อ่าน 1,114 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 8/2553: 9 กุมภาพันธ์ 2553
ขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          วงการพัฒนาที่ดินของไทยโดยเฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีขนาดใหญ่มาก ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงขอสรุปภาพรวมเพื่อให้เข้าใจถึงขนาดตลาดที่อยู่อาศัยไว้เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจน รวมทั้งได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มาควบคุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย
          ณ สิ้นปี 2552 ปรากฏว่ามีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 57,604 หน่วย หรือรวมมูลค่า 182,994 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนบ้านในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีทั้งหมดประมาณ 4.28 ล้านหน่วย ก็เท่ากับว่า 1.35% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด การขยายตัวของจำนวนที่อยู่อาศัยนี้ถือได้ว่ามีสัดส่วนพอ ๆ กับการขยายตัวของประชากรในพื้นที่
          มูลค่า 182,994 ล้านบาทนี้ มีค่าเท่ากับ 2.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ณ ราคาตลาดที่ 9,075,493 ล้านบาท (ปี 2551 ซึ่งจะมากกว่าปี 2552) กรณีนี้ถือว่าไม่มากนักหากเทียบกับผลิตภาพของภาคการผลิตอื่น อย่างไรก็ตามจากการสำรวจทั่วประเทศของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในอดีตพบว่า มูลค่าของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในแต่ละปี มีค่าเท่ากับ 70% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศเมื่อรวมกับที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ดังนั้นขนาดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยทั่วประเทศ จึงเท่ากับ 261,420 ล้านบาท หรือเทียบได้กับ 2.88% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
          หากพิจารณาถึงตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์และบริการให้เช่าทรัพย์สินในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ จะพบว่า สัดส่วนได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 5% ในปี 2530 เป็น 3.72% ในปี 2536 และ ณ สิ้นปี 2551 เป็นประมาณ 2.39% เท่านั้น การที่เป็นเช่นนี้เป็นข้อดีเพราะเศรษฐกิจในด้านอื่นที่เป็นภาคการผลิตที่แท้จริงหรือ Real Sector ขยายตัวมากขึ้น ส่วนที่เป็นทุนหรือปัจจัยการผลิตในด้านอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็ขยายตัวมากขึ้น แต่กลับมีสัดส่วนลดลงตามลำดับ
          การที่จะเหมารวมเอาว่าการผลิตภาคอสังหาริมทรัพย์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวดจึงเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริง การเกิดผลกระทบต่อเนื่องหากมีการก่อสร้างมากยิ่งขึ้น อาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หากภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน กำลังซื้อตกต่ำ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ก็จะไม่เกิดขึ้น ยกเว้นการเก็งกำไร ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ การผลักดันให้ประชาชนซื้ออสังหาริมทรัพย์จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยง
          ในความเป็นจริง การส่งเสริมให้เอาบ้านเก่ามาขายใหม่ อาจเป็นทางเลือกที่ดีของประชาชนผู้สนใจซื้อบ้านเช่นกัน เพราะมักจะได้บ้านในราคาที่ถูกกว่า ในทำเลที่ดีกว่า และเมื่อซื้อแล้วก็ต้องซ่อมแซม ต่อเติม ซื้อโต๊ะ ตู้ เตียง ฯลฯ ใหม่เช่นกัน เกิดภาวการณ์หมุนของเงินเช่นกัน และที่สำคัญ จำนวนเงินที่ประหยัดได้ ก็ยังอยู่ในมือของประชาชนจำนวนมาก และสามารถนำไปหมุนได้อย่างกว้างขวางกว่าด้วยซ้ำไป
          โครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส สำรวจพบว่ากำลังขายอยู่ในท้องตลาดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอยู่ทั้งหมด 1,183 โครงการ แต่มีบริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหมด 706 บริษัท แสดงว่าบริษัทหนึ่ง ๆ มีอยู่ทั้งหมด 1.68 โครงการ หากนับรวมบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันแล้ว เชื่อว่าจะมีบริษัทที่เป็นเอกเทศอยู่ประมาณ 550 บริษัท บริษัทส่วนมากไม่ได้สังกัดอยู่กับสมาคมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินทั้ง 3 สมาคม
          เพื่อที่จะสามารถควบคุมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินให้ดำเนินการให้เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค รัฐบาลจึงควรตั้งสภาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยภาครัฐมาเป็นประธานอำนวยการ และให้มีกระบวนการตรวจสอบ สนับสนุน ส่งเสริมกิจการอสังหาริมทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังอาจประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ สถาบันการเงินของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น
          การควบคุมการประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ดี เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ยิ่งผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ที่จะมีลูกค้าเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ทำให้สามารถขายได้มากขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการและโครงการมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากการส่งเสริมและควบคุมโดยรัฐบาลในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนเจ้าของประเทศ
          โครงการที่อยู่อาศัย 1,183 โครงการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลข้างต้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าประกอบด้วยหน่วยขาย 335,950 หน่วย รวมมูลค่าโครงการทั้งที่เหลืออยู่และขายไปแล้ว 944,807 ล้านบาท หรือโครงการหนึ่งมีขนาด 284 หน่วย หรือ 841 ล้านบาท ซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่โครงการหนึ่งมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด คือโครงการละ 204 หน่วย หรือ 647 ล้านบาท


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved