อ่าน 2,135 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 88/2554: 4 ตุลาคม 2554
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางพลังงานที่จำเป็นของไทย

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          นิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนหนึ่งเกลียดและกลัวมาก แต่ในความเป็นจริงพลังงานนิวเคลียร์ถูกและปลอดภัย ถ้านำมาใช้ ประเทศไทยจะเจริญกว่านี้ คนไทยจะลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้
          ท่านทราบหรือไม่ ในยุโรป อเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนไทยใฝ่ฝันอยากไปเที่ยวนั้น ต่างมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันเป็นจำนวนมาก เช่น ฝรั่งเศส ประเทศที่มีคนไปเที่ยวมากที่สุดในโลกถึงประมาณ 80 ล้านคนต่อปี มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 58 แห่ง อังกฤษมี 19 แห่ง สวิตเซอร์แลนด์แดนสวรรค์ที่หลายคนใฝ่ฝันจะไปเยือนก็มี 5 แห่ง แม้แต่เมืองโลซานที่ในหลวงเคยประทับ ก็เคยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยุโรปมีรวมทั้งหมด 187 แห่ง และมีแผนจะเพิ่มอีก 19 แห่งในเร็ววันนี้ ในเอเชียยังมีที่ญี่ปุ่น 54 แห่ง และเกาหลีใต้อีก 20 แห่ง คนที่ ‘ขี้กลัว’ จริง ๆ คงไม่กล้าเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้อีกต่อไป


โปรดดู: http://www.howtosurvive2012.com/htm_night/placs_01.htm

          ในประเทศเยอรมนีที่มีประชาชน (บางส่วน) ออกมาประท้วงให้ปิดโรงไฟฟ้า และนักการเมือง (บางคน) ก็ออกมารับลูกต่อเหมือนกับการเล่น ‘ปาหี่’ นั้น ก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ถึง 9 แห่ง ถ้าเยอรมนีไม่มีโรงไฟฟ้า พลังงานหลักที่จะนำมาใช้ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็คือไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง ที่คิดจะใช้ไฟฟ้าจากแหล่งทางเลือกอื่นยังผลิตได้ไม่มากนัก เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประท้วงของชาวเยอรมันต่อโรงไฟฟ้าใกล้ชายแดนฝรั่งเศส นี่ก็คงเป็นปาหี่อีกฉากหนึ่ง เพราะหากสามารถปิดโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ โรงไฟฟ้าฝรั่งเศสตามแนวชายแดนเยอรมนีก็ยังมีอีกมาก เยอรมนีก็คงไม่รอดอยู่ดีหากเกิดระเบิดขึ้น
          หลายท่านยัง ‘ฝันร้าย’ กับการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 ขณะนั้นผมได้รับทุนจากองค์การสหประชาชาติไปเรียนอยู่ที่เบลเยียม ครานั้นมีคนตาย 57 คน และ 20 ปีต่อมาคาดว่าจะมีคนตายเพราะมะเร็งจากนิวเคลียร์อีก 4,000 คน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือประชาชนเกือบทั้งหมดอพยพทัน แม้เมือง Pripyat ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่จะเป็นเมืองร้าง แต่กรุง Kiev ที่ตั้งอยู่ห่างไป 100 กิโลเมตร ก็ยังอยู่เป็นปกติ
          เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ก็เกิดระเบิดที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมา หนึ่งวันหลังจากผมกลับจากญี่ปุ่น (รอดอีกแล้ว) สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือ การระเบิดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีสึนามิที่ใหญ่โตสุดหยั่งคาด แต่ประเด็นสำคัญเกิดขึ้นจากความประมาทโดยแท้  แม้ไม่มีสึนามิ โรงไฟฟ้านี้ก็จะต้องระเบิดวันนี้วันพรุ่งอยู่แล้ว  มีรายงานข่าวว่า “บจก.เทปโก ยอมรับแล้ว แจ้งผลเท็จกรณีผลตรวจโรงไฟฟ้า . . . รับว่าไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ 33 ชิ้น ซึ่งมีอายุการใช้งานนาน ส่วนแผงจ่ายไฟฟ้าวาล์วควบคุมอุณหภูมิ ไม่ได้รับการตรวจเช็คสภาพนาน 11 ปี . . . 2 มี.ค. (ก่อนระเบิด) อุปกรณ์โรงไฟฟ้า ไม่ได้รับการตรวจเช็คสภาพและซ่อมบำรุงที่เหมาะสม . . . ส่งผลให้เครื่องปั่นไฟระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน . . . เมื่อ 9 ปีก่อน . . . ปิดเงียบการรั่วไหลของกัมมันตรังสีหลังแผ่นดินไหวเมื่อ 3 ปีก่อน . . .”  บางท่านอาจไม่ทราบว่าในบริเวณใกล้ ๆ กันก็มีโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง แต่ไม่มีโรงใดเสียหายเพราะแผ่นดินไหวเนื่องจากมีการตรวจสอบที่ดีอยู่เสมอ
          ความจริงอย่างหนึ่งก็คือ ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มีราคาถูกและก่อมลภาวะน้อยที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นประชาชนในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น คงมีข่าวเป็นมะเร็ง หรือโรคร้ายตายกันมากมาย แต่ในทางตรงกันข้าม ประชาชนในประเทศเหล่านี้กลับมีอายุขัยสูงกว่าประเทศไทยแทบทั้งสิ้น บางคนที่ต่อต้านบอกว่า ถ้ามีโรงไฟฟ้าในไทยจริง ก็ควรไปตั้งอยู่ที่หลังบ้านของพวกสนับสนุน นี่เป็นเพียงวาทกรรมนี้เพราะไม่มีใครเอาโรงไฟฟ้าไปตั้งหลังบ้านประชาชนอยู่แล้ว เขาต้องกันพื้นที่ไว้ระยะหนึ่ง และผมขออนุญาตนำภาพโรงไฟฟ้าในยุโรปที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบ้านเรือน โดยชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้อย่างเป็นปกติสุข


ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ มีบ้านผู้คน และไร่นาอยู่ใกล้ๆ อย่างเป็นปกติสุข

          บางท่านอาจไม่ทราบว่า ในเร็ววันนี้เวียดนามก็จะมี 2 โรง ห่างเพียง 500 กิโลเมตรจากประเทศไทย (ระยะทางราว ๆ กรุงเทพมหานคร-ขอนแก่น หรือ กรุงเทพมหานคร-ระนอง) จีนในบริเวณมณฑลทางใต้ก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว รวมทั้งที่กำลังก่อสร้างและกำลังวางแผนไว้อีกหลายแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ชายแดนเวียดนาม รวมทั้งเกาะไหหลำ ถ้าโรงไฟฟ้าในประเทศใกล้ ๆ เหล่านี้ระเบิด ประเทศไทยก็คงไม่รอด ยิ่งถ้าพม่า เขมร และลาว มีโรงไฟฟ้าแล้ว ไทยจะยังไม่ ‘ตาสว่าง’  ลืมตาดูความเป็นจริงของโลก ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
          บางท่านยังอาจกล่าวว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ไว้ใจคนไทยว่าจะดูแลโรงไฟฟ้าได้ดีเช่นในยุโรปและสหรัฐอเมริกาอยู่ดี ถ้าจะให้คนไทยเหล่านี้มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็อาจว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศที่เจริญแล้วมาดูแลก็ยังได้ แม้จะเป็นการ ‘ตบหน้า’ ผู้เชี่ยวชาญไทยในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในกรณีประเทศจีน เขาไม่ยืมจมูกฝรั่งหายใจ เขาพัฒนาการดูแลและพัฒนาโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ศึกษามาจากต่างประเทศเองอย่างต่อเนื่อง
          โดยสรุปแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ได้น่ากลัวเช่นที่เราถูกหลอกฝังหัวไว้แต่อย่างใด ดูได้จากคนญี่ปุ่น คนยุโรปและสหรัฐอเมริกาทั้งผอง ยังอยู่สุขสบายดี ไม่มีโรคภัยเพราะนิวเคลียร์แต่อย่างใด ถ้าไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ ป่านนี้ประเทศเหล่านี้คงยากไร้ลงในพริบตา แต่ถ้าเรากลัวกันจริง ๆ เราควรจะไปตั้งโรงไฟฟ้าห่างไกลผู้คน หรือเวนคืนที่ดินโดยจ่ายให้สูงกว่าราคาตลาดสัก 20% ให้ชาวบ้านได้กำไรมากกว่าขายในตลาดเปิด และมีการประกันชีวิตให้กับผู้คนแถวนั้นว่า หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ทางราชการยินดีจ่ายให้ศพละ 100 ล้านบาท เป็นต้น ถ้าตายด้วยนิวเคลียร์แล้วได้ 100 ล้าน ผมเองก็ยอม จะได้เอาเงินไว้ให้ญาติมิตร
          คิดให้ดีก่อนที่จะปฏิเสธนิวเคลียร์

อ้างอิง:
Anti-nuclear 'die in' on Franco-German border. http://www.nuclearpowerdaily.com/reports/Anti-nuclear_die_in_on_Franco-German_border_999.html
Asia's Nuclear Energy Growth. http://www.world-nuclear.org/info/inf47.html
Chernobyl disaster. http://en.wikipedia.org/wiki/Chernobyl_disaster
Fukushima Daiichi nuclear disaster. http://en.wikipedia.org/wiki/Fukushima_Daiichi_nuclear_disaster
Nuclear Power in China. http://www.world-nuclear.org/info/inf63.html
Nuclear power plants in Europe. http://www.euronuclear.org/1-information/maps.htm
Vietnam's first nuclear power plants to be protected by 15m dike. http://www.lookatvietnam.com/2011/03/vietnams-first-nuclear-power-plants-to-be-protected-by-15m-dike.html

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved