ปัญหา "บ้านว่าง" ในอังกฤษ
  AREA แถลง ฉบับที่ 19/2551: วันที่ 12 กันยายน 2551

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4
AREA แถลง : 12 กันยายน 2551
ปัญหา “บ้านว่าง” ในอังกฤษ
อาคารที่ดินวันนี้, วันอาทิตย์ที่ 28 ก.ย. - อาทิตย์ที่ 5 ต.ค. 2551 หน้า 46

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          ที่อังกฤษ โดยมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ได้สำรวจภาวะ “บ้านว่าง” คือบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่มีใครเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่งในเขตอีสท์มิดแลนด์ของประเทศอังกฤษ ในประเทศไทย ผมเคยสำรวจบ้านว่างเมื่อปี 2538 และ 2541 โดยพบบ้านว่างถึง 350,000 หน่วยหรือประมาณ 14% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลขณะนั้น ซึ่งถือเป็นการเตือนภัยเศรษฐกิจครั้งสำคัญ
          อย่างไรก็ตามการสำรวจที่อังกฤษต่างจากในกรุงเทพฯ คือไม่ได้ไปสำรวจทุกโครงการ แต่เป็นการสำรวจด้วยแบบสอบถามเท่านั้น แต่เนื้อหาและผลการสำรวจก็มีความน่าสนใจเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ
          บ้านว่างในพื้นที่ศึกษาส่วนมากเป็นทาวน์เฮาส์และบ้านแฝด ซึ่ง 58% สร้างมาตั้งแต่ปี 2483 และ 88% อยู่ในเขตเมือง
ผู้ที่ซื้อหรือสร้างเพื่ออยู่อาศัยมีเพียง 35% มีอีก 31% ที่ซื้อเพื่อการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ 18% ได้รับมรดกตกทอดมา นอกนั้นเป็นเหตุผลอื่น
          มีเจ้าของบ้านเพียง 19% ที่คิดจะย้ายเข้าไปอยู่เองในอนาคต ที่เหลือต้องการขายหรือให้เช่าเป็นหลัก (61%) แสดงให้เห็นว่า การครอบครองบ้านว่างนั้น ไม่ได้เพื่อการใช้สอย แต่เพื่อการลงทุเป็นสำคัญในปัจจุบัน
          เจ้าของบ้านราวครึ่งหนึ่ง (48%) เชื่อว่าบ้านของตนยังจะว่างต่อไปอีกไม่เกิน 6 เดือน ที่เหลือคิดว่าคงจะนานกว่านั้นหรือไม่อาจทราบได้แน่ชัด และขณะนี้มีบ้านว่างประมาณสองในสาม (63%) กำลังติดประกาศขายหรือให้เช่าอยู่ แต่ยังไม่สำเร็จ และหลายรายเห็นว่าภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ตกต่ำลงในขณะนี้ ทำให้การขายบ้านเก่ายิ่งยากเข้าไปใหญ่
          การที่บ้านว่างยังไม่สามารถขายได้ก็เพราะมีสภาพทรุดโทรม จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงก่อน (27%) นอกนั้นเป็นเพราะเหตุผลอื่น อย่างไรก็ตามทรัพย์สินประมาณ 63% กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้น
          การที่มีบ้านว่างอยู่ในพื้นที่อาจเป็นปัญหาต่อตัวทรัพย์สินเองในแง่ที่ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง การบุกรุก อัคคีภัย และสภาพความเสื่อมโทรม เป็นต้น และส่งผลกระทบต่อชุมชนในแง่การเป็นที่ส้องสุมของคนจรจัด ทำให้มูลค่าของทรัพย์สินโดยรอบลดลง และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ปล่อยให้บ้านว่างไว้โดยไม่ได้ช่วยตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัย เป็นต้น
          เจ้าของบ้านว่างราวสองในสามเคยติดต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับบ้านว่างของตน โดยส่วนมากติดต่อในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เจ้าของทรัพย์สินอยากให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือในการสนับสนุนเงินทุน (กู้ยืม) เพื่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อให้สามารถขายหรือให้เช่าต่อไป
          ในเชิงนโยบายรัฐบาลอาจซื้อทรัพย์สินเหล่านี้ ซึ่งน่าจะมีราคาถูกมา “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ” ขายใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รัฐบาลยังควรทำการสำรวจบ้านว่างให้มีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการวางแผนเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
          สำหรับในประเทศไทยนั้น นับแต่ที่ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA ได้รับมอบหมายจากทางราชการให้ทำการศึกษาเรื่องนี้เมื่อปี 2541 ทางราชการก็ไม่เคยทำการสำรวจข้อมูลนี้อีกเลย ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอิทธิพลของผู้มีส่วนได้เสียรายใหญ่ที่เข้าใจว่าข้อมูลที่มีค่ามีประโยชน์นี้จะกระทบการขายบ้านใหม่ในตลาด นอกจากนี้ยังอ้างว่ากลัวชาวบ้านตกใจที่รู้ข้อมูลจำนวนบ้านว่างที่ยังมีอยู่มหาศาล โดยไม่นำพาต่อการเคารพวิจารณญาณของชาวบ้านหรือผู้บริโภคโดยตรง ยังผลให้ชาวบ้านขาดการเห็นโอกาสการซื้อบ้านมือสองที่ยังมีอยู่มากมาย

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

อ่าน 2,186 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved