อ่าน 1,398 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 112/2554: 12 ธันวาคม 2554
ฟลัดเวย์ และแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          จากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา หลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลได้นำเสนอแนวคิดการสร้างฟลัดเวย์ แต่การจะทำครบวงจรแก้ปัญหาได้จริงนั้นยังรวมทั้งการปรับปรุงคูคลองที่ขาดประสิทธิภาพ การสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลหนุนในอ่าวไทย ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ อย่างมีบูรณาการ
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ดังนี้:
          1. เนื่องจากในบางปีโดยเฉาะปี พ.ศ.2554 นี้ มีปริมาณน้ำมากจนแม่น้ำและคูคลองระบายน้ำไม่ทัน จึงมีข้อเสนอให้สร้างแม่น้ำเจ้าพระยาสอง หรือการสร้างฟลัดเวย์ (Flood Way หรือ Water Way) มาระบายน้ำ
          2. อย่างไรก็ตามประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือคูคลองต่าง ๆ ขาดการขุดลอก บำรุงรักษาและติดตั้งระบบระบายน้ำ จึงทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วย
          3. ที่ผ่านมาไม่ได้มีการก่อสร้างฟลัดเวย์ก็เพราะติดขัดการเวนคืน ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง และประชาชนไม่ยินยอม เนื่องจากแต่เดิมการเวนคืนจ่ายค่าทดแทนต่ำและช้า แม้ในปัจจุบันจะจ่ายค่าทดแทนตามราคาตลาด และอาจยังไม่ได้ชดเชยค่าความเสียหายอื่นอย่างสมเหตุสมผล ประชาชนจึงยังไม่ยอมรับการเวนคืน
          4. ในอีกแง่หนึ่งการที่มีน้ำมากและระบายลงสู่ทะเลนั้น อาจเป็นการสูญเสียทรัพยากรน้ำไปอย่างน่าเสียดาย ทางออกหนึ่งก็คือการสร้างเขื่อนกับเก็บน้ำเพิ่มเติมเพื่อการใช้ประโยชน์ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามปัญหานี้ติดขัดที่การคัดค้านของกลุ่มหรือขบวนการเอ็นจีโอจำนวนหนึ่ง ปัญหานี้อาจแก้ไขได้ด้วยการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมและการทำประชามติกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแทนการฟังคำเรียกร้องจากกฎหมู่กลุ่มใด ๆ
          5. การใช้พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือ Flood Plain ได้ดำเนินการมาโดยตลอด โดยจะสังเกตว่าในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ที่ผ่านมาประชาชนจำยอมเพราะเป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว แต่ในปีนี้พื้นที่หลายแห่งถูกน้ำหลากเข้าใส่ทั้งที่ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยว จนสร้างความเสียหายมหาศาล
          6. อย่างไรก็ตามการหวังถือเอาพื้นที่ชานเมือง เช่น รังสิต ลำลูกกา หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ฯลฯ เป็นพื้นที่รองรับน้ำไปด้วย คงเป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่แบบเจ้าขุนมูลนาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเจ้าของพื้นที่อย่างไม่อาจรับได้ การเวนคืนก่อสร้างฟลัดเวย์หรือเพื่อก่อสร้างแก้มลิง หรือขุดบึงกักเก็บน้ำ น่าเป็นทางออกที่ดีกว่าการถือวิสาสะดังกล่าว
          7. การสร้างฟลัดเวย์ ขุดลอกคูคลอง สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แก้มลิง และอื่น ๆ ก็ยังอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในเขตเมือง เพราะน้ำยังเอ่อท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ การสร้างเขื่อนริมฝั่งแม่น้ำจึงเป็นอีกทางออกหนึ่ง เขื่อนสูงขนาด 5 เมตรโดยมีถนนอยู่ด้านบนด้วยหรือไม่ก็ตามอาจต้องมีฐานกว้างประมาณ 20-40 เมตร เขื่อนนี้ยังสามารถใช้เป็นถนนหรือเป็นแนวสวนสาธารณะตลอดแนว เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง
          8. การจะสร้างเขื่อนนี้สำเร็จจำเป็นต้องเวนคืนบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ระเกะระกะ ตลอดจนบ้านคหบดี ส่วนราชการต่าง ๆ และเพื่อเป็นการลดทอนปัญหาการเวนคืน พื้นที่บางส่วนของเขื่อนอาจสร้างอยู่ในแม่น้ำ การเวนคืนนี้ยังอาจรวมถึงที่ดินที่ตั้งอยู่ถัดจากตัวเขื่อนบางส่วนเพื่อนำมาจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ถูกเวนคืนให้สามารถอยู่ในที่ใกล้เคียงโดยไม่จำเป็นต้องย้ายออกไปไกลจนเกินไป
          9. การที่ประเทศจำเป็นต้องป้องกันพื้นที่ธุรกิจและที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองหรือเขตต่อเมืองให้ดีด้วยการสร้างเขื่อนริมแม่น้ำนั้นก็เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นเสมือนสมองหรือศูนย์รวมประสาทของประเทศ อวัยวะส่วนอื่นอาจถูกน้ำท่วมขังบ้าง แต่ถ้าใจกลางเมืองได้รับความเสียหาย ประเทศชาติก็เสียหายไปด้วย ลูกหลานของคนชนบทจำนวนมหาศาลที่ทำงานส่งเงินไปต่างจังหวัด ต่างก็ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้เอง
          10. ลำพังแนวทางการแก้ไขปัญหาข้างต้น จะยังขาดประสิทธิภาพ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุน ดังนั้นโครงการขนาดมหึมาในการสร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทย ตั้งแต่แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน เขื่อนนี้อาจเหมือนประเทศในยุโรปที่สามารถเปิดปิดได้ แม้การก่อสร้างจะใช้เงินมหาศาล แต่ก็คุ้มค่าหากสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และยังอาจคืนทุนด้วยการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
          11. อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนเช่นนี้อาจถูกกลุ่มเอ็นจีโอขัดขวางเช่นกัน รัฐบาลจึงควรทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างกว้างขวาง ให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลงประชามติ ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่จะเห็นด้วยเพราะเป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายร่วมกัน
ทางด่วน
          12. ผังเมืองกรุงเทพมหานครที่กำลังร่างอยู่นี้ก็ไม่ได้มีประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม ผังเมืองปริมณฑลบ้างก็หมดอายุ บ้างก็ไม่ประสานกับส่วนอื่น ๆ ทำให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ท้องถิ่นต่าง ๆ ปล่อยให้มีการก่อสร้างผิดกฎหมายโดยเฉพาะในพื้นที่ห้ามต่าง ๆ ซึ่งคงเป็นเพราะข้าราชการขี้ฉ้อบางส่วนสมรู้ร่วมคิด ดังนั้นรัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดทำผังเมืองเพื่อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
          13. การสร้างถนนยกระดับออกไปสู่ชานเมือง จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่กำลังอยู่อาศัยในย่านชานเมือง ประหยัดน้ำมันและค่าใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของเมืองได้รับการเชื่อมต่อ แม้ในภาวะน้ำท่วมก็ยังสามารถใช้สัญจรและขนส่งสินค้าได้ รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงควรดำเนินการ
          14. รัฐบาลควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเวนคืนเพื่อการก่อสร้างสาธาณูปโภคป้องกันน้ำท่วม ว่าเป็นความจำเป็นของประเทศชาติและส่วนรวม โดยให้ผู้ถูกเวนคืนที่ได้รับค่าทดแทนที่เหมาะสม รวดเร็ว และช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามสมควร ในขณะเดียวกันจะให้ฝ่ายใดมาอ้างสิทธิส่วนตน สิทธิชุมชนเพื่อกีดขวางการเวนคืนเพื่อส่วนรวมไม่ได้ ทุกฝ่ายควรยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
          ในขณะนี้รัฐบาลจึงควรระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนและระดมกำลังดำเนินการต่าง ๆ ข้างต้นให้สำเร็จโดยเร็ว หากปล่อยเนิ่นนานไป จะกลายเป็น “คลื่นกระทบฝั่ง” คือปล่อยผ่านแบบเลยตามเลยโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved