อ่าน 4,379 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 133/2556: 3 ตุลาคม 2556
        ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่หนุนเขื่อนแม่วงก์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          กรณีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ คาดว่าประชากรในจังหวัดนครสวรรค์สวนใหญ่ส่วนใหญ่ถึง 2:1 สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
          ตามที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2556 โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ได้ร่วมออกสำรวจเอง ได้ผลสรุปสำคัญดังต่อไปนี้:         
          1. การสำรวจนี้ครอบคลุมอำเภอเมือง เทศบาลนครนครสวรรค์ อำเภอโกรกพระ อำเภอลาดยาว เทศบาลตำบลลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง รวมประชากรทั้งหมด 458, 834 คน โดยประมาณว่ามีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจำนวน 344,736 คน หรือ 75% ของประชากรทั้งหมด ผลการสำรวจพบว่าประชาชน 57% ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ และ 27% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตามหากไม่รวมกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ สัดส่วนระหว่างผู้สนับสนุน กับผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน จัดเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ หากประมาณการเป็นจำนวนประชากรจะมีผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนจำนวน 238,486 คน และผู้คัดค้าน 106,250 คน จากทั้งหมด 344,736 คน
          2. กลุ่มประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ และในเขตเทศบาลตำบลลาดยาว แต่ในเขตอื่น ๆ ประชาชนทั่วไปส่วนมากจะสนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยท้องที่ที่สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนอย่างล้นหลาม ได้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอลาดยาว
          3. ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนให้เหตุผลสำคัญเกี่ยวกับความสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ความไม่เหมาะสมของสถานที่ก่อสร้างเขื่อน ความรักและสงสารสัตว์ป่า โอกาสในการทุจริตของโครงการ และความไร้ประสิทธิผลของเขื่อนที่คาดว่าจะก่อสร้างขึ้น อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าที่คาดว่าจะสูญเสียก็มีพื้นที่ขนาดเล็ก คือใหญ่กว่าประมาณ 2 เท่าของเขตสาทร กรุงเทพมหานครเท่านั้น
          4. สำหรับผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนให้เหตุผลถึงการป้องกันปัญหาน้ำท่วม และการมีน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมในฤดูแล้ง โดยได้วิงวอนให้สังคมเห็นแก่ความทุกข์ยากของเกษตรกรมากกว่าสัตว์ป่า แต่ทั้งนี้หากไม่มีการบริหารและจัดการน้ำที่ดี ก็อาจไม่ได้ประสิทธิผลตามที่คาดหวัง
          5. จะสังเกตได้ว่าผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนจะเป็นเกษตรกรเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเกษตรกรในบางพื้นที่ที่ไม่ได้ผลกระทบก็ไม่เห็นควรให้มีการก่อสร้างเขื่อนเช่นกัน สำหรับผู้คัดค้านส่วนมากเป็นผู้ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรืออยู่ในเขตเมือง เห็นว่าตัวเองไม่เดือดร้อนและเกรงกลัวการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และสัตย์ป่าอย่างไม่มีวันกลับมา
          สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างให้ข้อมูล นอกจากนี้ควรให้มีการลงประชามติในหมู่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียงที่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้
          นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเขื่อนที่คิดจะจัดสร้าง ทางราชการยังควรพัฒนาคลองชลประทาน คลองส่งน้ำขนาดใหญ่ รวมการทั้งขยายและขุดลอกคูคลองในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างฝาย หรืออ่างเก็บน้ำที่มีประสิทธิผลเพิ่มเติม
          สำหรับรายละเอียดของผลการสำรวจนี้จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved