อ่าน 3,529 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 38/2558: วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
สร้างโครงการแหลมผักเบี้ยเถอะ

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          โครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร - แหลมผักเบี้ย - ชะอำ) เป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อ 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ รัฐบาลควรนำมาพิจารณาก่อสร้าง

          โครงการนี้วางแผนไว้ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพราะที่ผ่านมาผลการศึกษาเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วพบว่าการจราจรและขนส่งระหว่างภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศไทยมี 2 เส้นทางหลักในการเดินทางได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) และทางหลวงหมายเลข 35 (พระรามที่ 2) โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง ก.ม. 136+500 วังมะนาว - เพชรบุรี เริ่มมีความไม่คล่องตัว ในปี 2547 มีปริมาณการจราจร 35,721 คันต่อวัน แต่จากการคาดการณ์ในอนาคต หากไม่มีโครงการก่อสร้างระบบขนส่งเพิ่มเติมแล้วปริมาณการจราจรปี 2550 จะมีปริมาณจราจร 36,467 คันต่อวัน และเพิ่มเป็น 62,338 คันต่อวันในปี 2560 และ สูงสุด 101,268 คันต่อวัน ในปี 2570
          เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรระหว่างภาคใต้และภาคต่างๆ ของประเทศในอนาคต จึงเกิดโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพื้นที่โดยรอบโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร — แหลมผักเบี้ย — ชะอำ) โดยเป็นโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) ขนาด 3 ช่องจราจร/ทิศทาง รวม 6 ช่องจราจร ความกว้างประมาณ 26 เมตร ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง
          ช่วงสำคัญคือช่วงอ่าวไทย โครงสร้างถนนเป็นรูปแบบของสะพานที่มีความกว้าง 25 เมตร ระยะห่างช่วงเสา 100 เมตร ผิวจราจรสูงจากระดับน้ำทะเลสูงสุด 17 เมตร ระยะทางประมาณ 47 ก.ม.ในระหว่างทางจะมีที่พักริมทางที่ ก.ม. 68 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นจุดพักรถ และเป็นจุดชมวิวที่ ก.ม. 70 จะมีช่วงสะพานกว้าง 125 เมตร และ 150 เมตร ช่วงละ 2 ช่อง และยกระดับสูงจากระดับน้ำสูงสุด 40 เมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่เข้าสู่ปากแม่น้ำแม่กลอง
          สะพานจะไปขึ้นฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมผักเบี้ยประมาณ 3 ก.ม. ที่บริเวณบ้านดอนมะขามช้าง ซึ่งจะเป็นทางยกระดับแบบเดียวกับโครงการที่ 1 เป็นระยะทาง 7 ก.ม. จุดสิ้นสุดของช่วงนี้จะมีศูนย์บริการทางหลวงที่จะตัดกับถนนเพชรบุรี - หาดเจ้าสำราญ (ทางหลวงหมายเลข 3117 ก.ม. 11+450) รวมระยะทางในช่วงนี้ทั้งสิ้นประมาณ 62 ก.ม. โดยใช้เงิน 6,400 ล้านบาท เพื่อการก่อสร้างเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร — แหลมผักเบี้ย — ชะอำ) ช่วงสะพานในทะเลในปี 2548
          ผลการศึกษาในขณะนั้นของ 4 มหาวิทยาลัยหลัก พบว่าโครงการนี้เป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายการจราจรของประเทศสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ภาคใต้ ดังนี้
          1. พัฒนาโครงข่ายการจราจรของประเทศ เนื่องจากโครงการฯ สามารถทำหน้าที่รับและกระจายปริมาณการจราจรที่จะเดินทางไปภาคใต้ และรองรับปริมาณการจราจรจากภาคใต้ที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          2. จากการศึกษาของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่าโครงการฯ จะมีประโยชน์ต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ โดยที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          3. โครงการฯ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การติดต่อกันทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
          4. การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ การคมนาคมขนส่งที่สะดวกจะเป็นปัจจัยหลักในการดึงดูด และจูงใจให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
          5. การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โครงการฯ จะสามารถเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ (โปรดดูรายละเอียดที่: www.ryt9.com/s/ryt9/162293)
          อย่างไรก็ตามโครงการนี้ได้รับการคัดค้านจากพวก NGOs เป็นอย่างมาก แต่ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการประเภทนี้มีมากมายที่พึงนำมาพิจารณา โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รวบรวมไว้ เพื่อนำเสนอเปรียบเทียบ ดังนี้:

1. สะพานเดอะเซเวนไมล์ (the Seven Mile Bridge) ณ มลรัฐฟลอริดา ซึ่งสร้างระหว่างปี 2521-2525
เชื่อมเกาะและพื้นที่ทางด้านใต้ของแหลมฟลอริดา และเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง True Lies (2537)

          2. สะพานชิงเตา-ไฮ่วาน สะพานชิงเต่า ไฮ่วาน(Qingdao Haiwan) ในเมืองชิงเตา รัฐชานตุง ซึ่งมีความยาวกว่า 42.5 กิโลเมตร โดยสะพานแห่งนี้ถือเป็นจุดเชื่อมระหว่างท่าเรือชิงเตาที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางภาคตะวันออกของจีน กับเมืองหวังเต่า สะพานแห่งนี้ สร้างด้วยงบประมาณ 5,500 ล้านดอลลาร์ ใช้ระยะเวลาการสร้างเพียง 4 ปี สามารถรองรับรถยนต์ได้เป็นจำนวน 30,000 คันต่อวัน และสามารถลดระยะทางการเดินทางระหว่างเมืองชิงเต่าและเมืองหวังเต่า เป็นระยะเวลา 20-30 นาที http://goo.gl/OmPkW

          นอกจากนี้ยังมีสะพานอื่น ๆ ในยุโรปและอเมริกา ที่สร้างลงทะเลและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังที่พวก NGOs กล่าวหาแต่อย่างใด หรือคุ้มค่าต่อการลงทุนนั่นเอง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved