อ่าน 1,980 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 36/2558: วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558
ควรเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เมื่อเร็ว ๆ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้จัดพิธีรับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ จากการจัดประกวดสุนทรพจน์เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในที่นี้จึงนำบทสุนทรพจน์ชนะเลิศระดับประชาชน ระดับนักศึกษาและระดับมัธยมศึกษามาเผยแพร่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้นะครับ

บทสุนทรพจน์ชนะเลิศระดับประชาชน โดย นายกำพล ชุ่มจันทร์
บทสุนทรพจน์ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”

          ท่านคณะกรรมการและผู้มีเกียรติทุกท่าน กระผม นายกำพล ชุ่มจันทร์ ครูโรงเรียนศรียาภัย จังหวัดชุมพร รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประกวดสุนทรพจน์ในหัวข้อ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”
          พ้นทิวาข้ามราตรีหมุนเวียนเปลี่ยนมาถึงพุทธศักราช ๒๕๕๗ นับเป็นกาลเวลาแห่งการพัฒนาทุก ๆ ด้านของบ้านเมือง เพื่อนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทย เราทุกคนรักและปรารถนาจะเห็นบ้านหลังใหญ่ที่ชื่อว่าประเทศไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น คนในบ้านหลังใหญ่นี้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะการสร้างชาติบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นบนพื้นฐานของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็น แรงขับเคลื่อนความมั่นคงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก้าวสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือประเทศชาติพัฒนา จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มุ่งหวังความเจริญของบ้านเมืองเป็นสำคัญ เราทุกคนจึงต้องร่วมกันทำให้ประชาชนอุดมด้วยจิตสำนึกแห่งการเป็นพลเมืองดี คือไม่เพิกเฉย ไม่ละเลยหน้าที่ที่รับผิดชอบ ในเรื่องการเสียภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง เพราะภาษีนี้จะช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย และพัฒนาชาติ
          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นประเด็นที่รอการอธิบายขยายความ เพื่อคลี่คลาย ความฉงน สู่ความเข้าใจที่ตรงกันของคนในสังคม ว่าแท้ที่จริงแล้วพระราชบัญญัติฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการถือครองทรัพย์สิน หรือจะเป็นช่องทางแห่งการโกงกินของนักการเมืองท้องถิ่น อย่างที่ประชาชนหวาดหวั่นกันในปัจจุบัน เราจึงต้องทำความเข้าใจเบื้องลึกตรึกตรองเบื้องหลังของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในฐานะเป็นเจ้าของภาษีโดยตรง
          ปัจจุบันคนไทยกลัวการเสียภาษีจริงหรือ ? นี่คือคำถามชวนคิดให้พิจารณาว่า แม้เป้าหมายของ การจัดเก็บภาษีจะเป็นการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของประเทศ เสริมสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชน แต่เหตุไฉนประชาชนจึงหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มิใช่เพียงแต่ชาวบ้านชาวนา แม้แต่เหล่าคหบดีเศรษฐีมีกิน ก็ยังไม่ยอมเสียภาษี นี่แสดงให้เห็นความผิดพลาดของระบบจัดเก็บภาษีของประเทศไทยที่อ่อนแอ เดิมทีประเทศไทยมีภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บภาษี จากฐานทรัพย์สินแบบเก่าและมีช่องโหว่ของกฎหมาย การจัดเก็บภาษีไม่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ แต่กลับขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ภาษีบำรุงท้องที่นั้นมีการยกเว้น หรือข้อลดหย่อนทางภาษีของบ้าน หรือที่ดินที่ใช้อยู่อาศัย ซึ่งถูกมองว่าเป็นโครงสร้างอัตราภาษีแบบถดถอย ด้วยข้อบกพร่องต่าง ๆ เหล่านี้ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม การปฏิรูประบบเศรษฐกิจในรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมุ่งเน้นไปที่การเสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยรัฐบาลที่นำโดยเหล่าทหารกล้า ผู้ไม่ยอมอ่อนข้อต่ออำนาจใหญ่ใด ๆ ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านการพิจารณา ในขณะที่หลายรัฐบาลในอดีตไม่สามารถดำเนินการได้ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เมื่อจะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันเศรษฐกิจเอกชนเป็นอย่างมาก นี่คือสัญญาณเริ่มต้นของการค้นพบความจริงที่ยืนหยัดชัดเจนว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”

เงินภาษีทุกบาทจากหยาดเหงื่อ หวังจุนเจือช่วยสร้างชาติสานสร้างฝัน
เงินทุกบาทจากประชาค่าอนันต์ หวังแบ่งปันพัฒนาไทยให้เจริญ

          บทร้อยกรองทำนองไทยบทนี้ถ่ายทอดจากความรู้สึกของกระผมที่เห็นคุณค่าของภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นเครื่องมือลดปัญหาข้อบกพร่องในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีบนฐานมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ จะเสียภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ ๐.๕ ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากใช้เป็นที่อยู่อาศัย เสียภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ ๐.๑ หากใช้ที่ดินเป็นที่พึ่งทำกินเพื่อการเกษตรกรรม เสียภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ ๐.๐๕ แต่หากเป็นที่ดินว่างเปล่าก็จัดเก็บในอัตราร้อยละ ๐.๕ ของมูลค่าสินทรัพย์ และหากไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกก็จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าทุก ๆ ๓ ปี แต่ไม่เกินร้อยละ ๒ ของมูลค่าที่ดิน
          นี่คือความจริงที่เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างรู้กันดี ขอเพียงเราทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ที่พึงกระทำคือการเสียภาษี ก็จะมีเครื่องประสานไมตรีที่สำคัญระหว่างประชาชนกับกลไกของรัฐ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดสร้างสังคมไทยให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กระผมขอเสนอแนวทางเพื่อการส่งเสริมการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยหลัก ๓ ป. ดังนี้
          ป. ประชาชนต้องตื่นตัว รับผิดชอบการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตนครอบครอง
          ป.โปร่งใส โดยผู้เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นธรรม ผู้มีอำนาจต้องบังคับใช้กฎหมาย และลงโทษผู้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อการเสียภาษี
          ป. ประชาธิปไตย เป็นเสาหลักวัฒนธรรมของสังคม คือการอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ
          รุ่งอรุณของทิวางดงามด้วยแสงขอบฟ้าสีทองฉันใด ความรุ่งเรืองของประเทศไทยย่อมงดงาม ด้วยเงินภาษีของคนในชาติฉันนั้น รัฐจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอันเป็นฐานรากของสังคมเป็นสำคัญ อันจะก่อประโยชน์ดังนี้
          ประการที่ ๑ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินโดยคิดจากมูลค่าที่ดิน สนับสนุนการใช้ประโยชน์ ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ
          ประการที่ ๒ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร
          ประการที่ ๓ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คนยากจนต้องมีที่ทำกินถิ่นอาศัยอย่างเท่าเทียม
          ประการที่ ๔ ส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน จากราชการส่วนกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการกระจายอำนาจทางปกครองและการคลัง เพื่อบริหารจัดการสาธารณะให้แก่คนในท้องถิ่นนั้น
          เมื่อท้องถิ่นพัฒนาย่อมนำพาสังคมสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ตามหลักวิถีประชาธิปไตย ดังนี้
ด้านคารวะธรรม คือการเคารพสิทธิของผู้อื่นเคารพกฎระเบียบของสังคม โดยการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง ไม่มุ่งหวังเอาแต่ประโยชน์เพื่อตนเอง
          ด้านปัญญาธรรม คือการปฏิบัติตามมติของเสียงส่วนมากและรับฟังเสียงส่วนน้อย ใช้วิจารณญาณพิจารณาเหตุผลด้วยใจเป็นธรรม รู้จักทำกินในถิ่นตนและดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ลำเอียง ไม่หลงผิด มีใจเป็นกลาง ปราศจากอคติ คิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
          ด้านสามัคคีธรรม คือการยอมรับกฎกติกาของสังคม รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีน้ำใจสร้างไมตรีต่อกัน สิ่งสำคัญคือการเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ หากเราทุกคนมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม สังคมจะน่าอยู่และเกิดประโยชน์มากขึ้น จะช่วยลดปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคม
          เมื่อท้องถิ่นพัฒนาประชาธิปไตย สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ชาติย่อมพัฒนาสู่เป้าหมายสำคัญสูงสุดจากประโยชน์ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุขในสังคมที่พอเพียง มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ มีเสรีภาพ และ ความเสมอภาค เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ทุกคนปรารถนา คือการได้รับบริการจากหน่วยงานของรัฐ และการบริหารที่เป็นธรรม
          ทุกท่านครับ “เงินของมหาเศรษฐีจะไม่มีความหมาย หากมันไม่ถูกนำมาใช้เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม” จากคาถาชีวิต ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) เป็นคติธรรมย้ำเตือนจิตให้คิดถึงการแบ่งปันเพื่อสังคม ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างย่อมมีหน้าที่เสียภาษีตามอัตราส่วนของประโยชน์ที่ได้รับ ด้านรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องรักษาผลประโยชน์อันมหาศาลนั้น และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศ ดาวดวงน้อยร้อยพันดวงยังโชติสว่างไสว ใจดวงน้อยร้อยพันใจหรือจะไม่ให้พลัง
มาเถิดครับ มาร่วมกันสร้างสำนึกตระหนักรู้หน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เงินทุกบาททุกสตางค์คือคลังของประเทศ มาร่วมเดินหน้าพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เพื่อผลประโยชน์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ และเพื่อความสุขของคนไทยทุกคน

เมื่อถึงกาลหมุนเวียนเปลี่ยนวันพรุ่ง ชาติเรืองรุ่งมุ่งส่งเสริมเสียภาษี
ทุกท้องถิ่น(ประชา)ธิปไตยไทยมั่งมี สุขทวีประเทืองไทยให้เจริญ


บทสุนทรพจน์ชนะเลิศระดับอุดมศึกษา โดย นายสุชาวุฒิ ธรรมวรพล
บทสุนทรพจน์ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”

          ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเคยประสบปัญหาการหาพื้นที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ต่าง ๆ ท่านคงเคยสงสัยว่าทำไมการหาพื้นที่เพียง 12 ตารางเมตรสำหรับจอดรถจึงเป็นเรื่องยากเย็นถึงเพียงนี้ ท่านจะประหลาดใจหรือไม่ครับถ้าผมบอกท่านว่าประเทศไทยของเรายังมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเพียงพอที่จะจอดรถได้มากกว่า 380 ล้านคัน ถ้าเราใช้ที่ดินกว่า 2.9 ล้านไร่*นี้ สำหรับการปลูกข้าวนาปี จะได้ผลผลิตกว่า 1,250,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่น 7 พันล้านบาทต่อปี พื้นที่รกร้างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการขาดประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรที่ดินอันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลจึงควรหามาตรการหรือเครื่องมือที่จะสร้างแรงจูงใจให้ใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นคำตอบหนึ่งครับ และภาษีนี้ยังจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย และพัฒนาประเทศชาติ อย่างที่บางท่านอาจคาดไม่ถึง

          หลาย ๆ ท่านอาจจะตั้งคำถามต่อไปว่า ในเมื่อปัจจุบันเรามีภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาอีก และภาษีใหม่นี้จะสร้างความแตกต่างได้มากดังที่ผมกล่าวอ้างไว้เชียวหรือ ท่านผู้มีเกียรติครับ ความจริงก็คือ โครงสร้างภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อบกพร่องอยู่มาก เป็นภาษีที่มีฐานการเก็บแคบ ไม่เป็นปัจจุบัน และมีการเก็บที่ซ้ำซ้อน จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ภาษีทั้งสองนี้จึงจะถูกยกเลิกเมื่อประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีโครงสร้างกลไกที่ดีกว่า โดยกลไกที่ว่าประกอบด้วยฟันเฟือง 3 ตัวที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ฟันเพืองทั้ง 3 ตัวมีบทบาทดังต่อไปนี้ครับ

           ฟันเฟืองที่ 1 กระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่รกร้างซึ่งเจ้าของที่ดินถือครองไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่ดินเหล่านี้จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของมูลค่าที่ดิน และจะถูกปรับเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าทุก ๆ 3 ปี โดยมีเพดานอยู่ที่ร้อยละ 2 ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจ้าของที่ดินใช้ที่ดินรกร้างของตนให้เกิดประโยชน์ก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำลงอย่างมาก ยิ่งถ้านำมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมก็จะเสียภาษีไม่เกินร้อยละ 0.05 ของมูลค่าที่ดินโดยไม่มีการปรับขึ้น หมายความว่าถ้าที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษีไม่เกิน 500 บาทต่อปีเท่านั้น เช่นนี้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินหาทางใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนและลดการเก็งกำไรที่ดิน ตัวอย่างมีให้เห็นในประเทศเกาหลีใต้ครับ เนื่องจากภูมิประเทศของประเทศเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทำให้เหลือพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์น้อยมาก รัฐบาลจึงใช้ภาษีนี้ลดปัญหาการถือครองที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ที่ดินเหล่านั้นจึงถูกนำมาใช้สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างผลผลิต และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

          ฟันเพืองที่ 2 ส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะต่าง ๆ โดยรายได้ส่วนใหญ่ รัฐบาลกลางจัดสรรมาให้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ครับ เพราะรายได้ทั้งหมดจะใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภค การศึกษา การคมนาคม สถานพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ของท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในอนาคตท้องถิ่นต่าง ๆ ก็จะพัฒนา คุณภาพชีวิตและฐานะของประชาชนก็จะดียิ่งขึ้น มากไปกว่านั้น มูลค่าทรัพย์สินก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามความเจริญของท้องถิ่นนั้น ๆ เท่ากับเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จ่ายภาษีนั่นเอง จะเรียกว่าเป็นการคืนกำไรให้แก่ผู้เสียภาษีก็ไม่ผิดแต่ประการใด

          ฟันเฟืองที่ 3 ส่งเสริมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยนอกเหนือจากการเลือกตั้งแล้วความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยังมีองค์ประกอบสำคัญคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานและช่วยกันตรวจสอบการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ให้ปราศจากการทุจริตด้วย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ได้ครับ เพราะเงินภาษีนี้มาจากคนในท้องถิ่นโดยตรง และจะใช้พัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นภาษีของคนในท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่น และเพื่อคนในท้องถิ่นโดยแท้จริง ฟันเฟืองนี้ส่งเสริมให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของภาษี ต้องการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นว่าจะพัฒนาท้องถิ่นของตนไปในทิศทางใดอย่างไร และพร้อมจะสอดส่องการทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต นับเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกแห่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยระดับชาติในภายหน้า

          ท่านผู้มีเกียรติครับ เมื่อรัฐบาลเริ่มนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ฟันเพืองทั้ง 3 ตัวนี้จะร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการใช้ทรัพยากรที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ท้องถิ่นจะมีรายได้สำหรับพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และตรวจสอบการบริหารราชการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ขอให้ทุกท่านอย่าเพิ่งมองในแง่ลบว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาระใหม่ แต่ขอให้ทำความรู้จักกับภาษีใหม่นี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อท่านจะได้เห็นพ้องว่าในระยะยาว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย และพัฒนาชาติไทยของเราให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน.


บทสุนทรพจน์ชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา โดยผลงานของ นางสาวศิริวรรณ สกัญญา
บทสุนทรพจน์ เรื่อง “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”

เรียน ท่านคณะกรรมการและท่านผู้มีเกียรติ ที่เคารพทุกท่าน
ดิฉัน นางสาว ศิริวรรณ สกัญญา โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ดิฉันมีความภาคภูมิใจมากค่ะ
ที่จะได้กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อเรื่อง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ
ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ทางสายใหม่
สร้างประชา ธิปไตย ในท้องถิ่น
สร้างความเป็นธรรม ผู้ถือครอง เจ้าของที่ดิน
พัฒนาท้องถิ่น พัฒนาชาติ พิลาสงาม

ท่านผู้มีเกียรติคะ
          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นนโยบายที่กระทรวงการคลัง กำลังดำเนินการตราเป็นพระราชบัญญัติกฎหมาย เพื่อนำมาใช้จัดเก็บภาษี แทนภาษีการถือครองทรัพย์สินในปัจจุบัน ที่จะยกเลิกไป ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ค่ะ เนื่องจาก กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ยังมีปัญหาหลายประการ และมีอัตราการเสียภาษีที่สูงมากเกินไปค่ะ
          การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีเจตนารมณ์ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีทุกคน อย่างเท่าเทียม ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมเสียภาษี เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และเกิดความเป็นประชาธิปไตย สร้างความเกรียงไกรให้ประเทศชาติค่ะ
          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากผู้มีอำนาจการจัดเก็บภาษี คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บได้ จะเป็นรายได้ของท้องถิ่น จึงจะทำให้ผู้เสียภาษี เกิดความตระหนักว่า ได้มีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตน เกิดความภาคภูมิใจ ไม่อยากจะให้เงินภาษีที่เสียไปนั้น สูญเปล่าไปกับการบริหารงานที่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะหากท้องถิ่นยิ่งพัฒนา มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วยค่ะ
          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พัฒนาประชาธิปไตย เมื่อผู้ถือครองที่ดินได้เสียภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง การจะเลือกตั้งผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตยให้เข้าไปดูแลผลประโยชน์ของท้องถิ่นนั้น ก็จะต้องเลือกคนดีที่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่รับสินบาทคาดสินบน และช่วยกันติดตามตรวจสอบการนำเงินภาษีไปใช้อย่างตรงเป้าหมาย จึงจะทำให้ประชาธิปไตยแบ่งบานค่ะ
          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พัฒนาชาติ ท่านผู้เกียรติคะ ประเทศชาติ ดุจดังต้นไม้ใหญ่ ที่มีรัฐบาลเป็นรากแก้ว ท้องถิ่นเป็นรากแขนง หากรากแก้ว รากแขนง มีความแข็งแกร่ง ได้รับการบำรุงรักษาจากเจ้าของ คือประชาชนอยู่เนืองนิตย์ ต้นไม้ใหญ่ฤาจะล้ม กลับจะแผ่กิ่งก้านสาขาอย่างสวยงามและมั่นคง
          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเสมือนเส้นทางที่สวยงาม นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ ได้อย่างยั่งยืน ท้องถิ่นจะพัฒนา ประชาธิปไตยจะก้าวไกล ชาติไทยจะมั่นคง เมื่อประชาชนเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างค่ะ


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved