ครอบครองปรปักษ์: เลิกกฎหมาย 'ทุเรศ' นี้ได้แล้ว
  AREA แถลง ฉบับที่ 415/2560: วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ประเทศไทยมีกฎหมาย 'ทุเรศ' อันหนึ่งคือการครอบครองปรปักษ์ เป็นการถือที่ดินที่ 'ไร้เหตุผลสิ้นดี' ถ้าไม่มีใครใช้ ควรยึดเป็นของหลวง ไม่ใช่ปล่อยให้ปล้นชิงกันเอง

            การครอบครองปรปักษ์ หมายถึง การที่บุคคลได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งได้บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” การที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องปรากฏว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่เจ้าของจะต้องมีกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะที่ดิน {1}

            ที่ดินที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ถ้าหากที่ดินนั้นเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เช่น ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 น.ส. 3 ก., น.ส. 3 ข.) แม้ผู้นั้นจะครอบครองที่ดินดังกล่าวนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่อย่างใด นอกจากนั้น การครอบครองดังกล่าวจะต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ โดยเปิดเผยไม่มีการปิดบังอำพรางหรือซ่อนเร้นและมีเจตนาเป็นเจ้าของ {2}

            ถ้าเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่า หรือผู้อาศัยไม่ได้ครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของก็ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ และการครอบครองปรปักษ์จะนำไปใช้แก่ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 1306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งจะนำไปใช้กับที่ธรณีสงฆ์หรือที่วัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไม่ได้ด้วย {3}

            สิ่งที่ควรปรับปรุงใหม่ ก็คือ

            1. ยกเลิกการครองครองปรปักษ์ เพื่อจะไม่เกิดความบาดหมาง ไม่มีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรกันเองในหมู่ประชาชน

            2. ให้คงไว้ว่าในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือเห็นทิ้งร้างมาเกิน 10 ปี หรือไม่ได้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาเกิน 10 ปี ให้ยึดเข้าเป็นของหลวง ข้อนี้ก็คล้ายกับกรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่หากผู้ครอบครองเลิกใช้เพื่อการเกษตกรรมแล้ว ต้องส่งมอบคืนแก่ทางราชการ จะซื้อขายกันเองหรือยกให้ผู้อื่นไม่ได้

            3. ให้นำที่ดินที่ยึดมาเหล่านี้มาขาย เพื่อนำเงินเข้าหลวงมาพัฒนาประเทศต่อไป หรืออาจให้ทางราชการใช้ทำประโยชน์แก่ทางราชการเอง

            4. ให้มีสำนักจัดการทรัพย์สินที่วางแผนการลงทุน การประสานการพัฒนาที่ดิน การซื้อ-ขายที่ดิน หรือการร่วมทุนเพื่อการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นสมบัติของรัฐ โดยดำเนินการในรูปแบบรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่คอยตรวจตราทรัพย์สินที่อาจถูกทิ้งร้างไว้ทั้งหลายเพื่อให้มีการพัฒนาหรือเสียภาษีเข้าหลวงอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยรกร้างว่างเปล่าไว้

            สมบัติของเอกชนนั้น จำเป็นต้องล้อตามกิจกรรมสาธารณะด้วย การมีอาคารและที่ดินอยู่ในใจกลางเมือง แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ได้เสียภาษี ทิ้งร้างไว้ ทั้งที่ถนนหนทางสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทางรัฐก็จัดหาให้เรียบร้อย อาจถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทางหนึ่งเพราะผู้ที่จะพัฒนาที่ดิน ก็ต้องซื้อในแปลงอื่นห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ ทำให้เมืองขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ้นเปลืองทรัพยากรของแผ่นดิน เจ้าของทรัพย์ก็ไม่ถูก "ไฟลนก้น" ก็ปล่อยทิ้งไว้ให้ลูกหลานโดยรัฐไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนใดๆ

            ครอบครองปรปักษ์: เลิกกฎหมาย 'ทุเรศ' นี้ได้แล้ว

อ้างอิง

{1} - {3} http://bit.ly/2iDNJ3l


ที่มาของรูปภาพ: http://bit.ly/2gHkCM7

อ่าน 44,554 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved