อ่าน 3,567 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 3/2557: 7 มกราคม 2557
เขื่อน (รัชชประภา) มีประโยชน์อนันต์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          กระแสต้านเขื่อนแม่วงก์ ทำให้ผมหันมาศึกษาเกี่ยวกับเขื่อน และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ผมได้มีโอกาสไปพบปะกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในบริเวณที่สร้างเขื่อนรัชชประภา ได้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่ดียิ่งของการสร้างเขื่อน กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเขื่อนมีประโยชน์ต่อชีวิตคน สัตว์และป่าอย่างแท้จริง
          เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มต้นการก่อสร้าง พ.ศ. 2525 และเปิดใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2531 มีความสูง 94 เมตร ยาว 716 เมตร กั้นแม่น้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน มีความจุ 5,638.6 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่อ่าง 185 ตร.กม. ใช้ค่าก่อสร้างเพียง 5,095 ล้านบาท ประโยชน์ของเขื่อนประกอบด้วย
          1. การผลิตไฟฟ้า ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
          2. การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช ส่งผลให้พื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ สามารถทำนาปรัง และปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดี
          3. การบรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี
          4. การประมงในอ่างเก็บน้ำ
          5. การท่องเที่ยวโดยภูมิประเทศเป็นเสมือน "กุ้ยหลินเมืองไทย" ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 70,000 คน
          6. การแก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็มในลำน้ำพุมดวง-ตาปี ในฤดูแล้ง
          7. การประปา เป็นต้น
          ผมได้พบกับคุณสิทธิ ตระการภาสกุล ท่านผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.2 (แก่งเชี่ยวหลาน) ท่านกล่าวว่าสัตว์ป่าต่าง ๆ ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในพื้นที่เขื่อนและป่าแห่งนี้ ท่านประเมินดูแล้วการมีเขื่อนรัชชประภาดีกว่าไม่มีเขื่อน ย้ำว่าเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าและการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านที่ถูกโยกย้ายก็ยินดีย้าย เพราะมีการจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม อย่างไรก็ตามน้ำในเขื่อนยังใช้ไม่ได้อย่างมีประสิทธิผลนัก ยังมีน้ำปล่อยทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทางราชการกำลังมีดำริที่จะต่อท่อน้ำจากเขื่อนไปใช้สำหรับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
          สำหรับชาวบ้าน ผมได้พบกับคุณศักดิ์สิทธิ์ โกหนด ท่านเป็นยามรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เขื่อนรัชชประภา แต่เดิมท่านอยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนเดิม โดยได้ย้ายรวมกันมา 300-400 ครัวเรือน ท่านชอบอยู่ที่เดิม เพราะที่เดิมสามารถบุกเบิก (บุกรุก) ที่ดินได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งคงจะไม่มีหนี้เช่นที่เป็นอยู่ประมาณ 30,000 บาท แต่ที่ใหม่ทางราชการจัดสรรที่ดินให้เพียง 19 ไร่ อย่างไรก็ตามในอีกแง่หนึ่งหากให้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมคงอยู่ได้ลำบากเพราะขาดสาธารณูปโภค
          ชาวบ้านอีกรายหนึ่งคือคุณปราณี ศึกเสือ ซึ่งปัจจุบันอยู่บ้านเชี่ยวหลาน หมู่ 4 ต เขาพัง อ.บ้านตาขุน ท่านได้ประเมินไว้ว่าในปัจจุบันการอยู่ในที่ใหม่ดีกว่าเพราะมีโรงพยาบาล โรงเรียน ความปลอดภัย รวมทั้งความสะดวกสบายอื่น ๆ สมัยที่อยู่ในป่าต้องเดินราว 10 กิโลเมตรไปกลับโรงเรียน ผู้ที่ถูกเวนคืนและย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านนี้มีการขายต่อไปบ้างแต่เป็นเพียงส่วนน้อย อาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านมีความพึงพอใจสำหรับการย้ายมาอยู่ในชุมชนใหม่ และมีโอกาสดีสำหรับอนาคตของลูกหลานมากกว่า
          และสุดท้ายผมยังได้พบคุณไพรัตน์ นาคเกลี้ยง และคุณชุมพล ช่วยสงฆ์ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ต เขาพัง ซึ่งกำลังต่อเรือเร็วเพื่อการตรวจการเอง ท่านยังต้องออกค่าใช้จ่ายเองบางส่วนในการปฏิบัติงาน ซึ่งนับว่าเป็นความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ท่านทั้งสองก็เห็นเช่นเดียวกับคุณสิทธิที่ว่าการมีป่าไม้ช่วยลดทอนการบุกรุกทำลายป่า และการอพยพประชาชนออกมาจากป่า จะช่วยรักษาป่า หาไม่ประชาชนจะบุกรุกครอบครองป่าไม่จบสิ้น อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนก็มีข้อเสียคือทำให้สัตว์บางชนิด หายไปจากป่านี้ เช่น ปลา หอยมุก และนก เป็นต้น ซึ่งคงอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่มีสภาพใกล้เคียงกันแทน แต่โดยสรุปแล้วก็ยังเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ซึ่งยังช่วยให้การดูแลสัตว์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้สัตว์ป่าขยายพันธุ์
          กรณีศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การสร้างเขื่อนมีประโยชน์ไม่เฉพาะต่อมนุษย์ แต่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่าและป่าไม้โดยเฉพาะ ค่าก่อสร้างเขื่อนรัชชประภานี้เป็นเงิน 5,095 ล้านบาทในปี 2525 ซึ่งสูงกว่ากรณีเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งจะสร้างในยุคเดียวกันที่เคยประมาณการไว้ 3,761 ล้านบาท แต่ปัจจุบันหากสร้างเขื่อนแม่วงก์ต้องใช้เงิน 13,000 ล้านบาท แล้ว ดังนั้นหากการสร้างเขื่อนรัชชประภาไม่ได้ดำเนินการ ปัจจุบันก็ต้องใช้เงินถึง 17,611 ล้านบาททีเดียว การสร้างเขื่อนน่าจะคุ้มทุนได้ในปีที่ 14 ของการลงทุน*
          การสร้างเขื่อนรัขชประภาและเขื่อนมากมายในประเทศไทย จึงยังประโยชน์อย่างเอนกอนันต์และคุ้มค่าแก่การลงทุนเป็นอย่างยิ่ง

* AREA แถลง ฉบับที่ 151/2556: 25 ตุลาคม 2556 ถ้าได้สร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี พ.ศ.2525 ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement592.htm

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved