ชาวพุทธที่แท้เป็นเช่นใด
  AREA แถลง ฉบับที่ 16/2561: วันจันทร์ที่ 08 มกราคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในประเทศไทย 95% บอกว่าตนเองเป็นคนพุทธ แต่กลับนับถือเทพแห่งศาสนาอื่น อยากรวยก็ไปหาเจ้าพ่อเจ้าแม่ มีเครื่องรางสารพัด แล้วเราอ้างตัวเป็นชาวพุทธได้อย่างไร ชาวพุทธที่แท้จริงต้องเป็นแบบใดกันแน่

คำปฏิญาณของชาวพุทธ

            ดร.อัมเบดการ์ (https://goo.gl/Z8Wi7G) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย และเป็น "บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย" ท่านได้นำชาวอินเดียราว 500,000 คน เปลี่ยนศาสนาเป็นพุทธ โดยมีคำปฏิญาณ 22 ข้อเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2499 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ขอนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยว่าคนไทยพุทธที่แท้ จะต้องปฏิญาณว่า ต่อไปนี้:

            1. ข้าพเจ้าจะไม่บูชา ไม่ศรัทธา ไม่เชื่อพระเจ้าหรือเทวดาทั้งหลายในศาสนาอื่น เพียงแต่ไม่กระทำการใดในการลบหลู่ ย่ำยีศาสนาอื่น

            2. ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์หรือนักบวชในศาสนาอื่นมาทำพิธีทุกอย่างไป

            3. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่บรรลุธรรมด้วยพระองค์เอง

            4. ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน ไม่เชื่อในเรื่องแบ่งชนชั้นวรรณะที่ถูกตีตราไว้ตั้งแต่เกิด

            5. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

            ชาวพุทธที่แท้ จึงต้องไม่หลงไปบูชาพระ (เจ้า) ในศาสนาอื่น ไม่งมงายไปกับการทรงเจ้าเข้าผี เครื่องรางของขลัง ปลัดขิก ผ้ายันต์ นางกวัก ฯลฯ ที่ไม่ใช่วิถีแห่งพุทธ

อยากรวยต้องเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

            คนไทยหลายคนหลงไปนับถือพระ (เจ้า) ของศาสนาอื่น กลายเป็นผู้นิยมวัตถุมงคล เพราะอยากรวย ถ้าอยากรวยจริงและยั่งยืน ต้องยึดถือตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยเคร่งครัดต่างหาก พระองค์สอนให้คนรวย (ไม่เคยสอนให้จน ยกเว้นพวกนักบวชที่ต้องสละทุกสิ่ง -- อย่าสับสน) ด้วยคาถา “หัวใจมหาเศรษฐี” (อุ อา กะ สะ) (ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หรือ ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์) ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ

            1. อุ: อุฎฐานสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือให้มีความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ ขยันทำงานและประกอบอาชีพโดยสุจริต หมั่นฝึกฝนในวิชาชีพให้มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาในการจัดการงานให้เหมาะสมและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความขยันหมั่นเพียรนี้เราก็จะมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูนขึ้น

            2. อา: อารักขสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ คือต้องรู้จักรักษาคุ้มครองทรัพย์สินที่หามาได้ไม่ให้หมดไป รวมทั้งรักษาผลงานที่สร้างมาได้โดยชอบธรรม ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย รวมไปถึงการรักษาความรับผิดชอบต่อภาระการงานที่ได้มอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่องด้วย

            3. กะ: กัลยาณมิตตตา หมายถึง การรู้จักคบคนดีเป็นมิตร คือการมีมิตรที่ดีจะช่วยสนับสนุนและนำพาเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ทั้งในหน้าที่การงาน สร้างความสุข ความสบายใจในการใช้ชีวิต ในทางตรงข้าม มิตรที่ไม่ดี มิตรเทียม หรือมิตรปอกลอก ก็จะนำพาเราไปสู่อบายมุขในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เราเสียทรัพย์ เสียงานเสียการ จนเสียสมดุลชีวิตไปในที่สุด

            4. สะ: สมชีวิตา หมายถึง การเลี้ยงชีวิตให้พอดี คือรู้จักกำหนดการใช้จ่ายให้สมควรแก่ฐานะและสมดุลกับรายได้ รู้จักใช้ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้อย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือยมากเกินไปจนต้องลำบากในอนาคต หรือไม่ฝืดเคืองจนสร้างความลำบกในปัจจุบัน จงดำเนินชีวิตโดยยึดทางสายกลางที่ไม่มากไปไม่น้อยไป แต่ต้องพอดี ซึ่งจุดสมดุลแห่งความพอดี อาจวัดได้จากความสุขที่อิ่มเอิบในใจ ไม่ใช่สิ่งบำเรอหรือวัตถุที่เป็น (http://bit.ly/2iHnF9h)

พระพุทธเจ้าสอนถึงหลักพ่อค้า

            พระพุทธเจ้ายังสอนเรื่องปาปณิกธรรม 3 (ปาปณิกังคะ หลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า) อันประกอบด้วย

            1. จักขุมา ตาดี (รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ — shrewd)

            2. วิธูโร จัดเจนธุรกิจ (รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า — capable of administering business)

            3. นิสสยสัมปันโน พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย (เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย — having good credit rating) (http://bit.ly/2iOeLaJ)

พระพุทธเจ้าสอนผู้ครองเรือน

            พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง "คฤหัสถ์ 4" หรือความสุขของผู้ครองเรือน 4 อย่าง (http://bit.ly/2hZ7jKc) สำหรับชีวิตผู้ครองเรือน คือ

            1. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือมีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ที่หามาโดยสุจริต ขอบธรรม เมื่อมีทรัพย์แล้วก็ทำให้ภาคภูมิใจ เอิบอิ่มใจไม่เดือดร้อนใจ

            2. โภคสุข สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ คนที่มีทรัพย์อยู่ในมือแล้วย่อมสบายใจ เอิบอิ่มใจ เมื่อเวลาที่ต้องการจะใช้ ก็สามารถจะเอามาใช้ได้ ไม่ขาดแคลน ข้อที่ว่าสุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ได้ตามต้องการนี้ รู้สึกคนไทยทุกคนจะซาบซึ้งใจกันดี เพราะคนไทยเป็นนักจ่าย เห็นอะไรก็อยากได้อยากซื้อไปหมด ถ้าไม่มีเงินคงไม่เป็นสุขแน่เทียว

            3. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ถ้าเราเป็นหนี้ ต้องขวนขวายหาเงินมาใช้หนี้เขา จะหาความสุขได้อย่างไร ยิ่งเวลาที่ต้องส่งเงินต้นหรือดอกเบี้ย แต่ไม่มีจะส่ง ยิ่งเป็นทุกข์ใจมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราพยายามใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมกับฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวจนต้องเป็นหนี้เป็นสินเขาแล้ว เราจะมีความสุขมากทีเดียว เพราะฉะนั้นความไม่เป็นหนี้จึงเป็นความสุขของผู้ครองเรือน

            4. อนวัชชสุข สุขอันเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือประพฤติสุจริตธรรม เมื่อประพฤติแต่สุจริตธรรมก็ไม่มีใครที่จะติเตียนเราได้ ทำให้เกิดความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า เราประพฤติตนดี ไม่เป็นที่ครหาของใคร ๆ

มาสร้างบารมีให้กับตนเอง

            ผู้คนต้องการบารมี แนวทางการสร้างบารมีไม่ได้อยู่ที่วัตถุของขลังอะไร แต่มีได้ด้วยการยึดตามคำสอนขอบพระพุทธเจ้า เรื่องบารมี 10 แปลว่ามีกำลังใจเต็ม หรือบารมี 10 ทัศ (http://bit.ly/2AyqwXE) ประกอบด้วย

            1. ทานบารมี จิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ

            2. ศีลบารมี จิตของเราพร้อมในการทรงศีล

            3. เนกขัมมบารมี จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะ แปลว่า การถือบวช แต่ไม่ใช่ว่าต้องโกนหัวไม่จำเป็น

            4. ปัญญาบารมี จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารให้พินาศไป

            5. วิริยบารมี วิริยะ มีความเพียรทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ

            6. ขันติบารมี ขันติ มีทั้งอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์

            7. สัจจะบารมี สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลา ว่าเราจะจริงทุกอย่าง ในด้านของการทำความดี

            8. อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ

            9. เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น

            10. อุเบกขาบารมี วางเฉยเข้าไว้ เมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว ใช้คำว่า "ช่างมัน" ไว้ในใจ

เพื่อชีวิตที่สูงสุด: นิพพาน

            พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง "มรรค" คือ หนทางสู่ความดับทุกข์ เป็นหนึ่งในอริยสัจ 4 จึงเรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ โดยในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ 8 นี้เป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น (http://bit.ly/1TMtWtI)

            1. สัมมาทิฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4

            2. สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน

            3. สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ

            4. สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า โจรกรรม และการประพฤติผิดในกาม

            5. สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ

            6. สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

            7. สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน 4

            8. สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง การบรรลุฌาน 4

เชื่อพระธรรม ไม่ใช่เชื่อเกจิ

            ชาวพุทธไม่ค่อยได้ศึกษาพระไตรปิฎก เรามักเอาแต่คำสอนพื้นๆ สอนให้ทำดี จนประหนึ่งพูดเป็นนกแก้วนกขุนทองไปแล้ว พระสงฆ์พอได้เทศน์สอนทีไร ก็เทศน์แต่เรื่องเดิมๆ เรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้เจาะลึก ไม่ได้สอนอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่อง พระสงฆ์บางรูปก็คัดเอาพระธรรมบางส่วนบางตอนมาพูด แต่งเติมเสริมแต่งให้ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า การยึดถึงเกจิมาก บางทีเราอาจถูกเกจิบังพระธรรม หรือถูกพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังที่เหล่าเกจิสร้างขึ้นมาบังพระธรรมในใจของเรา

            ในพระไตรปิฎกระบุชัดว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสว่า "ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว" (http://bit.ly/2qwRleP) ดังนั้น เราชาวพุทธจึงต้องหมั่นศึกษาพระไตรปิฎกอย่างต่อเนื่องโดยเคร่งครัดด้วยตนเอง ไม่ใช่แค่อ้างอิงคำสอนไม่กี่คำของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ชาวพุทธที่แท้ต้องยึดมั่นว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการสวดอ้อนวอนและยัญบูชา

            มาเป็นชาวพุทธที่แท้กันเถิด


ที่มาของรูปภาพ: https://goo.gl/5QzX3Y

อ่าน 7,632 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved