ดร.โสภณ แนะรัฐบาลประยุทธ์กระตุ้นเศรษฐกิจให้ถูกทาง
  AREA แถลง ฉบับที่ 388/2558: วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          รัฐบาลพยายามที่จะเสนอแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ดร.โสภณ มีทางออกให้กับรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ผลชะงัด
          ทั้งนี้ ดร.โสภณ เคยเสนอมาตรการเหล่านี้ในหนังสือถึงนายกฯ เมื่อ 4 มิถุนายน 2558 (http://goo.gl/r3tERK) ไว้ดังนี้

          1.  การให้สัมปทานรถไฟฟ้าใจกลางเมือง ทั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องออกเงินก่อสร้างเอง จะทำให้เกิดรายได้สูง เพราะเป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ทางการเงิน มีผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการก่อสร้างออกไปนอกเมือง ทั้งนี้สามารถดำเนินการได้หลายพื้นที่ในใจกลางเมือง คล้ายการให้สัมปทานรถประจำทาง เป็นต้น การทำรถไฟฟ้าในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป จะทำให้มีเอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันเสรี โดยไม่ต้องถูกผูกขาดโดยรายใหญ่ และรัฐบาลแทบไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินใด ๆ เพียงแต่ควบคุมและตรวจสอบการจัดทำสัญญาที่ไม่เสียเปรียบภาคเอกชน

          2. การอนุญาตให้ก่อสร้างอย่างหนาแน่นสูง (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) โดยกำหนดผังเมืองใหม่โดยให้การก่อสร้างในเขตใจกลางเมือง สามารถสร้างสูงได้ถึงประมาณ 15-20 เท่าของขนาดแปลงที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) โดยให้เว้นพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการก่อสร้างอาคารอัจฉริยะ อาคารเขียว เพื่อไม่ก่อมลภาวะ การอนุญาตให้สร้างได้มากกว่าผังเมืองปัจจุบัน จะทำให้เกิดการก่อสร้างในใจกลางเมืองอีกมหาศาล (http://goo.gl/aBukys) โดยสมมติให้พื้นที่พาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 2 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ๆ ขายได้ประมาณ 70% หรือ 1.4 ล้านตารางเมตร และสมมติให้ตารางเมตรละ 60,000 บาท ก็เป็นเงิน 84,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นหากส่วนที่เพิ่มจากกฎหมายเดิม เก็บภาษี 10% ก็จะได้ภาษีนำมาพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มเติมอีก 8,400 ล้านบาท

          การอยู่อาศัยในใจกลางเมือง ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบคมนาคมและขนส่งมวลชนออกไปชานเมืองอย่างไม่สิ้นสุดได้อีก เท่ากับประหยัดงบประมาณแผ่นดินไว้พัฒนาทางด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป ยิ่งกว่านั้นเมืองก็ไม่ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต คุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น แทนที่จะเสียเงิน เสียเวลาเดินทางไกลบนท้องถนน และเป็นการลดมลภาวะอีกด้วย

          3. การนำที่ดินของรัฐใจกลางเมืองมาพัฒนาเชิงพาณิชย์  ไม่ใช่เอามาสร้าง "บ้านคนจน" ที่ดินของรัฐใจกลางเมืองสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ได้อย่างยั่งยืน เช่น นำมาใช้ก่อสร้างเป็นศูนย์ธุรกิจใจกลางเมือง (Central Business District: CBD) แห่งใหม่ซ้อนอยู่ใน CBD เดิม โดยให้มีอาคารสำนักงานขนาดใหญ่รวมกันในที่เดียว ทำให้เกิดพลังเกื้อหนุนกัน คล้ายบริเวณสีลม-สุรวงศ์-สาทร ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ ไม่เสียเวลาเดินทาง ราคาค่าเช่าก็จะไม่ตกต่ำเช่นอาคารที่ตั้งอยู่โดด ๆ เช่น

          3.1 ที่ดินกรมทหาร เขตดุสิต ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางหลายพันไร่
          3.2 พื้นที่กรมทหาร ถ.โยธี พญาไท ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าผ่านเช่นกัน
          3.3 สนามม้าในกรุงเทพมหานคร
          3.4 โรงซ่อมรถไฟ บึงมักกะสัน ซึ่งมีทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าผ่านเช่นกัน
          3.5 โรงงานยาสูบเดิม ถ.พระรามที่ 4 ซึ่งมีรถไฟฟ้าและทางด่วนผ่านบริเวณใกล้เคียง
          3.6 ที่ดินคลังน้ำมัน ถ.พระราม 3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
          3.7 ที่ดินการรถไฟฯ ถ.เชื้อเพลิง ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
          3.8 ท่าเรือคลองเตยและที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ตลาดคลองเตยและโดยรอบ เป็นต้น

          ที่ดินเหล่านี้หากสามารถนำมาพัฒนาได้จริง ย่อมทำให้เกิดมูลค่าการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดินไทย ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ทำการย้ายส่วนราชการออกนอกเมืองเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงมะนิลาและนครโฮชิมินห์ซิตี้ เป็นต้น

          4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในประเทศตะวันตก จัดเก็บประมาณ 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด แต่ในกรณีประเทศไทย อาจเริ่มต้นที่ 0.5% สำหรับอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท จะได้ไม่เกิดความลักลั่น ยกเว้นที่ดินเปล่า ซึ่งควรเร่งรัดให้พัฒนาเพื่อเพิ่มอุปทานที่ดิน ราคาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์จึงจะไม่แพงจนเกินไป โดยควรให้จัดเก็บประมาณ 1-2% ทั้งนี้ควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินภาษีกันเอง และจำกัดวงเงินการพัฒนาสาธารณูปโภคท้องถิ่นตามภาษีที่จัดเก็บได้ เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดเก็บได้มากขึ้น และควรกำหนดให้ยกเลิกภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีค่าโอนที่สูงถึงประมาณ 3% ของราคาขาย เป็นต้น

          5. การสร้างนิคมอุตสาหกรรมและกาสิโน โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งพักพิงของแรงงานเพื่อแรงงานจะได้ไม่ต้องเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครหรือในพื้นที่ที่ลึกเข้ามาจากชายแดน โดยให้วิสาหกิจเสียค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภคเป็นหลัก และในพื้นที่กันดารในชนบท ก็อาจพิจารณาสร้างเมืองใหม่โดยมีกาสิโนเป็นตัวนำ เช่นที่ดำเนินการในสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยจะเห็นได้ว่าในประเทศที่มีกาสิโน ก็ไม่ได้มีสถิติของการเกิดอาชญากรรมมากกว่าประเทศที่ไม่มีกาสิโนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสามารถจัดเก็บภาษีจากการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องติดสินบนอันเป็นบ่อเกิดการทุจริตในวงราชการอีกด้วย

          6. การจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการกระเตื้องเพราะการซื้อเสียง เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบกฎหมาย แต่การเลือกตั้งจะทำให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิ และได้รับการความเชื่อถือจากนานาชาติ การแทรกแซงเพราะประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะหมดไป การลงทุนจากต่างประเทศ (เช่นที่ปรากฏในประเทศเมียนมา) ก็จะเกิดขึ้น ประเทศก็จะได้รับการพัฒนาอย่างขนานใหญ่  ทั้งนี้รัฐบาลยังอาจให้รัฐบาลและรัฐสภาใหม่สั่งให้มีการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญด้วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม อันจะยิ่งยังความเชื่อถือจากนานาชาติ เป็นต้น

          มาตรการเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้นนั่นเอง

อ่าน 2,206 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved