อาคารสมัยใหม่ก็รักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่านาข้าว!?!
  AREA แถลง ฉบับที่ 158/2558: วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การรณรงค์ให้มีสวนสาธารณะที่มักกะสันทั้งที่ควรนำไปพัฒนาเพื่อการคมนาคมขนส่งและ "ปลดหนี้" เพื่อพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย อาจเป็นแนวคิดที่ผิด เพราะอาคารสมัยใหม่ก็รักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่านาข้าว!?!
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิดว่าการมีพื้นที่ ๆ แลดูเขียว ๆ จะประหยัดพลังงานและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าอาคาร พื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครยังเสียค่าดูแลปีละเกือบ 1,300 ล้านบาท (http://goo.gl/2mz3Z3)

            แม้แต่นาข้าวยังปล่อยคาร์บอนเป็นอันมาก มีผลการศึกษาว่า "นักวิจัยเผย 'เกษตรอินทรีย์' ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด" (http://goo.gl/DNoAEX) มากกว่าเกษตรเคมี (http://goo.gl/yTT5Qg) ในขณะเดียวกันสำหรับอาคารต่าง ๆ นั้น ยังสามารถพัฒนาเป็นอาคารคาร์บอนศูนย์ (Zero Carbon Building) เพื่อลดโลกร้อนและทำให้มีสภาวะแวดล้อมที่ดีทั้งต่อผู้อยู่ในอาคาร และต่อสังคมโดยรวม

            กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอาคารที่มีการจัดการการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์หรือเกือบเป็นศูนย์ (Zero Carbon / Near Zero Carbon) (http://goo.gl/kYT2Vr) โดยเป็นอาคารที่มีการประหยัดพลังงานจากการออกแบบ เลือกใช้เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการประหยัดพลังงาน หรือมีระบบการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยอาคารสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ใกล้เคียงกับความต้องการ นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างแท้จริง

            การพิจารณาความเป็น Zero Carbon/Near Zero Carbon ของอาคาร มีแนวทางสำคัญ ๆ เช่น

            1. ในการออกแบบอาคาร ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่อาคาร

            2. ในด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า มีการใช้พลังงานรวมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาคารประเภทเดียวกันโดยทั่วไป 50%

            3. มีการเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ และการตรวจสอบประสิทธิภาพอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ

            4. ติดตั้งโซล่าร์เซลล์หรือกังหันลม เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง และมีการจัดเก็บข้อมูลพลังงานที่ผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ

            5. ติดตั้งแผงสะสมพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Collector) เพื่อใช้ในการผลิตน้ำร้อน

            6. มีแหล่งกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้แทนน้ำประปา

            7. มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ

            8. มีการแยกประเภทของขยะ และการจัดการขยะแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม เป็นต้น

            ในพื้นที่มักกะสันที่ส่วนหนึ่งจะนำมาพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคม เพราะมีรถไฟฟ้าผ่านหลายสาย เช่นเดียวกับกรณีศูนย์รวมการคมนาคมขนส่งใจกลางเมือง KL Sentral ของมาเลเซีย และอีกส่วนหนึ่งควรนำมาใช้เพื่อเป็นส่วนเสริม เช่น การมีโรงแรมที่พักสำหรับผู้เดินทาง การอำนวยความสะดวกสำหรับการจับจ่าย รวมทั้งการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เช่น บริเวณติดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ก็ควรพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม ฯลฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และเว้นพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว

            ที่สำคัญที่สุดก็คือการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงาน อาคารเขียว ซึ่งจะเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ไม่แพ้การมีสวนสาธารณะ และการให้ภาคเอกชนที่มาลงทุนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสวนขนาดใหญ่ ในการดูแลสวนสาธารณะเป็นเงินนับร้อยล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังได้ค่าสัมปทานมา "ล้างหนี้" และพัฒนากิจการรถไฟเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วประเทศรวมทั้งชาวกรุงเทพมหานครอีกด้วย

            ยิ่งกว่านั้นการทำสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ยังทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครที่มีบ้านหรือที่ทำงานอยู่ห่างไกลไม่อาจมาใช้สอยได้  ทิศทางของสวนสาธารณะสมัยใหม่จึงเน้นการสร้างสวนขนาดเล็กให้กระจายไปทั้งเมืองเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ใช้สอย รวมทั้งการให้ภาคเอกชนสร้างสวนใจกลางเมือง ด้วยการอนุญาตให้สร้างสูง ๆ มีความหนาแน่นสูง (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) ยิ่งกว่านั้นหากนำสถานี่ราชการใจกลางเมือง มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะสามารถใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำสวนสาธารณะได้ด้วยเช่นกัน

อ่าน 2,270 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved