อ่าน 2,329 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 81/2555: 17 กรกฎาคม 2555
การประเมินความพร้อมหลังการเปิด AEC

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากประเทศต่าง ๆ ทั่วอาเซียนต่างเห็นว่าเศรษฐกิจปี 2555 ดีกว่า 2 ปีก่อน และจะดีขึ้นอีกในปี 2557 ก่อนเปิด AEC ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นกัน และทุกประเทศเห็นว่าการเปิด AEC จะเป็นประโยชน์ร่วมกันแต่ก็ยังมีความเป็นห่วงต่อการแข่งขันอยู่เช่นกัน
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งอาเซียน ณ ประเทศบรูไน ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2555 จำนวนเกือบ 100 คนจากทั้งหมดเกือบ 200 คน ต่อประเด็นความพร้อมในการเปิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ.2558 และความเห็นเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยพอสมควร
          ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในภูมิภาคนี้ ให้ความเห็นว่าเมื่อเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจ พ.ศ.2553 กับปัจจุบัน 56% ประเมินว่าปัจจุบันดีกว่า มีเพียง 7% ที่เห็นว่าแย่ลง ที่เหลือ 36% บอกว่าเหมือนเดิม สำหรับในนายละเอียด ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากบรูไน สิงคโปร์ และไทย มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังแทบไม่เปลี่ยนแปลง แต่ประเทศอื่น ๆ กลับมองว่าสถานการณ์ดีขึ้นเป็นหลัก และเมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2557 ส่วนใหญ่ 67% บอกว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น มีเพียง 4% ที่คิดว่าจะเลวร้ายลง อย่างไรก็ตามผู้แทนจากประเทศไทยส่วนใหญ่เห็นว่าจะยังคงเหมือนเดิม
          ต่อกรณีตลาดอสังหาริมทรัพย์ พบว่า 63% คิดว่าสถานการณ์ตลาดดีขึ้นกว่าปี พ.ศ.2553 อย่างไรก็ตาม ราว ๆ ครึ่งหนึ่งของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากบรูไนและไทย คิดว่าสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองในไทย และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบรูไน ยังไม่กระเตื้องขึ้นนั่นเอง และเมื่อพิจารณาถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ ณ พ.ศ.2557 พบว่าส่วนใหญ่ 66% จากแทบทุกประเทศระบุว่าสถานการณ์น่าจะดีกว่าปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากประเทศไทยยังเห็นว่าตลาดยังจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักใน 2 ปีข้างหน้า
          ในแง่ของความน่าเชื่อถือทางวิชาชีพ หากวิชาชีพแพทย์ ได้รับความน่าเชื่อถือสูงสุดถึง 100% วิชาชีพอื่นจะมีระดับความน่าเชื่อถือกี่เปอร์เซ็นต์  ผลการสำรวจพบว่า ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินประเมินวิศวกรอยู่ที่ 80% ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเองอยู่ที่ 77% นักกฎหมายอยู่ที่ 75% และนายหน้าอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 68%  ทั้งนี้คงเป็นเพราะอาชีพนายหน้ายังไม่ได้มีการควบคุมอย่างจริงจังในประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทย
          ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า 62% เห็นว่าน่าจะส่งผลในทางบวกต่อประเทศของตนเอง อย่างไรก็ตามในประเทศเช่นไทย เวียดนามดูเหมือนจะมีความห่วงใยเช่นกันต่อการเข้ามาแข่งขันทางการบริการวิชาชีพจากประเทศอื่น และเมื่อถูกถามถึงความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขันใน AEC ปรากฏว่า เวียดนามกลับมีความพร้อมที่สุดถึง 86% จาก 100% รองลงมาคือมาเลเซีย ได้ 72% อันดับสามคือไทย 67% และอินโดนีเซีย 63% บรูไนและฟิลิปปินส์ ดูมีความพร้อมต่ำกว่าเพื่อนคือได้ 58% และ 57% ตามลำดับ
          ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านจะกรีฑาทัพเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้โดยพิจารณาจากว่ากรุงเทพมหานครมีจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับกรุงจาการ์ตา กรุงพนมเปญ กรุงมะนิลา และนครโฮชิมินห์ นอกจากนั้นในพื้นที่ตากอากาศเช่นพัทยา สมุย ภูเก็ตและหัวหิน ก็มีต่างชาติสนใจมาลงทุนเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved