น้ำท่วม แก้ยังไงดี
  AREA แถลง ฉบับที่ 162/2558: วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้เป็นเรื่องที่ฮือฮากันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจากคำพูดของท่านผู้ว่าฯ ยิ่งโหมฮือความไม่พอใจของคนกรุง แต่ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาไฟไหม้ตึกสูง เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เพียงคิดใหม่ จะเปลี่ยนชีวิตได้เลย

ฝนจะมาอีกมาก

            ผม (ดร.โสภณ พรโชคชัย) จำได้ว่าเมื่อกลางดึกวันอาทิตย์ หรือจริงๆ ก็ราวตีสองของเช้าวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2558 ฝนตกฟ้าคะนองครั้งใหญ่ และก็เป็นไปดังคาด พอเช้าขึ้นมา น้ำก็ท่วม (ขัง) หนักมาก มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินของผม ไปติดต่อลูกค้าแถวซอยประสานมิตร (สุขุมวิท 23) ปรากฏว่าน้ำท่วมถึงหัวเข่า หลายบริเวณ ท่วมอยู่นานพอสมควร จนถึงบ่ายเลยทีเดียว

            นี่เป็นแค่ช่วงแรกของฤดูฝนนะครับ ฤดูฝนที่แท้ยังมาไม่ถึง แล้วน้ำจะท่วมอีกมากหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านร้านตลาดต้องเป็นห่วงเป็นใยกันแล้วครับ เพราะถ้าน้ำเข้าบ้าน สิ่งของต่าง ๆ ก็คงเสียหาย ยิ่งถ้าเป็นร้านค้า ก็คงทำให้กิจการต่าง ๆ เสียหายไปด้วย นี่เป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานคร จะต้องหาทางรับรับมือให้ได้ และนี่เรายังไม่ได้มองไกลไปถึงช่วงเดือนตุลาคมที่น้ำป่าจะไหลหลากมาจากภาคเหนือ มาชุมนุมกันก่อนจะออกอ่าวไทย และหากวันใดมีน้ำทะเลหนุนอีกด้วย ก็คงได้วิบัติไปตาม ๆ กัน

ภาพตลกปนเศร้า

            ผมอยากให้ท่านผู้ว่าฯ ดูภาพตลกปนเศร้าภาพนี้ ซึ่งผมนำมาจาก Clip https://goo.gl/bcxdm7จะเห็นได้ว่าเด็กนักเรียนหญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง กำลังเลาะไปตามรั้วเหล็กที่มีฐานที่สูงกว่าระดับน้ำเล็กน้อย เพื่อให้ตนเองพ้นจากการเปียกที่ถุงเท้าและรองเท้า เธอเดินไปได้สักระยะหนึ่ง เห็นรถวิ่งมา และลางสังหรณ์ของเธอก็คือ คลื่นน้ำจากรถยนต์ต้องตามมาเป็นระลอก ๆ แน่นอน เธอจึงถอยกลับไป แล้วพอจวนตัวก็ตัดสินใจปืนรั้วเหล็ก โดยยกขาทั้งสองข้างห้อยขึ้นมาให้พ้นจากคลื่นน้ำนั่นเอง

            อันที่จริงยังมีภาพเอน็จอนาถอื่น ๆ อีกมากในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ภาพชายคนหนึ่งเข็นรถจักรยานยนต์ที่น้ำท่วมเกือบถึงเบาะ ภาพตำรวจจราจรช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างขะมักเขเม้น ฯลฯ ปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้น ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็คงไม่คิดแกล้งคนกรุงอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ (แต่ป้องกันได้) แต่ป้องกันและแก้ไขให้ทันท่วงทีได้ แต่ประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการพูดของท่านผู้ว่าฯ หรือผู้มีอำนาจใด ๆ ก็ตาม ก็ควรดูไว้เป็นอุทาหรณ์ ว่าบางครั้งการพูดอะไรออกไป แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาได้

ใช้น้ำทิพย์แทนน้ำกรดแก้ปัญหาดีกว่า

            อันนี้ไม่ได้มุ่งไปตำหนิท่านผู้ว่าฯ แต่อยากจะยกเป็นตัวอย่าง เพราะต่อไปจะมีน้ำท่วมขังอีกหลายครั้งและอาจหนักกว่าครั้งนี้อีกมาก จึงไม่อยากให้ท่านพูดเช่นนี้อีก อย่างเช่น ท่านบอกว่า "ฝนชอบตกเวลาผมไม่อยู่" (http://goo.gl/pR0adq) มันเสียดแทงใจคนกรุงมากในแง่ที่แสดงถึงการขาดแผนการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงคนเดียว หรือบางคนไพล่ไปมองว่าท่านผู้ว่าฯ คงไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทย เพราะฝนตกน้ำท่วมออกจะบ่อยไป เป็นต้น

            หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ "ถ้าไม่อยากมีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมให้ไปอยู่บนดอย" (https://goo.gl/HrD6eU) ซึ่งภายหลังท่านก็ชี้แจงว่าท่านพูดเล่น แหมแต่ตอนนั้นหน้าตาขึงขังเอาเรื่อง ไม่ดูเหมือนพูดเล่น เป็นต้น ผมว่าประโยคหรือวลี "น้ำกรด" เหล่านี้ไม่ควรมี เพราะบาดหัวใจของคนที่ได้รับความเดือนร้อนน่าดู เราควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส แม้ในห้วงเฉพาะหน้า เราจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ แต่การลงพื้นที่ แสดงว่าใส่ใจ จะเป็นดั่ง "น้ำทิพย์" ชโลมใจ  ให้ชาวบ้านเห็นว่าผู้ว่าฯ ก็เห็นหัวชาวบ้านอยู่ เป็นต้น นี่เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ที่ไม่ควรพลาด อย่าให้ฝนหลงฤดู หรือแค่ฝนต้นหน้าฝน ทำให้ท่านเสียรังวัดนะครับ

กางแผนแก้ไขออกมา

            ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะส่วนท้องถิ่นหรือส่วนกลาง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้โปร่งใส อย่างคำถามที่มักมีคนถามกันมากก็คือ "อุโมงค์ยักษ์อยู่ไหน" ควรแสดงในแผนที่ให้เห็นชัดเจนไปเลย เพราะไม่เช่นนั้นคนจะจินตนาการไม่ออก  ระบบอุโมงค์ยักษ์ ถ้ามี หรือถ้าใช้ได้จริง ทำงานกันอย่างไร มีความเป็นไปได้ในการระบายน้ำได้เพียงใด ควรพานักข่าวไปดูให้เห็นกับตาในเวลาที่อุโมงค์ยักษ์ทำงานกันบ้าง ก็จะดีไม่น้อย

            นอกจากเรื่องอุโมงค์ยักษ์แล้ว เรามีแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (ขัง) อย่างไรบ้าง ชาวบ้านจะได้สามารถตรวจสอบได้ว่า แผนการเหล่านั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรืออย่างน้อยชาวบ้านจะได้อุ่นใจว่า เรามีระบบที่ดีเพียงพอ ไม่ได้แก้ไขปัญหาตามยถากรรม แบบ "มวยวัด" หรือเป็นการแก้ไขกันเฉพาะหน้าหรือ "ผักชีโรยหน้า" การสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนที่เชื่อถือและวางใจได้

การมีส่วนร่วมของประชาชน

            การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเพราะประชาชนในพื้นที่จะรู้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าข้าราชการหรือนักการเมือง (รวมทั้งนักการทหารที่มาทำงานบริหารราชการแผ่นดินแทนนักการเมืองด้วย) แผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงควรผ่านความเห็นชอบและให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสิน เช่น แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (ขัง) ในหมู่บ้านจัดสรร ในชุมรุมอาคารย่านหนึ่ง ในแขวงหนึ่ง ๆ ของแต่ละเขต เป็นต้น

            หลายท่านอาจไม่ทราบว่าในจำนวนเขต 150 เขตนั้น ความจริงยังแยกออกเป็นแขวงได้ประมาณ 150 แขวงอีกต่างหาก ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรและโครงการอาคารชุดอีกนับหมื่นโครงการที่ผมไปสำรวจไว้ตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนเหลานี้ การแก้ไขปัญหาก็จะเป็นจริง

ผังเมืองก็ควรให้ประชาชนตัดสิน

            ยกตัวอย่างเรื่องผังเมือง เช่น ที่ซอยร่วมฤดี ที่เดี๋ยวนี้มีสร้างอาคารสูงใหญ่มากมาย และมีผู้อยู่อาศัยรายหนึ่งร้องตามกฎหมายให้ทุบอาคารโรงแรมสูงใหญ่ทิ้งเสียเพราะผิดกฎหมาย แต่หากให้ท้องถิ่นตัดสินจริง ๆ ปัญหานี้คงไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้น แต่สามารถแก้ไขได้ เช่น ถ้าอำนาจในการวางผังเมืองเป็นของชาวซอยร่วมฤดีเมื่อ 50 ปีก่อน ชาวบ้านแถวนี้คงลงมติไม่ให้สร้างอาคารสูงแต่อย่างใด

            โดยนัยนี้อาคารสูงใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าโรงแรมแห่งนี้ก็คงไม่เกิด แต่เพราะเราไม่ได้ให้อำนาจประชาชน จึงต่างคนต่างสร้าง มือใครยาวสาวได้สาวเอา อย่างไรก็ตาม หากตอนนี้ให้ชาวบ้านลงมติกันว่าจะเอาตึกสูงหรือไม่ ผมก็เชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะลงมติเอาตึกสูง ไม่เอาข้อกฎหมายที่ใช้อยู่วันนี้แล้ว เพราะตอนนี้ราคาที่ดินแพงระยับ จะมาอาศัยอยู่ในย่านแออัดนี้ คงไม่ดีแน่ ยกเว้นพวกที่คุ้นชินกับที่แบบนี้เท่านั้น

ท่วมได้แต่ต้องแก้อย่างทันท่วงที

            ท่านเชื่อหรือไม่ว่าที่ถนนออร์ชาร์ด ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายชั้นนำของสิงคโปร์ มีห้างร้านตั้งอยู่เต็มไปหมด ชาวต่างชาติต้องไปท่องเที่ยวซื้อของที่นั่นกันเป็นอันมาก มีโรงแรมชั้นหนึ่ง สถานบันเทิง ฯลฯ ตั้งอยู่ในบริเวณนี้อย่างหนาแน่น มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม พร้อมต้นไม้ใหญ่น้อย ดูแล้วแสนรื่นรมย์ แต่ที่นี่ก็เคยถูกน้ำท่วมหนักมาตลอด 4 ปีซ้อน 2553-2556 (http://goo.gl/0piHPr) นี่ยังดีนะที่ประชาชนของเขาไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเขาลาออก!

            ขนาดสิงคโปร์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย คาดการณ์อะไรได้แม่นยำ วางแผนอะไรก็นำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมเสมอ ก็ยังเกิดน้ำท่วมในใจกลางเมืองได้ น้ำท่วมกระทั่งน้ำไหลเข้าไปในอาคารสรรพสินค้าที่มีชั้นใต้ดิน กลายเป็นน้ำตกเข้ามาภายในอาคาร เป็นภาพแปลกตายิ่ง แต่การที่ชาวสิงคโปร์ไม่ก่นด่ารัฐบาลหรือผู้ว่าฯ ของเขาก็คือ เขาแก้ไขปัญหาได้อย่างฉับไวมิชักช้า ชาวบ้านยังไม่ทันได้อ้าปากด่า เขาก็แก้ไขปัญหาจบสิ้นแล้ว กรุงเทพมหานครของเราก็ควรเอาเยี่ยงอย่างบ้าง

ผังเมืองกับการแก้น้ำท่วม

            ผังเมืองไทยที่ประกาศใช้ไปตั้งแต่ปี 2556 นั้น ไม่มีมาตรการที่เป็นชิ้นเป็นอันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเลย หากเกิดน้ำไหลหลากมากเช่นปี 2554 อีก กรุงเทพมหานครก็คงไม่รอด คงท่วมขังน้ำเช่นเคย มาตรการด้านผังเมืองอันหนึ่งก็คือการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แล้วยังสามารถวิ่งรถได้ด้วย เช่น กรณีริมแม่น้ำในกรุงโซล เขาก็สร้างถนนขนาด 6 ช่องจราจรในแต่ละฝั่งแม่น้ำ

            แต่นักผังเมืองไทยกลับไปเรียนมาแต่เปลือก เช่น ไปดูคลองช็องกเยช็อน (Cheong Gye Cheon) ที่แยกจากแม่น้ำฮัน (Han) กลับไปมองว่าเขารื้อทางด่วนคร่อมคลองเพื่อสร้างสวนสาธารณะริมคลอง โดยไม่ทราบความจริงว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัวทางด่วนจะพังอยู่แล้ว ต้องรื้อ  เดี๋ยวนี้เขาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินกันแล้ว และย่านใจกลางเมืองก็ย้ายไปย่าน "กังนำ" แล้ว เป็นต้น  การเข้าใจผิด ๆ จะนำไปสู่การเข้ารกเข้าพงได้ (อ่านรายละเอียดที่ http://goo.gl/GGhqMV)

เมืองน้ำก็รอดได้เช่นฮอลแลนด์

            เราจะอ้างว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ราบลุ่มริมน้ำ ยังไงน้ำก็ต้องท่วม ไมได้เลย ถ้าอ้างอย่างนี้ก็ต้องไปอยู่บนดอยตามที่ท่านผู้ว่าฯ เคยพูด (เล่น) ไว้ หรือไม่เราก็คงต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่บริเวณอื่นกันแล้ว แต่ความจริงในประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งหลายก็คือ เมืองหลวงย้ายไม่ได้ โดยเฉพาะเมืองหลวงทางเศรษฐกิจ ดูอย่างปารีส ลอนดอน โรม อยู่กันมาหลายร้อยหรือบางแห่งนับพันปี ก็ยังอยู่กันโดยไม่ได้หนีไปไหนแต่อย่างใด

            ดูอย่างฮอลแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์ จะพบว่าหลายบริเวณของประเทศนี้เป็นพื้นที่ ๆ ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำไป แต่เขาก็สามารถอยู่ได้ เพราะมีระบบเขื่อนที่ดี ระบบสูบน้ำที่ดี พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการแปรพื้นที่ดินที่ถูกกัดเซาะให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกใหม่ แต่ของไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ปรากฏว่าผืนดินของไทยถูกกัดเซาะกลายเป็นโฉนดใต้น้ำเป็นจำนวนมาก โฉนดอยู่ แต่ที่ดินไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีประโยชน์สำหรับมิจฉาชีพในการหลอกขายชาวบ้านอีกต่างหาก

            เราต้องวางแผนให้ดีกว่านี้ เริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องกลัว ที่ผ่านมาผิดพลาดตรงไหน ก็ต้องบอกประชาชนให้รู้ ให้เตรียมรับสถานการณ์ ไหน ๆ ท่านผู้ว่าฯ ก็มีสิทธิเป็นผู้ว่าฯ ได้ไม่เกิน 2 สมัย สมัยนี้จึงเป็นสมัยสุดท้ายแล้ว ท่านทิ้งทวนทำเพื่อชาวกรุงเทพมหานครเลยครับผม


เด็กนักเรียนน้อยแสนลำบากในวันน้ำท่วม (ขัง) 8 มิถุนายน 2558


สิงคโปร์ยังถูกน้ำท่วมเหมือนกัน เข้าไปในชั้นใต้ดินของห้างอีกด้วย


การจัดการน้ำท่วมอย่างมีบูรณาการ ประสบการณ์จากฮอลแลนด์

 

 

อ่าน 3,431 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved