ก่อการร้ายกับอสังหาริมทรัพย์ฝรั่งเศส
  AREA แถลง ฉบับที่ 352/2558: วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          เหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 จะไม่ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว เพราะการท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับผลกระทบ

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) แถลงว่า เหตุการณ์ความไม่สงบ การจลาจล การก่อการร้าย และกระทั่งภัยธรรมชาติไม่ได้มีผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์มากนัก ทั้งนี้พิจารณาได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว อย่างสถานการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในกรุงปารีสเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งเหตุการณ์ลุกลามไปทั่วประเทศและมีการเผารถยนต์นับหมื่นคัน รวมทั้งร้านรวงต่าง ๆ เป็นจำนวนมา แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงในระยะยาว โดยสังเกตได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศฝรั่งเศสไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และในปีถัด ๆ มาก็ยังเพิ่มขึ้นตามลำดับโดยในแต่ละปีฝรั่งเศสยังเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุด โดย ณ ปี 2543 มีถึงประมาณ 77 ล้านคน

          การที่มีเหตุการณ์จลาจลเกิดขึ้นในกรุงลอนดอนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2554 และสถานการณ์ยังคุกรุ่นไประยะหนึ่งนั้นจึงมีประเด็นที่สมควรพิจารณาว่า มูลค่าอสังหาริมทรัพย์จะตกต่ำลงหรือไม่ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เชื่อว่ามูลค่าอสังหาริมทรัพย์คงไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของอสังหาริมทรัพย์มีลักษณะเปลี่ยนแปลงช้า (inertia) คือไม่สะทกสะท้านกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ถึงแม้ว่าความรุนแรงในครั้งนี้จะเป็นความรุนแรงขั้นสูงที่สุดในรอบ 25 ปี ในกรุงลอนดอน และในปี 2557 ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอน ยังกลับเพิ่มขึ้นถึง 17% (http://bit.ly/1MALDYC)

          อย่างไรก็ตามสำหรับอาคารที่ได้รับความเสียหายจาการจลาจลย่อมสูญเสียมูลค่าลง และในบางบริเวณอาจไม่สามารถก่อสร้างใหม่ได้ ทั้งนี้คงเป็นไปตามผังเมืองและข้อกำหนดการใช้ที่ดินในแต่ละท้องที่ อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของกรุงลอนดอนราคาคงไม่ตกต่ำลง เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ชั่วครั้งชั่วคราวที่อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ทวีความไม่แน่นอนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ในกรุงลอนดอนยังเคยมีสถานการณ์การก่อการร้ายวางระเบิดสถานีรถไฟใต้ดิน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากใน เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2548

          เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่รุนแรงกว่านี้ยังเคยเกิดขึ้นในเมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีการลอบวางระเบิดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คนในปี 2545 เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงจาก 1.8 ล้านคนต่อปี เหลือ 1.3 ล้านคนต่อปี ในปีถัดมา และถึงแม้จะมีการลอบวางระเบิดอีกครั้งหนึ่งในปี 2548 แต่ก็ไม่ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงเช่นในครั้งแรก เหตุการณ์รุนแรงในเมืองบาหลีส่งผลกระทบชั่วคราวและในปีต่อ ๆ มาจำนวนนักท่องเที่ยวก็กลับเพิ่มขึ้นและบัดนี้การท่องเที่ยวในเมืองบาหลี นับว่าเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง

          นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เกิดการหยุดนิ่งไประยะหนึ่ง (shock) คือเหตุพิบัติภัยต่าง ๆ เช่นสึนามิที่เมืองอาเจะห์ ซึ่งทำลายชีวิตผู้คนไปเกือบ 2 แสนคน อย่างไรก็ตามราคาอสังหาริมทรัพย์กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น เพราะรัฐบาลได้ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ส่งผลดีต่อราคาอสังหาริมทรัพย์

          ดังนั้นมูลค่าอสังหาริมทรัพย์จึงอาจหยุดนิ่งไประยะหนึ่งและกลับฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาภายหลังเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ การลดลงของมูลค่านอกจากเกิดจากความเสียหายของอาคารบางแห่งยังอาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ขายทรัพย์สินไปในช่วงชุลมุนของภาวะวิกฤต

อ่าน 1,964 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved