อ่าน 1,376 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 53/2558: วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558
คิดใหม่: ค่ายทหาร สกายวอล์ก ไฟไหม้ตึกสูง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ไหนๆ ผมก็ได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องแนวทางการพัฒนาเมือง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ของเรา วันนี้ผมจึงขออนุญาตคิใหม่ในเรื่องค่ายทหาร และสกายวอล์กสักหน่อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ย้ายค่ายทหารอย่างสมเกียรติเถอะ
          ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดในค่ายทหารจากวัตถุระเบิดร้ายแรงหลายครั้งที่ผ่านมา ทั้งในเขตใจกลางกรุงเทพมหานคร และในเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาค การระเบิดเหล่านี้ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของทหาร ทางราชการและแม้แต่ลูกหลานของทหารหาญ ตลอดจนชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงเช่นกัน เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ
          อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ที่ตั้งของค่ายทหารต่าง ๆ ในเขตดุสิต พญาไท และเขตชั้นในอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ชั้นในที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น และการที่ค่ายทหารตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทำให้การเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ไม่สะดวก เป็นข้อจำกัดของทางราชการ เป็นเป้าในการโจมตีหากมีการก่อการร้าย ดังนั้น จึงควรพิจารณาที่จะย้ายค่ายทหารหรือสถานที่เก็บอาวุธหรือวัตถุระเบิดต่าง ๆ ออกไปนอกเมืองในพื้นที่ ๆ ห่างไกลจากชุมชนเมือง
          ยิ่งกว่านั้นหากสามารถที่จะนำพื้นที่ค่ายทหารใจกลางเมือง มาสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างเป็นศูนย์ธุรกิจใจกลางเมือง ศูนย์ประชุม ศูนย์การขนส่งคมนาคม ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ สมมติว่ามีที่ดินค่ายทหารต่าง ๆ 10,000 ไร่ หากนำมาพัฒนาได้สุทธิ 6,000 ไร่ หรือ 9.6 ล้านตารางเมตร หากสามารถสร้างได้ 10 เท่า ก็จะเป็นพื้นที่ก่อสร้าง 96 ล้านตารางเมตร หากพื้นที่ใช้สอยจริงเป็น 60% ของทั้งหมด ก็จะมีพื้นที่ใช้สอยถึง 57.6 ล้านตารางเมตร สร้างห้องชุดขนาด 50 ตารางเมตร ได้ถึง  1.152 ล้านหน่วยเลยทีเดียว
          อย่างไรก็ตามสิ่งที่พึงคำนึงถึงก็คือการย้ายส่วนราชการทหารออกนอกเมือง อาจทำให้บุตรหลานประสบปัญหาในการเดินทางไปเรียนหนังสือหรือสถานที่ทำงานของบุตรหลานที่อาศัยอยู่ในค่ายทหาร ข้อนี้อาจต้องอำนวยความสะดวกอย่างสมเกียรติให้ออกไปก่อสร้างสถานศึกษาในพื้นที่ที่ย้ายออกไปนอกเมือง หรืออาจสร้างที่อยู่อาศัยทดแทนในกรณีที่ครอบครัวกำลังพลไม่ต้องการย้ายไปอยู่ค่ายทหารในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งจะทำให้การย้ายส่วนราชการทหารมีความเป็นได้มากขึ้นนั่นเอง

สกายวอร์ก แค่คิดก็ผิดแล้ว
          เมื่อเร็ว ๆ นี้อีกเข่นกัน กรุงเทพมหานครกำลังจัดทำร่างประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างทางเดินยกระดับหรือสกายวอล์ก คำถามที่พึงตอบแก่สังคมก็คือ แพงไปหรือไม่ จำเป็นต้องสร้างหรือไม่ ทั้งนี้ สกายวอล์กที่กรุงเทพมหานครจะสร้างประกอบด้วย
          1. สกายวอล์กเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางนาและสถานีบีทีเอสอุดมสุข ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวผู้ผู้รับเหมาในเดือนพฤษภาคม โดยมีระยะทาง 1,700 เมตร ขนาดกว้าง 4 เมตร ใช้เวลาก่อสร้าง 15 เดือน งบประมาณ 450 ล้านบาท
          2. สกายวอล์กเชื่อมระหว่างสถานีสุรศักดิ์กับสถานีสะพานตากสิน ระยะทาง 700 เมตร ขนาดกว้าง 6 เมตร พร้อมจัดทำทางเลื่อนอัตโนมัติ ระยะทางไปกลับรวม 600 เมตร ซึ่งกทม.จะดำเนินการในส่วนนี้ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกวดราคาหาผู้รับเหมา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจะได้ตัวผู้รับเหมา โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี งบประมาณ 590 ล้านบาท
          หากพิจารณาจากกรณีแรก (สกายวอล์ก อุดมสุข-บางนา) พื้นที่ก่อสร้างจะเป็น 6,800 ตารางเมตร (ยาว 1,700 เมตร x กว้าง 4 เมตร) ตกเป็นค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรจะเป็นเงินถึง 66,176 บาท ส่วนกรณีที่สอง (สกายวอล์ก สุรศักดิ์-ตากสิน) พื้นที่ก่อสร้าง 3,600 ตารางเมตร (ยาว 600 เมตร x กว้าง6 เมตร) พร้อมทางเลื่อนอัตโนมัติตกเป็นเงินตารางเมตรละ 160,000 บาท
          ในด้านค่าก่อสร้าง หากเปรียบเทียบโดยคร่าว ๆ กับราคาค่าก่อสร้างอาคารของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นราคา ณ เดือนธันวาคม 2557 จะพบว่าอาคารที่พอเทียบเคียงกับสกายวอล์ก อาจเป็นอาคารจอดรถ ส่วนบนดิน ซึ่งตกเป็นเงินเพียงตารางเมตรละ 10,900 บาทเท่านั้น หากเป็นอาคารจอดรถส่วนใต้ดินที่มีจำนวนไม่เกิน 2 ชั้น และที่มีจำนวนไม่เกิน 4 ชั้น ค่าก่อสร้างจะเป็นเงินตารางเมตรละ 18,100 บาท และ 29,000 บาทตามลำดับ ดังนั้นค่าก่อสร้างสกายวอล์กที่ตารางเมตรละ 66,176 บาท (ไม่มีทางเลื่อนอัตโนมัติ) และ 160,000 บาท (มีทางเลื่อน) จึงถือว่าสูงมาก
          สำหรับประเด็นด้านปริมาณคนสัญจร โดยเฉพาะการเดินระหว่างสี่แยกบางนากับซอยอุดมสุขนั้น ปกติแทบไม่มีคนเดินสัญจรตลอดระยะทางดังกล่าวอยู่แล้ว คงมีเพียงการสัญจรสั้น ๆ ส่วนปริมาณคนการสัญจรในช่วงสุรศักดิ์กับสะพานสาทร ก็คงมีผู้เดินจำนวนจำกัด กรุงเทพมหานครควรศึกษาปริมาณและแสดงปริมาณคนสัญจรเพื่อสังคมจะได้ตรวจสอบต่อไป หากกรุงเทพมหานครอยากจะสร้างจริง  ผมขอแนะนำให้สร้างช่วงสุรศักดิ์-ช่องนนทรี น่าจะมีผู้ใช้ประโยชน์มากกว่า แต่หวังว่าราคาจะไม่ “เวอร์” เช่นที่กรุงเทพมหานครประมาณการไว้

แก้ไฟไหม้ตึกสูง
          กรณีไฟไหม้อาคารธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสังเวยชีวิตไป 1 ศพ นับเป็นเรื่องเศร้าสลดเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่แม้แต่นายกฯ วิศวกรรมสถานฯ ยังประหลาดใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรทั้งที่มีระบบป้องกันอย่างดี เกี่ยวโยงกับคดีทุจริตหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ๆ เกี่ยวข้องก็รีบออกมายืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการวางเพลิง ทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจสอบสาเหตุในรายละเอียด
          อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ไฟไหม้มักเป็นสาเหตุที่พวกนักผังเมืองนำมาอ้างเพื่อห้ามก่อสร้างอาคารในซอยขนาดเล็ก ด้วยเกรงว่าจะไม่สามารถดับเพลิงได้ แต่บ่อยครั้งที่อาคารที่ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้น ก็ไม่สามารถดับเพลิงได้ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ รถเครนใช้การไม่ได้ ฯลฯ เช่นที่เห็นในกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ และอาคารขนาดใหญ่บนถนนสุขุมวิท 21 และอื่น ๆ อยู่บ่อยครั้ง
          กรณีนี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ศึกษาพบว่าในเอกสารเอกสารการดับเพลิงอาคารสูงของสมาคมป้องกันไฟไหม้แห่งชาติ (National Fire Protection Association) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สรุปสาระสำคัญไว้หลายประการ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษา โดยทุกท่านสามารถดูได้จาก Link นี้ http://goo.gl/KxFdcg
          กรุงเทพมหานครและหน่วยงานดับเพลิงที่เกี่ยวข้องต้องตั้ง 'กองพล' ดับเพลิงหรือหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการดับเพลิงอาคารสูง นี่ขนาดกรณีนี้เพลิงไหม้บนชั้นที่ 10 ยังใช้เวลานาน และพนักงานดับเพลิงเสียชีวิตอีกต่างหาก อุปกรณ์ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงหรืออื่น ๆ เพื่อให้สามารถดับได้ทันท่วงที พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ในจำนวนเพียงพอ และพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีเงื่อนไขว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ชำรุดหรือใช้การไม่ได้
          ตามสถิติจะพบว่าอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป) ในกรุงเทพมหานครในช่วง 5 ปีล่าสุด (พ.ศ.2550-2554) นั้น เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 8% ของกรณีเพลิงไหม้ทั้งหมด เป็น 7% 4% 3% และ 2% ตามลำดับ การจะอ้างว่ามีเพลิงไหม้บ่อยจึงไม่เป็นความจริง ยิ่งการอ้างสถิติเพลิงไหม้เพื่อห้ามสร้างอาคารสูง ๆ ในใจกลางเมือง จึงยิ่งไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด
          ถ้าเรามีระบบดับเพลิงที่ดี มีประสิทธิภาพ ก็น่าจะสามารถอนุญาตให้สร้างตึกสูง ทำให้ประหยัดที่ดิน ทำให้ที่ดินได้รับการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้อง ‘ถ่อสังขาร’ ออกไปอยู่นอกเมืองให้ลำบาก ใช้รถไฟฟ้าแทน ยิ่งประชากรอยู่หนาแน่นในเมืองเท่าไหร่ ก็อาจทำให้ ‘ฝัน’ ที่อยากเห็นกรุงเทพมหานครเป็นเมืองจักรยาน เป็นไปได้ยิ่งขึ้น เพราะคนมาก ๆ ช่วยกันขี่จักรยาน ปลอดภัยดีออก ยิ่งกว่านั้นตึกสูงยุคใหม่ก็มีระบบการป้องกันเพลิงไหม้อย่างดี ไม่ใช่ตึกยุคเก่าเช่นธนาคารไทยพาณิชย์

ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอื้อนายทุน
          โครงการนี้มีมูลค่า 3 หมื่นล้าน โดยจะสร้าง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายาว 50 กม. จาก "สะพานพระราม 3-พระนั่งเกล้า" ตามข่าวกล่าวว่าจะเนรมิตทางจักรยาน-คนเดิน-รถเมล์ไฟฟ้า-จุดชมวิวรับท่องเที่ยว และให้เฟสแรกเริ่มตุลาคม 2558  ผมจึงขอเสนอว่า
          1. ให้สร้างถนนขนาด 6 ช่องทางจราจร 2 ฝั่งแม่น้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ถนนให้กรุงเทพมหานครให้มากขึ้น เพราะโครงการที่เสนอ ไม่ได้แก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน
          2. อย่าสร้างรถบีอาร์ที ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และเป็นภาระแก่การจราจรอื่น ทั้งนี้ ดร.โสภณ เคยเป็นที่ปรึกษาธนาคารโลก ณ กรุงจาการ์ตา และกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย ได้ไปสัมผัสและพบว่าโครงการนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
          3. การสร้างเป็นจุดชมวิวต่าง ๆ เป็นแค่ “น้ำจิ้ม” อย่าได้เอางบประมาณไป “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” กับโครงการ “ผักชีโรยหน้า” เช่นนี้
          4. ถนนนี้จะเป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนต่อไป แต่หากผ่านโบราณสถานสำคัญ ก็อาจต้องลงทุนให้มุดลงใต้ดินในบางช่วง
          5. ในการก่อสร้างจริง จะต้องรื้ออาคารทั้งหมดริมแม่น้ำออกออกเพื่อกันพื้นที่สร้างถนน ซึ่งต้องเวนคืน โดยการเวนคืน ควรจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม และสำหรับผู้ที่ต้องการอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ก็อาจก่อสร้างเป็นอาคารชุดเพื่อให้ไม่กระทบต่อเดินทางไปทำงานหรือการเดินทางไปสถานศึกษาของลูกหลาน
          ที่ กทม. อ้างว่าการทำถนนนี้ใช้ต้นแบบมาจากเกาหลีนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะในกรุงโซล เขาสร้างถนนขนาดใหญ่หลายช่องทางจราจรริมแม่น้ำเป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย และในกรุงโซล ยังมีสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ของเขาเฉลี่ยทุกระยะ 1 กิโลเมตร แต่ของไทยยังมีสะพานข้ามแม่น้ำทุกระยะ 2 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ามีน้อยไป

          จะพัฒนากรุงเทพมหานคร ต้องคิดให้รอบด้าน อย่าเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใด แต่มุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนะครับ 

สกายวอล์ก สร้างแพงไปไหม จำเป็นไหม

ระบบดับเพลิงโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่ง กทม. ควรตั้งกองพลดับเพลิง

ใจกลางเมืองควรสร้างตึกสูงเพื่อไม่ไปบุกรุกชนบทโดยรอบ

การสร้างถนนริมแม่น้ำในกรุงโซล ที่ กทม. นำมาอ้าง แท้จริงแล้วเขาสร้างถนนใหญ่ ไม่ใช่ถนนแบบเด็กเล่นตามที่ กทม.เสนอ


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved