ความเข้าใจผิดเรื่องสวนสาธารณะในต่างประเทศของ อ.ขวัญสรวง อติโพธิ
  AREA แถลง ฉบับที่ 138/2558: วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2558 รายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ทาง TPBS ได้เชิญ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปร่วมถกเถียงกับ ผศ.ขวัญสรวง อติโพธิ เครือข่ายมักกะสัน ในเรื่องมักกะสัน (https://goo.gl/DQArNh) และปรากฏว่ากรณีศึกษาของท่าน อ.ขวัญสรวง ที่ยกขึ้นมานั้น เป็นความเข้าใจผิด  ดร.โสภณ จึงขออนุญาตให้ข้อมูลเพื่อการมองให้รอบด้าน

คลองช็องกเยช็อน (Cheong Gye Cheon)

            กรณีนี้ อ.ขวัญสรวงกล่าวว่าคลองนี้ได้รื้อทางด่วนที่คร่อมคลองน้ำเน่ามาปรับให้สวยงาม (https://goo.gl/YnTnI8) ดูเหมือนกับว่าการพัฒนาเมืองแต่เดิมเป็นความไม่เหมาะสม แต่ในความเป็นจริง กรณีนี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่าง (http://goo.gl/XhTc27) ที่ อ.ขวัญสรวง ไม่ได้กล่าวถึง:
            1. การพัฒนาศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองเดิมแห่งนี้ ไม่ได้เข้ามาถึงพื้นที่นี้ ทำให้ประชากรและการจ้างงานลดไปครึ่งหนึ่ง ธุรกิจใหญ่ ๆ ย้ายออกไปศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองใหม่ที่กังนำ (Gangnam) และอุตสาหกรรมในเขตใจกลางเมืองก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว

            2. ถนนที่เห็นคร่อมคลองแห่งนี้อยู่นั้น อยู่ในสภาพทรุดโทรม เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการใช้สอย และนับแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจนถึงการรื้อทิ้งในปี 2551 ก็อนุญาตให้เฉพาะรถเล็กวิ่งผ่านเท่านั้น ค่าบำรุงรักษาในช่วง 2537-2541 ก็สูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
            3. การรื้อทางด่วนออกได้เพราะกรุงโซลใช้ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและรถประจำทางมากขึ้น และจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเข้าสู่เขตใจกลางเมือง  ความต้องการใช้ทางด่วนที่ทรุดโทรมดังกล่าวจึงลดน้อยลงตามลำดับ
            4. งบประมาณที่ใช้เป็นงบประมาณของมหานคร ไม่ใช่งบประมาณของประชาชนทั้งประเทศที่จะมาถมให้กับคนในพื้นที่ และคนในพื้นที่รวมทั้งธุรกิจก็มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้วย (http://goo.gl/8Efqzp) ต่างจากกรณีมักกะสันที่จะใช้เงินหลวงทั้งในการชดเชยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย 80,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้างอีกนับพันล้านบาท และค่าดูแลอีกปีละนับร้อย ๆ ล้านบาท
            5. การรื้อทางด่วนแล้วสร้างเป็นถนนและสวนให้คนมาเดินเล่น ย่อมเป็นประโยชน์ต่ออาคารต่าง ๆ โดยรอบ ให้มีปริมาณคนมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น ทำธุรกิจได้มากขึ้น ดีกว่าการมีทางด่วนพารถผ่านเลยไปทางอื่น ดังนั้นความสำเร็จของโครงการจึงเกิดขึ้นได้ ต่างจากกรณีประเทศไทยที่พอจะสร้างทางยกระดับเช่นที่รามคำแหง ตึกแถวสองฝั่งถนนพากันคัดค้านเพราะเป็นการลดปริมาณการสัญจรนั่นเอง

            ดังนั้นการอ้างการพัฒนาคลองนี้ลอย ๆ โดยไม่แสดงที่มาที่ไปที่ชัดเจน จึงเป็นก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการนี้ เพียงเพื่อมาสนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะในบริเวณมักกะสันอย่างผิดๆ

สนามบินกรุงเบอร์ลิน

            มีสนามบินแห่งหนึ่งชื่อ Tempelhof ในกรุงเบอร์ลินที่ อ.ขวัญสรวง อ้างว่าเขานำมาทำสวนสาธารณะ โดยนัยนี้มักกะสันก็ควรนำมาทำสวนสาธารณะด้วย ข้อนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นกัน สนามบินแห่งนี้จำเป็นต้องยกเลิกไปเพราะรันเวย์สั้น และทางราชการได้ไปก่อสร้างในบริเวณอื่น ที่ไม่นำสนามบินแห่งนี้ไปใช้ในเชิงธุรกิจเพราะตั้งอยู่นอกเขตศูนย์ธุรกิจ ล้อมรอบด้วยที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างเบาบาง ต่างจากมักกะสันที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายสาย เหมาะที่จะพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อประเทศชาติ

สนามบิน Tempelhof ณ กรุงเบอร์ลิน ที่เปลี่ยนเป็นสวนบางส่วน ก็เพราะอยู่ไกลจากตัวเมือง
และรายล้อมด้วยที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย จึงไม่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้

            สนามบินเก่าแห่งนี้ไม่ได้มีเพื่อเป็นสวนสาธารณะเป็นสำคัญ ยังเป็นที่แข่งรถ จัดงานอีเวนท์ต่าง ๆ รวมทั้งการประชุม และยังอาจจะจัดการเป็นอื่นได้ในอนาคตซึ่งต้องติดตามกันต่อไป ที่สำคัญต้นทุนในการพัฒนาที่ดินแปลงนี้ มาจากทางเทศบาลเอง ถือว่าประชาชนในท้องถิ่นต้องออกเงิน ไม่ใช่ไปเอาเงินของประชาชนทั่วประเทศมาพัฒนาแต่อย่างใด (http://goo.gl/R4h8tm)

            การพัฒนาสนามบินเก่าในเยอรมนียังมีตัวอย่างอื่นที่ชัดเจนว่า ไม่ได้นำไปทำสวนสาธารณะ แต่ อ.ขวัญสรวง ไม่กล่าวถึง อย่างเช่น สนามบิน Riem ในนครมิวนิก (http://goo.gl/h9csXO) หลังจากการเลิกใช้ ก็ได้เปลี่ยนเป็นที่จัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ Tempelhof แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงการใช้สอยเป็นศูนย์ประชุม อาคารชุดพักอาศัย และแน่นอนย่อมมีส่วนหนึ่งเป็นสวน ส่วนตัวรันเวย์ยังเก็บไว้เพื่อการดัดแปลงการใช้สอยในอนาคต

สนามบิน Riem นครมิวนิกในอดีต ที่ขณะนี้เปลี่ยนเป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์ แต่ อ.ขวัญสรวงไม่นำมากล่าวถึง

สภาพปัจจุบันของสนามบิน Riem นครมิวนิก ที่พัฒนาเป็นในเชิงพาณิชย์มีทั้งที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม

            สนามบินที่พอเทียบกับไทยได้คงเป็นสนามบินไคตักเก่าบนเกาะฮ่องกงก็ไม่ยอมกลายเป็นสวน หลังจากสนามบินแห่งนี้ปิดตัวลงในปี 2541 ทางการฮ่องกงไม่เอาไปทำสวน แต่มีวิสัยทัศน์กว่านั้นมาก เขานำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ คล้ายที่เซี่ยงไฮ้ โดยมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงานทั้งของรัฐและเอกชน ศูนย์การค้า ห้องชุดหรูเลิศขายให้กับคนรวยๆ เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ (http://bit.ly/1HdooTG)

สนามบินไคตั๊ก อยู่ในฮ่องกงนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น

            ดังนั้นการนำข้อมูลต่าง ๆ มาอ้างอิง จึงควรนำเสนอให้รอบด้านเพื่อไม่ให้เกิดความเอนเอียงด้วยอคติ ไม่มีใครในโลกนี้คิดจะเอาสถานที่เชิงยุทธศาสตร์ในการขนส่งและจราจร เช่น มักกะสันมาทำสวนหรือพิพิธภัณฑ์รถไฟหรอกครับ ดู KL Sentral หรือที่อื่นๆ (http://bit.ly/1QcygPZ) เป็นตัวอย่างได้

KL Sentral ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่ไทยควรใช้เป็นต้นแบบพัฒนามักกะสัน

อ่าน 4,763 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved