อ่าน 1,536 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 67/2558: วันพุธที่ 18 มีนาคม 2558
         ไทยล้าหลังสุดในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ มีเพียงไทย เมียนมาร์และบรูไนที่ไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนี้เป็นคุณต่อประชาชนส่วนใหญ่ รัฐบาลในประเทศทั่วอาเซียนทั้งที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ก็ล้วนเดินหน้าในเรื่องนี้
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เคยทำวิจัยนำเสนอในที่ประชุมวิชาการอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน เกี่ยวกับสถานการณ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วอาเซียน และได้พบข้อค้นพบที่ว่า ไทยอาจเป็นประเทศที่ล้าหลังที่สุดประเทศหนึ่ง
          1. กัมพูชา เก็บภาษีที่ 0.1% ของอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดตั้งแต่ 819,000 บาทขึ้นไป
          2. ฟิลิปปินส์ เก็บสูงถึงประมาณ 2-3% แต่ก็ยังมีส่วนลดหากจากครบ จ่ายเร็ว นอกจากนี้ยังมีภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์สิน (ราคาขาย ลบ ราคาซื้อ) ณ อัตรา 6% ของราคาตลาดอีกด้วย
          3. มาเลเซีย เก็บภาษีตามค่าเช่า โดยคิดประมาณ 1-2% ของค่าเช่า คงเป็นกรณีเดียวกับฮ่องกงที่ประเมินมูลค่าการเช่ากับทรัพย์สินทุกประเภท (จะให้เช่าหรือไม่ก็ตาม) แต่คิดอัตราภาษี 5% ของค่าเช่า รวมทั้งการจัดเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์สิน (ราคาขาย ลบ ราคาซื้อ) อีกด้วย
          4. ลาว เก็บกระทั่งที่นาเพื่อการเกษตรกรรม โดยมีอัตราประมาณ 26 บาทต่อไร่ต่อปี และแยกประเภทและอัตราการเก็บอย่างละเอียดตามพื้นที่และประเภทเกษตรกรรม ถ้าเป็นที่ดินเปล่าใจกลางเมือง เก็บตารางวาละ 5 บาทต่อปี
          5. เวียดนาม มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 0.03% - 0.15% ของมูลค่า ทั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา
          6. สิงคโปร์จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 0% - 6% สำหรับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย และ 10% สำหรับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์
          7. อินโดนีเซียเก็บประมาณ 0.1-0.2% ของราคาประเมินทางราชการที่ประเมินใหม่ทุกรอบ 3 ปี แต่ในพื้นที่เศรษฐกิจคึกคัก ประเมินใหม่ทุกปี (ประสิทธิภาพสูง) นอกจากนี้ยังมีภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์สิน (ราคาขาย ลบ ราคาซื้อ) โดยเก็บภาษีที่อัตรา 20%
          สำหรับบรูไน ไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะรัฐบาลร่ำรวย ปกติก็ไม่ค่อยเก็บภาษีมากมายอยู่แล้ว ส่วนเมียนมาร์ยังเป็นประเทศที่มีการพัฒนาน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค การที่ยังไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งที่เข้าใจได้
          แต่สำหรับประเทศไทยที่มีความเจริญก้าวหน้า กลับยังไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ก็แสดงว่าชนชั้นสูงของไทย ยังไม่พร้อมที่จะเสียภาษีนี้ เพราะภาษีนี้ไม่กระทบต่อชนชั้นกลางหรือประชาชนทั่วไปที่มีทรัพย์สิน เพราะอัตราการจัดเก็บน้อยมาก และกลับทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาท้องถิ่นด้วยภาษีนี้

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved