สิงคโปร์ในมุมเคยมอง
  AREA แถลง ฉบับที่ 93/2558: วันพฤหัสบดีที่ 09 เมษายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ผมไม่ค่อยชอบประเทศสิงคโปร์ ชาวสิงคโปร์ที่ใจแคบ โดยเฉพาะผู้นำของเขาซึ่งผมมองว่าเป็นเผด็จการ นั่นเป็นความคิดที่คับแคบในอดีตของผมเอง  เรามาศึกษา "เอาเยี่ยงกา ไม่ใช่เอาอย่างกา" จากสิงคโปร์กัน นี่ไม่ใช่การเหยียดไทยกันเองนะครับ เดี๋ยวท่านนายกฯ จะหาว่าผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่คนไทย (ฮา)

            ผมไปสิงคโปร์ครั้งแรกเมื่อปี 2529 หรือ 21 ปีหลังจากเป็นประเทศอิสระ หรือเมื่อ 29 ปีก่อน ในสมัยนั้นสิงคโปร์ยังมีชุมชนแออัด การที่ชุมชนแออัดหดหายไปแสดงว่าประเทศของเขาพัฒนาขึ้น สวัสดิภาพของประชาชนดีขึ้น ประชาชนมีความสามารถที่จะมีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะยิ่งขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างหนึ่ง ประเทศไทยก็เช่นกัน ชุมชนแออัดหมดไปมากแล้ว แต่ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง

            ช่วงนั้นสิงคโปร์ยังมีผู้ขายบริการทางเพศอยู่มาก ในโรงแรมที่ผมพัก ซึ่งเป็นโรงแรม 3 ดาว ยังมีบัตรแนะนำผู้ขายบริการมาเสียบถึงห้องพัก ในอดีตสิงคโปร์ขึ้นชื่อว่ามีผู้ขายบริการทางเพศมากมาย ทั้งนี้เพราะเป็นเมืองท่า จึงมีความต้องการบริการทางด้านนี้มากเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบัน ผู้ค้าบริการมักเป็นคนต่างชาติ และมีข้อห้ามการเร่ขายหรือการเป็น "แมงดา" เป็นต้น

            เมื่อ 29 ปีก่อน ผมได้รับทุนจากองค์การสหประชาชาติไปศึกษาต่อที่ประเทศเบลเยียม ผมใช้บริการสิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งแวะจอดที่กรุงเทพมหานคร กรุงไคโร ก่อนไปถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงบรัสเซลส์ อาจถือได้ว่าในขณะนั้นกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์ดูคล้ายเป็น "ลูกไล่" ของไทย แต่ในปัจจุบันศูนย์กลางการบินในภูมิภาคกลับอยู่ที่สิงคโปร์แล้ว

            ใน 1 ปีต่อมา คือปี 2530 สิงคโปร์ก็มีรถไฟฟ้าแล้ว โดยมีก่อนไทยประมาณ 12 ปี เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามเส้นทางรถไฟฟ้า การคืนทุนในการสร้างรถไฟฟ้าถือว่าเร็วมาก ผมมีโอกาสไปดูเมืองใหม่แทมพีเนส (Tampines) เมื่อปี 2536 โดยเป็นเมืองที่สร้างตามแนวรถไฟฟ้าและถูกออกแบบให้อยู่ได้ด้วยตนเอง มีศูนย์การค้า สำนักงาน และที่อยู่อาศัยอยู่พร้อมสรรพ ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนที่พัก (Bed City) สำหรับคนที่จะเดินทางเข้ามาทำงานใจกลางเมืองโดยอาศัยรถไฟฟ้าเป็นสำคัญ

            คนสิงคโปร์มีเชื้อชาติหลักคือจีน (74%) มาเลย์ (13%) และอินเดีย (9%) ในการอยู่อาศัยในแต่ละอาคารนั้น จะต้องมีสัดส่วนผู้อยู่อาศัยที่ใกล้เคียงกันตามนี้ จะไม่ให้มีตึกที่อยู่เฉพาะคนจีน หรือคนมุสลิมอย่างเด็ดขาด หรืออยู่เหมาชั้นเฉพาะเชื้อชาติใดชาติหนึ่งก็ไม่ได้ เพื่อป้องกันการแบ่งแยก มั่วสุมและการก่อการร้าย กรณีนี้เป็นสิ่งที่สมควร เราต้องการเสรีภาพ แต่ต้องมีขอบเขตที่แน่ชัดโดยไม่ละเมิดต่อบุคคลอื่น กรณีนี้ผิดกับในอินโดนีเซียที่มีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรที่รับเฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น

            เพื่อนผมซึ่งเคยเป็นคณบดีอยู่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า คนสิงคโปร์ที่ "ซุกซน" (naughty) อยู่ยากในสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้มีการประพฤตินอกลู่นอกทาง การนี้ดูประหนึ่งว่ารัฐบาลสิงคโปร์เป็นเผด็จการ แต่มุมที่พึงมองใหม่ก็คือรัฐบาลเพียงรักษากฎกติกาของสังคม เช่น ประเทศตะวันตกที่ให้เสรีภาพเต็มที่ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดต่อผู้อื่น เช่น เราจะนั่งกินเหล้า ตีเกราะเคาะไม้อยู่หน้าบ้านจนดึกดื่นเที่ยงคืนไม่ได้  ตำรวจจะมาจับไปปรับ (ทัศนคติและเงิน) ในฐานที่ละเมิดต่อเพื่อนบ้าน สิงคโปร์และประเทศตะวันตกจึงดูคล้าย Unhappy Paradise ส่วนไทยอาจถือเป็น Happy Hell (ทำอะไรตามใจคือไทยแท้)

            การปรับทัศนคติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวสิงคโปร์เคยขึ้นชื่อเรื่องการถ่มถุย แต่ก็กลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว ผู้คนข้ามถนนก็ต้องรอสัญญาณไฟแดงโดยเคร่งครัด  ผมจำได้ว่าในปี 2520 หรือเมื่อ 38 ปีก่อน  เมืองไทยยังมีตำรวจคอยตรวจจับการข้ามถนนนอกเขตทางม้าลาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว กลายเป็นการรณรงค์แบบ "ไฟไหม้ฟาง" แต่สิงคโปร์กลับรณรงค์จน "สร้างนิสัย" ไปแล้ว แม้แต่นักท่องเที่ยวยังต้อง "หลิ่วตาตาม"

            ในสิงคโปร์มีผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ประท้วงด้วยวิธีการแปลก ๆ บ้างถึงขนาดฉี่ในลิฟต์เพราะถูกกีดกันไม่ให้ไปประท้วงในที่สาธารณะ รัฐบาลสิงคโปร์ก็ตอบโต้ "ฉี่ประท้วง" ด้วยการติดเครื่องมือพิเศษจับสัญญาณฉี่ หากพบการแอบฉี่ในลิฟท์ ลิฟท์ก็จะล็อกทันที เจ้าหน้าที่จะมาพร้อมสื่อมวลชนเพื่อเปิดประตูลิฟท์ประจานคนเหล่านี้ จนเข็ดหลาบกันไป

            หลายคนมองว่าสิงคโปร์เป็นเผด็จการ ลีกวนยิวก็พูดอะไรส่อไปทางนั้น เช่น บอกว่าคนไม่เท่ากัน เหมือนนิ้วมือของเราเอง การจำกัดเสรีภาพของสื่อ การตอบโต้การกระทำผิดกฎหมายอย่างเฉียบขาด แต่ความจริงในอีกแง่หนึ่งก็คือ สิงคโปร์มีความเป็นประชาธิปไตยเพราะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีมาโดยตลอดโดยไม่เคยมีข่าวการซื้อเสียงหรือบังคับลงคะแนนแต่อย่างใด ถ้าลีกวนยิวทำรัฐประหาร คนสิงคโปร์คงไม่ยอมเป็นแน่

            อย่างไรก็ตามในสิงคโปร์ ก็มีการใช้กำลัง (กำปั้นเหล็ก) หรือกระทั่งการโบยตีหรือประหารชีวิตนักโทษอย่างเฉียบขาดโดย (แทบ) ไม่มีการอภัยโทษ และจัดการกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย (กฏหมายที่เป็นธรรม) อย่างเฉียบขาด จะให้ใครมาชุมนุมทางการเมืองอย่างยืดเยื้อทำลายเศรษฐกิจของชาติไม่ได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจัดจุดชุมนุมทางการเมืองให้ คือ Speakers' Corner ไม่ใช่ชุมนุมกันสะเปะสะปะเช่นในประเทศไทย

            รอยด่างของสิงคโปร์ก็คือมีการคุมขังบุคคลหนึ่งชื่อนาย Chia Thye Poh นานถึง 32 ปีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และยังมีประชาชนถูกจับกุมคุมขังทำนองนี้อยู่อีกราว 36 คน  อย่างไรก็ตามสิงคโปร์ไม่มีข่าวการจับกุมหรือซ้อมผู้ต้องหาทางการเมือง ไม่มีการฆ่าถ่วงน้ำ ไม่มีการยิงทิ้งรัฐมนตรีข้างถนน ไม่มีการยิงระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุม ไม่มี ม.44 ไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นต้น

            สิงคโปร์ถูกจัดอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโลกในด้านการให้เสรีภาพของสื่อ โดยสื่อไม่สามารถลงข่าวยั่วยุทางการเมือง หรือประเด็นแหลมคมเรื่องการศาสนา เรื่องเพศ เช่น การตีข่าว "น้องแก้ม" หรืออย่างที่หนังสือพิมพ์ไทยชอบเอาภาพวับๆ แวมๆ มาลงในวันอาทิตย์กันจนเป็นปกติ สื่อต้องตรวจสอบตัวเองไม่ให้ล้ำเส้น จะมาด่าทอ "ท่านผู้นำ" หรือ "อีปูว์" อย่างสาดเสียเทเสีย สร้างความแตกแยกอยู่ทุกวันไม่ได้

            อย่างไรก็ตามลีกวนยิวก็ใช่จะไร้ข้อครหา ครั้งหนึ่งเขาและครอบครัวซื้อห้องชุดสุดหรูใจกลางเมืองโดยได้ส่วนลด 5% 7% และ 12% บ้าง (http://bit.ly/1G44DzR) แต่ก็ถือว่า "จิ๊บจ๊อย" มากเมื่อเทียบกับนายกฯ นักรัฐประหารไทยหลายคนที่โกงเงินไปมหาศาลโดยมีหลักฐานชัดเจน ในด้านตรงกันข้ามสิงคโปร์กลับได้รับการพิสูจน์ชัดว่าเป็นประเทศที่แทบจะไร้ทุจริต มีความโปร่งใสติดอันดับสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก

            เหลือเชื่อครับว่า ภาวะการมีธรรมาภิบาลและความโปร่งใสที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถวิลหา กลับอยู่ที่สิงคโปร์นี่เอง

 เมืองใหม่แทมพีเนสตามแนวรถไฟฟ้า ของไทย รัฐแทบไม่พัฒนาริมสถานีรถไฟฟ้า

 อาคารชุดหรู Nassim Jades ที่ลีและครอบครัวซื้อโดยได้ส่วนลดจนเป็นเรื่อง

Speakers' Corner ในสิงคโปร์ที่ชุมนุมทางการเมืองได้

 ผมไปบรรยาย พาคณะไปดูงานที่สิงคโปร์เป็นระยะๆ

อ่าน 2,681 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved