดแทนได้สมเหตุสมผลจริง ๆ

เขื่อนต่างๆ คงไม่ได้สร้าง
          ถ้าวันนี้เราคิดจะสร้างเขื่อนภูมิพล ก็คงถูกพวกเอ็นจีโอค้านแหลก ไม่ต้องสร้างกันพอดี แต่เราจะเห็นได้ว่า เขื่อนภูมิพลที่มีอายุ 50 ปีแล้ว กลับสร้างคุณูปการมหาศาลต่อประเทศชาติ และยังเป็นที่เก็บน้ำถาวร อยู่ได้อีกตราบนานเท่านาน ในการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ปรากฏว่าแม้แต่ชุมชน และวัดก็ยังต้องย้ายออก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีข่าวคราวที่โบสถ์โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านกลับไปเยี่ยมชมกันใหญ่ ที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ก็เช่นกัน มีสถานที่ท่องเที่ยวคือโบสถ์ของหลวงพ่ออุตตมะที่จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเป็นครั้งคราว กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Unseen Thailand ไปเลยทีเดียว
          ถ้าเป็นสมัยนี้ พวกเอ็นจีโอ (เฉพาะที่ไม่ดี) ก็คงอ้างส่งเดชว่า ย้ายชาวบ้านไม่ได้ วัฒนธรรมจะสูญเสียไปกับการย้าย กระทบกระเทือนจิตใจ คงเข้าทำนอง "เจ้าคุณปู่สั่งไว้ เกิดที่ไหน ขอให้ตายที่นั่น" อะไรทำนองนี้  แต่ถ้าเราฉุกคิดกัน จะพบว่า แม้แต่คนจีนที่อพยพไปทั่วโลก วัฒนธรรมจีนก็ยังได้รับการรักษาไว้ทั่วโลกอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้แต่โบสถ์ใหม่ของหลวงพ่ออุตตมะ ก็สวยสดงดงาม วัฒนธรรมของประชาชนก็ยังคงอยู่ ไม่ได้จมไปกับน้ำตามที่พวกเอ็นจีโอชอบอ้างแต่อย่างใด
          อย่างเขื่อนรัชชประภา ที่สร้างกันขึ้นมาจนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ 'กุ้ยหลิน' เมืองไทย พวกเอ็นจีโอ ก็มักอ้างว่าทำให้สัตว์สูญพันธุ์ แต่แท้ที่จริงแล้ว กลับปรากฏว่า สัตว์ป่าหายากกลับชุกชุมมากยิ่งขึ้น ป่าไม้ก็อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพราะการมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญ ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็ได้ประโยชน์จากเขื่อนนี้ ในด้านการไล่น้ำเค็ม การประมง การประปา การไฟฟ้า การชลประทาน ฯลฯ ถ้าไม่มีเขื่อนรัชชประภา ป่านนี้ป่าแถบนั้นคงจะเหี้ยนเตียนไปหมดเพราะการบุกรุกทำลายป่านั่นเอง (http://goo.gl/gIe2p8)

ชอบอ้างชาวบ้านส่งเดช
          เอ็นจีโอ (เฉพาะที่ไม่ดี) ชอบอ้างชาวบ้าน แต่มักเป็นการอ้างส่งเดช เช่น กรณีมาบตาพุด ก็อ้างว่าชาวบ้านไม่ต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวออกไป ทั้งที่ผมเองก็เคยสำรวจไว้ชัดเจนว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่หนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม และเห็นความจำเป็นที่ต้องให้อุตสาหกรรมขยายตัว ชาวบ้านเองก็ไม่ต้องการอยู่ใกล้ ๆ นิคมอุตสาหกรรม หากย้ายออกไปอีกนับสิบกิโลเมตร ก็ยังเข้ามาทำงานได้ไม่ยาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินดีรับค่าเวนคืนหากจ่ายอย่างเหมาะสม (http://goo.gl/P2Nkh2)
          อย่างกรณีกระเช้าขึ้นภูกระดึง แรก ๆ เอ็นจีโอก็ปลุกปั่นชาวบ้านไม่ให้ก่อสร้าง กระแสช่วงแรกก็ปรากฏว่าชาวบ้านไม่เอากระเช้า แต่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านต้องการกระเช้า แต่กลายเป็นว่าเอ็นจีโอไม่ต้องการ การมีกระเช้า ทำให้คนมาท่องเที่ยวได้มากขึ้น ประชาชนก็มีรายได้สูงขึ้น พวกเขาก็จะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนมาท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะธรรมชาติคือ "หม้อข้าว" ของพวกเขานั่นเอง
          อย่างกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น อาจมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่ต้องการให้มีการก่อสร้าง แต่ภาพที่เราเห็นกันทั่วไปก็คือ เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ไปหาของป่าออกมาวางขายแก่ผู้ที่ผ่านไปมา ที่สำคัญ หากสังเกตเสาบ้านจาก Google Street View จะฉงนเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมเสาบ้าน เป็นเสาไม้สักขนาดใหญ่กันทั้งนั้น แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีใครไปพิสูจน์ว่าท่านไปเลื่อยมาจากป่า หรือไปหาซื้อมาจากไหนกันอลังการเช่นนี้

สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ
          สังคมอาจไม่ทราบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ถึง 71% ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่บรรดาเอ็นจีโอไม่ต้องการให้สร้าง พวกนี้ถึงขนาดอ้างนงยูงที่แก่งลานนกยูง ซึ่งเป็นการ "แหกตา" เพราะก็เป็นนกยูงที่เพิ่งนำมาเลี้ยงไว้เมื่อ 5 ปีก่อนนี้เอง ไม่ใช่นกยูงธรรมชาติ เสือก็เช่นกัน ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าพบเสือในป่าแม่วงก์ แต่ความจริงเสืออยู่บนภูเขาสูง ไม่ใช่ที่ตั้งเขื่อนแม่วงก์แน่นอน จะสังเกตได้ว่าการโกหกสร้างภาพมีเป็นระยะๆ
          ความจริงคือจุดที่สร้างเขื่อนเป็นชายขอบป่า เสือคงไม่มา แต่ก็เคยมีการพบรอยเท้าเสือแต่อยู่ห่างไกลออกไป ที่สำคัญบริเวณนี้เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านและยังมีรีสอร์ตมากมาย มีจุดกางเตนท์ ที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียง 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก (แม่วงก์-คลองลาน) ขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เขตที่เล็กที่สุดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร เสือคงไปอยู่ในพื้นที่ 99.9% ของผืนป่าลึกมากกว่า
          อย่าลืมนะครับ การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสัตว์ป่า ป่าไม้และประชาชนคนเล็กคนน้อยให้มีน้ำเพื่อการชลประทาน แก้ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงน้ำท่วมภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เขื่อนแม่วงก์ยังช่วยผลิตไฟฟ้า ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมง ฯลฯ
          เอ็นจีโอดี ๆ ก็มีมากมายครับ แต่เราก็ช่วยกันเรียกร้องความโปร่งใสจากพวกเอ็นจีโอด้วย โดยเฉพาะประเด็นเงินบริจาคต่าง ๆ เช่น เดินรณรงค์รับเงินชาวบ้านแล้ว ได้เงินเท่าไหร่ ใช้ไปเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้คนเข้าใจว่าเอาเงินไปเข้ากระเป๋า รับเงินเขามาเคลื่อนไหวกีดขวางการพัฒนาเมือง การพัฒนาประเทศนั่นเอง

ถ้าเป็นวันนี้ทางด่วนคร่อมคลองประปา คงไม่ได้สร้าง

สะพานพระรามที่ 8 สร้างได้แคบ ใช้งานได้ไม่เต็มที่เพราะถูกต้าน

สะพานพระปิ่นเกล้าที่มีประโยชน์มหาศาล คงอดสร้างถ้าเอ็นจีโอต้าน

สังคมพึงฟังเสียงชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ต้องการเขื่อนแม่วงก์บ้าง


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved