อ่าน 1,215 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 118/2554: 28 ธันวาคม 2554
ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเดือนตุลาคมตกอีกแล้ว

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          สถานการณ์ราคาบ้านในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เดือนตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุด ตกต่ำลงอีก 0.2% แสดงนัยเลวร้ายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังไม่ฟื้นตัว และส่งผลถึงกำลังซื้อและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย
          สำนักงานการเงินเคหะการแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Housing Finance Agency ได้ออกแถลงการณ์ถึงภาวะราคาที่อยู่อาศัย (บ้านแนวราบและห้องชุด) ในสหรัฐอเมริกา และศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้นำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ราคาล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2554 ลดลง 0.2% ทั่วประเทศ ในขณะที่เดือนก่อนหน้า (กันยายน 2554) ราคาเพิ่มขึ้น 0.4% ทำให้ราคาบ้านในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2553-2554) ลดลง 2.8%  หรือลดลง 19.2% นับแต่เดือนเมษายน 2550 (4 ปีครึ่งที่แล้ว) ซึ่งเป็นเดือนที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุด ราคา ณ เดือนล่าสุด (ตุลาคม 2554) เท่ากับราคา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2547 หรือประมาณ 3 ปีก่อนเกิดวิกฤติ
          การลดลงของราคาที่อยู่อาศัยในเดือนตุลาคม 2554 นั้น นับว่าลดลงเกือบทั่วประเทศ ยกเว้นกลุ่มมลรัฐทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น ดาโกตาเหนือ ดาโกตาใต้ เนบราสกา กลุ่มมลรัฐทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เช่น โอกลาโฮมา เท็กซัส รวมทั้งกลุ่มมลรัฐทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มิสซิสซิปปี เทนเนสซี อะลาบามา เป็นต้น แสดงว่ามลรัฐที่ไม่ค่อยมีการเพิ่มของราคามักไม่ค่อยตกต่ำมากนักนั่นเอง
          อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ราคาที่อยู่อาศัยได้ขยับตัวสูงขึ้นมาบ้าง แต่หากนับรวมถึงเดือนตุลาคม 2554 เป็นเวลา 8 เดือน นับว่าราคาค่อนข้างทรงตัว ไม่ได้เสื่อมทรุดมากนัก แต่ราคาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แสดงนัยว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังไม่ฟื้นตัว การที่จะหวังพึ่งสหรัฐอเมริกาในการลงทุนต่าง ๆ จึงมีจำกัด
          อาจกล่าวได้ว่าราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาตกต่ำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 เป็นต้นมา จนต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2554 เป็นเวลาเกือบ 4 ปี และแม้ในช่วง 4 ปีนี้จะมีการกระตุกของราคาขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในช่วง “ขาลง” ราคาไม่ได้เพิ่มขึ้น และขณะนี้ก็ยังไม่เห็นการฟื้นตัวนัก อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวได้ปรากฏขึ้นเป็นแห่ง ๆ บ้างเช่นกัน
          ในกรณีนี้บางท่านอาจเห็นว่าควรไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากราคาถูก แต่ในความเป็นจริง หากซื้อบ้านในสหรัฐอเมริกา เจ้าของต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละประมาณ 2% ซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละจังหวัด (County) ของแต่ละมลรัฐ โดยหากบ้านในสหรัฐอเมริการาคาเฉลี่ย 10 ล้านบาท ก็จะต้องเสียภาษีประมาณ 200,000 บาทต่อปี ในขณะที่ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ไม่ต้องเสียภาษีนี้เพราะประเทศไทยยังไม่จัดเก็บ นอกจากนี้ หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ทายาท จะต้องเสียภาษีมรดกอีก 30% เช่นหากบ้านดังกล่าวราคา 10 ล้านบาทในขณะนี้ หากอีก 30 ปีข้างหน้าราคาเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท ก็จะต้องเสียภาษีประมาณ 15 ล้านบาท เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะซื้อบ้านในสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนสมควรพิจารณาถึงข้อจำกัดนี้ด้วย

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved