คนเร่ร่อนใน กทม. มี 3,360 คน ไม่ใช่ 1,307 คน
  AREA แถลง ฉบับที่ 345/2558: วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ตามที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อบางฉบับว่าขณะนี้มีคนเร่ร่อนอยู่ 1,307 คนนั้น ในความเป็นจริงมีมากกว่านี้ 3 เท่า ตัวเลขนี้แม้จะไม่มาก ไม่เพียงพอที่จะนำไปอ้างเพื่อสร้าง "บ้านคนจน" ตามนโยบายรัฐบาล แต่ก็ควรมีการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส
          ตัวเลขของคนเร่ร่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 3,360 นี้ คิดจากตัวเลขที่ 3,249 คนเมื่อสิ้นปี 2557 ซึ่งเพิ่มมากขึ้น 3.4% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาสวัสดิการสังคมด้านที่อยู่อาศัยที่ควรได้รับการใส่ใจจากรัฐบาล
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนเร่ร่อน ได้เคยจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 มีนาคมเกี่ยวกับตัวเลขคนเร่ร่อน ซึ่งสำรวจโดยมูลนิธิอิสรชน โดยมีนายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิ เป็นประธานคณะทำงานการสำรวจ
          ผลการสำรวจพบว่า ตัวเลขของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยในปี 2557 มีอยู่ทั้งหมด 3,249 คน เพิ่มจากปี 2556 ที่มีอยู่ 3,140 คนหรือเพิ่มขึ้น 109 คน สำหรับในปี 2555 พบอยู่ 2,856 คน หากเทียบระหว่างปี 2555-2556 และ 2556-2557 มีอัตราเพิ่มขึ้น 9.9 และ 3.4% ตามลำดับ อัตราการเพิ่มขึ้นของคนเร่ร่อนนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการเพิ่มของประชากรที่ประมาณ 0.3% เท่านั้น ( http://goo.gl/bSyRTC) ในขณะนี้ผ่านเกือบปีแล้ว ตัวเลขน่าจะเพิ่มเป็น 3,360 คน
          ตัวเลขที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งก็คือ คนเร่ร่อนเหล่านี้เป็นชาย 2,003 คน ที่เหลือ 1,246 คน เป็นหญิง ที่เป็นหญิงนั้นกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นผู้ให้บริการทางเพศ อยู่แถวเขตพระนครเป็นสำคัญ สำหรับเขตที่พบคนเร่ร่อนมากที่สุดก็คือ เขตพระนคร 559 คน หรือ 17% รองลงมาคือ เขตบางซื่อ 281 คนหรือ 9% และเขตจตุจักร 230 คน หรือ 7% ตามลำดับ
          นอกจากนั้นยังพบครอบครัวเร่ร่อนของพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเช่น เขมร เมียนมาร์ เป็นต้น แต่กลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มขอทาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่นอกเหนือจากที่สำรวจ นอกจากนี้ยังพบชาวตะวันตกที่เร่ร่อนอยู่เขตพระนครเช่นกัน โดยพบจำนวน 28 คนจากปีที่แล้ว 25 คน อย่างไรก็ตามบางแหล่งข้อมูลอ้างว่าน่าจะมีมากกว่า แต่จากการลงสำรวจภาคสนามพบเพียงจำนวนเท่านี้
          ในกรุงเทพมหานครยังพบคนเร่ร่อนจำนวนไม่มาก หากเทียบกับนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จะพบคนเร่ร่อนถึง 60,352 คน จากประชากรราว 8 ล้านคน หรือประมาณ 0.7% ของประชากร แต่สำหรับกรุงเทพมหานครยังพบเพียง 3,249 คนจากประชากรราว 6 ล้านคน หรือ เพียง 0.05% เท่านั้น อย่างไรก็ตามคาดว่าจำนวนคนเร่ร่อนจะเพิ่มมากขึ้นอีกประมาณ 5-10% ในปี 2558 นี้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศยังอาจไม่ฟื้นตัว มีการปล่อยตัวนักโทษ ซึ่งบางส่วนก็มาเป็นคนเร่ร่อน ฯลฯ
          จะสังเกตได้ว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีเพียงปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณ 2.57 ล้านบาท ซึ่งต่ำมากโดยเฉพาะหากเทียบกับงบฯ ของกระทรวงกลาโหมที่ 193,065.9 ล้านบาท ( http://goo.gl/QfkcuQ) ดังนั้นปัญหาสังคมต่าง ๆ จึงยากที่จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเท่าที่ควร
          หากทางราชการต้องการจะช่วยเหลือผู้ยากไร้ระดับล่างสุดในสังคม และไม่ให้เป็น "ทัศนะอุจาด" ที่แลดูไม่ดีที่ประชาชนไทยต้องนอนข้างถนน ก็ควรเพิ่มงบประมาณเพื่อการนี้ ซึ่งไม่มากนัก แต่จะได้ผลและเป็นการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ควรอาคารให้อยู่ถาวรและเป็นเจ้าของ เพราะการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะแปรผันตามรายได้ ไม่ควรจำกัดไว้ในขณะที่ผู้ยากไร้เหล่านี้ส่วนมากไม่พร้อม และบางส่วนต้องการ "สถานสงเคราะห์" มากกว่า "บ้าน" ตามปกติทั่วไป

อ่าน 2,434 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved