อ่าน 1,048 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 31/2553: 1 มิถุนายน 2553
อสังหาริมทรัพย์เพื่อนบ้านกำลังเติบโตใหญ่

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          อสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านกำลังไปได้ด้วยดี ในขณะที่ของไทยอาจจะยังไม่ “พ้นพงหนาม” เนื่องจากปัจจัยทางการเมือง ทั้งนี้เป็นรายงานจากการเข้าประชุมนานาชาติ FIABCI
          ในช่วงวันที่ 26-28 พฤษภาคม ศกนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปร่วมประชุมสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ ซึ่งมีชื่อย่อในภาษาฝรั่งเศสว่า FIABCI ณ เมืองบาหลี ได้พบปะกับผู้เกี่ยวข้องในวงการ รวมทั้งได้รับข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องในการประชุมเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคนี้ จึงได้สรุปเป็น AREA แถลงฉบับที่ 31/2553 นี้

จาการ์ตา
          กรุงจาการ์ตาก็คล้ายกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือมีเมืองบริวารซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมหานครจาการ์ตาอีก 5 เมืองรวมประชากรเกือบ 10 ล้านคน ที่ผ่านมาการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาถูกยังมีไม่มากนัก เพราะความสามารถในการซื้อของประชาชนยังค่อนข้างจำกัด และเทคโนโลยีการก่อสร้างยังไม่ทันสมัยเท่าของไทย โดยเฉพาะเทียบกับกลุ่มพฤกษาเรียลเอสเตท ที่มีเทคโนโลยีดังกล่าว
          อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงจาการ์ตาในปัจจุบันขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากการพัฒนาอาคารสำนักงานใหม่ ๆ ในกรุงจาการ์ตาจำนวนมาก แตกต่างจากไทยที่มีการพัฒนาอาคารใหม่ ๆ ไม่มากนักในปัจจุบัน ในเมืองบริวารยังมีการสร้าง “เมืองใหม่” หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในย่านชานเมือง รวมทั้งการสร้างศูนย์ธุรกิจขนาดใหญ่ใจกลางเมืองบริวารต่าง ๆ เช่น เมืองบริวารที่ชื่อว่าเบอร์กาซี ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงจาการ์ตา

บาหลี
          บาหลีที่บอบช้ำจากระเบิดสังหารนักท่องเที่ยวไปมากมายในปี พ.ศ. 2545 และ 2548 กำลังเป็นคู่แข่งของไทย แต่เดิมบาหลีมีนักท่องเที่ยวเพียงปีละไม่ถึง 2 ล้านคน ในขณะที่ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวถึง 4 ล้านคน แต่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลง บาหลีมีชาวต่างประเทศไปเยือนมากกว่ากรุงมะนิลา ซึ่งมีผู้ไปเยือนประมาณ 0.7 ล้านคนต่อปีเท่านั้น บาหลีมีสายการบินที่บินตรงจากทั่วโลก และยังมีแผนที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่ทางด้านเหนือของเกาะอีกด้วย
          โรงแรมในบาหลีมีส่วนแบ่งถึง 22% ของโรงแรมทั่วประเทศอินโดนีเซีย จึงถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากที่สุดในบาหลี นอกจากนั้นในขณะนี้บาหลียังกำลังขยายตัวในอสังหาริมทรัพย์เชิงพักผ่อนในรูปแบบการขายบ้านพักตากอากาศในแนวราบเช่นที่พบเห็นตามเนินเขาต่าง ๆ รอบเกาะภูเก็ตเช่นกัน ไม่แน่ว่าอุตสาหกรรมสร้างบ้านตากาอากศขายจะมุ่งสู่บาหลีแทนที่ภูเก็ตหรือไม่

ปีนัง
         เมื่อ 50 ปีที่แล้ว อาจถือเป็นศูนย์กลางการเรียนแห่งหนึ่งสำหรับลูกหลานชาวจีนในประเทศไทย แต่ภายหลังได้เสื่อมความนิยมไปบ้าง ปีนังเป็นเมืองท่าสำคัญทางเหนือของมาเลเซีย มีชาวจีนอาศัยอยู่มากกว่าชาวมาเลย์ ปีนังในทุกวันนี้เน้นการพัฒนาอาคารสูง จนดูคล้ายฮ่องกงขนาดเล็ก
         นับตั้งแต่ปี 2545-2552 ราคาบ้านในมาเลเซียเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนในการลงทุนของปีนังเป็นเพียง 5% ต่อปี หากมีโอกาสไปดูงาน ปีนังนับเป็นแหล่งที่น่าสนใจในการดูงานทั้งอสังหาริมทรัพย์ประเภทสำนักงาน อาคารชุดพักอาศัยและบ้านแนวราบ คณะกรรมการสมาคม FIABCI ประจำปีนัง ซึ่งเคยมาดูงานที่ ดร.โสภณ จัดขึ้น ฝากแจ้งข่าวว่ายินดีต้อนรับคณะอสังหาริมทรัพย์จากไทยไปดูงานเป็นอย่างยิ่ง

มะนิลา
         กล่าวได้ว่า ฟิลิปปินส์เลียนแบบไทยในการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับตำบลทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกรุงมะนิลาก็มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคกันอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเอาที่ดินของรัฐโดยเฉพาะเขตทหารเดิมมาก่อสร้างในเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งเสริมการลงทุนในท้องถิ่น
         ผลที่ตามมาก็คือ มีการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอื่น ๆ กันขนานใหญ่ จำนวนหน่วยที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยไตรมาสละ 25,000 หน่วย และราว 20,000 หน่วยเป็นที่อยู่อาศัย
         หลังจากการเลือกตั้งใหญ่ที่รัฐบาลปัจจุบันสามารถกุมเสียงข้างมาก ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ในสมัยนางอาโรโยเป็นประธานาธิบดีก็ได้สร้างการเมืองที่เข้มแข็ง ทำให้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้นำในวงการอสังหาริมทรัพย์ในกรุงมะนิลายังให้ความเห็นว่านครมากาตี ซึ่งเป็นนครเศรษฐกิจหลักในกรุงมะนิลา ยังถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอาคารชุดพักอาศัยใจกลางเมือง

สิงคโปร์
         รัฐบาลสิงคโปร์สร้างที่อยู่อาศัยถึง 80% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในสิงคโปร์ ในขณะที่การเคหะแห่งชาติของไทยมีส่วนแบ่งในตลาดไม่ถึง 1% ดังนั้นประเด็นที่พึงพิจารณาสำหรับสิงคโปร์คงเป็นอสังหาริทรัพย์เชิงพาณิชย์ ที่มีลูกค้าสำคัญคือนักลงทุนจากต่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่าอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ขึ้นกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ที่ขึ้นกับประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก
         ตลาดอาคารสำนักงานสิงคโปร์มีค่าเช่าเฉลี่ยประมาณ 2,100 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน แต่ก็ยังน้อยกว่าฮ่องกงและโตเกียวที่ค่าเช่าอาคารสำนักงานชั้นดีเป็นเงิน 4,500 และ 6,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนตามลำดับ ในขณะที่ของไทยตกเป็นเงินเพียงตารางเมตรละ 500-800 บาท รัฐบาลได้จัดสรรที่ดินริมทะเลมาให้เอกชนประมูลไปสร้างอาคารสำนักงานใหม่ ๆ ทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็มีนักลงทุนจากต่างประเทศย้ายสำนักงานเข้าไปในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

         อาจกล่าวได้ว่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านกำลังเติบโตเข้าสู่นิมิตหมายใหม่ตามศักราชใหม่ ทั้งผิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็มีการเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลเสียงข้างมากที่เข้มแข็ง ส่วนรัฐบาลในมาเลเซียและสิงคโปร์ก็เข้มแข็งมากอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ต้องพะวงกับประเด็นทางการเมืองเช่นในประเทศ

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved