แนวทางการหารายได้เข้ากรุงเทพมหานคร
  AREA แถลง ฉบับที่ 91/2558: วันพุธที่ 08 เมษายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อวานนี้นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกข่าวว่าจะเก็บภาษีเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เรื่องการหารายได้มีทางออกมากมายกว่าการเก็บภาษี

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ชี้ถึงประเด็นทางการเงินของกรุงเทพมหานคร ดังนี้

            1. ณ ปีงบประมาณปัจจุบันนี้ กทม. มีงบประมาณอยู่ 80,000 ล้านบาท แต่ว่าในแต่ละปี เป็นเงินที่ใช้จ่ายประจำ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน และค่าใช้จ่ายตามปกติอยู่แล้วถึงประมาณเกือบ 80% เป็นงบลงทุนจริงเพียง 20% เท่านั้น เท่ากับว่า กทม. อยู่ในฐานะ “ตำข้าวสารกรอกหม้อ”

            2. นอกจากนี้ กทม. ยังได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลถึงประมาณสามในสี่ของงบประมาณของ กทม. ถ้าไม่มีเงินจากรัฐบาลเช่นนี้ กทม. ก็เท่ากับมีเงินเพียงเพื่อเลี้ยงข้าราชการและทำงานประจำไปโดยไม่มีเงินเพียงพอที่จะทำอะไรอื่นอีกเลย

            ดังนั้นการจะบริหารราชการให้ได้ดี จึงเป็นเพียงแค่ความฝัน และยิ่งหากจะไปขอเงินเพิ่มเติมมาจากรัฐบาล ก็ยิ่งเท่ากับเราไปรบกวนประชาชนทั้งประเทศ  ทุกวันนี้ลำพังการ “ส่งออก” ประชากรไปอยู่จังหวัดอื่นโดยรอบจนทำลายเรือกสวน นาไร่และสิ่งแวดล้อม ก็แย่อยู่แล้ว  การบริหาร กทม. จึงต้องมีกลยุทธ์ในการหาเงินเข้ามาพัฒนา กทม. เองมากกว่าจะคิดใช้เงินอย่างเดียว

            แนวทางการหาเงินเข้า กทม. มีอยู่มากมาย เช่น

            1. การนำทรัพย์สินที่ดินของ กทม. เองมาให้เช่าจัดเก็บประโยชน์ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้ กทม.อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งตู้ ATM ร้านค้า ฯลฯ ในหน่วยราชการ หรือการนำที่ดินแปลงใหญ่มาจัดประโยชน์ โดยสมควรที่จะประเมินค่าเช่าที่ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

            2. การจัดระเบียบการขายของบนทางเท้าเสียใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้มหาศาลแล้ว ยังทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบ และทำให้ผู้เช่า เช่าได้ในราคาที่ถูกลง ลดราคาสินค้าให้กับประชาชนได้อีกด้วย ทั้งนี้ประมาณการว่าการเช่าพื้นที่ค้าปลีกบนทางเท้ามีประมาณ 1,000,000 ตารางเมตร หากจัดระเบียบใหม่ให้เหลือเพียง 500,000 ตารางเมตร คืนพื้นที่ให้กับผู้สัญจร แต่แบ่งเช่าเป็น 2 กะ เช้า และค่ำให้ชัดเจน ก็จะได้เงินเท่าเดิม ปกติค่าเช่าเป็นเงินตารางเมตรละ 100 บาทต่อวันโดยเฉลี่ย ก็จะได้เงิน 100 ล้านบาทต่อวัน หากลดค่าเช่าเหลือครึ่งหนึ่งก็จะเป็นเงิน 50 ล้านบาทต่อวัน  และหากกำไรสุทธิเป็น 20% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายก็จะได้รายได้สุทธิ 10 ล้านบาทต่อวันหรือ 3,650 ล้านบาทต่อปี

            3. ภาษีจากป้ายชั่วคราว โดยทุกวันนี้ป้ายโฆษณาขายสินค้า โฆษณาบ้านจัดสรรมีอยู่ตามท้องถนนมากมาย ป้ายเหล่านี้ไม่ถูกกฎหมาย แต่ถือเป็นการโฆษณาที่ได้ผลให้คนเห็นได้มากที่สุด เจ้าของป้ายหรือผู้รับจ้างติดป้ายจึงต้องทำอย่างไรให้ป้ายสามารถ “ซื้อเวลา” ให้อยู่ได้นานที่สุดเพื่อให้ผู้บริโภคได้พบเห็น ดังนั้น กทม. จึงควรสร้างรายได้จากการให้เช่าที่ติดป้ายอย่างเป็นทางการ และถูกต้องตามกฎหมายตามทำเลเด่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร คาดว่าการนี้จะนำเงินมาใช้เพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานครได้อีกนับพันล้านบาทต่อปี

            4. การเช่าพื้นที่จอดรถชั่วคราวบนถนนต่าง ๆ ซึ่งหากจัดเก็บรายได้ให้ถูกต้อง อาจจะสร้างรายได้อีกนับพันล้านบาท แต่ทุกวันนี้มีผู้จัดเก็บ “เถื่อน” มากมายโดยที่ กทม. ไม่ได้แตะต้องในเรื่องนี้เลย

            5. การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ โดยเฉพาะที่ดินเปล่า ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทางหนึ่งเพื่อกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ให้บ้านเมืองเจริญ อีกทางหนึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ และควรที่จะเจรจาเพื่อนำที่ดินเปล่าเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ของชุมชนเป็นการชั่วคราว

            6. การจัดเก็บขยะ ทุกวันนี้กรุงเทพมหานครเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและขนย้ายขยะมากมาย และยังต้องลงทุนเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก หากในแต่ละเขตมีผู้รับสัมปทานไปดำเนินการ กทม. แทบไม่ต้องเสียงบประมาณ สามารถประหยัดงบประมาณได้ปีละหลายพันล้านบาท เป็นต้น

            7. การขอรับบริจาค โดยทุกวันนี้ประชาชนทั่วไปอาจมีโอกาสน้อยในการบริจาคที่มั่นใจได้ว่าเงินเข้าถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมหรือเพื่อสาธารณประโยชน์จริง เช่นในกรณีการสร้างสถานสงเคราะห์เด็กเร่ร่อน ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้สูงอายุ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ผู้ป่วยอนาถา ฯลฯ หากมีแหล่งบริจาคของ กทม. ที่นำเงินไปใช้เพื่อการพัฒนาแท้ ๆ เป็นกุศลจริง ก็ย่อมหารายได้จากการบริจาคได้อีกมาก ซึ่งอาจรวมถึงอสังหาริมทรัพย์และอื่น ๆ อีกมาก

            อย่างไรก็ตาม การบริหารรัฐกิจในส่วนนี้อาจมีข้อจำกัดเนื่องจาก

            1. ไม่เข้าใจ ขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการการคลังเท่าที่ควร จึงไม่อาจจัดเก็บรายได้ได้

            2. ทำไม่เป็น คือ ขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารทรัพย์สิน การประเมินค่าทรัพย์สิน การวางแผนการใช้ที่ดิน เป็นต้น

            3. อาจเกิดความเสียหาย เช่น ทำสัญญาแล้วอาจเกิดการ “เสียค่าโง่” เช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีทางด่วน เป็นต้น

            4. กลัว คือกลัวว่าทำแล้วจะเป็นการเปิดช่องให้มีการโกง (มากขึ้น) จึงทำให้ผู้บริหาร กทม. นิ่งเฉย ไม่สนใจต่อการจัดหารายได้เพิ่มเติม

            5. เสียโอกาส เพราะการหารายได้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย นำเงินที่พึงได้ของ กทม. มาเข้าระบบ เพื่อประโยชน์ของประชาชนนั้น อาจเกิดความขัดแย้งกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนอกระบบในทางที่ผิดกฎหมายได้ แต่หากเรานึกถึงประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ ผู้บริหาร กทม. ต้องต่อสู้เพื่อประโยชน์ของประชาชน

            โดยสรุปแล้ว การจัดหารายได้เข้า กทม.จะเป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะทำให้ กทม. สามารถรับใช้ประชาชนในกรุงเทพมหานครได้จริง เพราะลำพังการวาดหวังโครงการไว้มากมายโดยไม่มีเงิน ย่อมเป็นเพียงแค่ความฝัน

 

อ่าน 1,683 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved