โมดีกับประยุทธ์: ฟ้ากับเหว
  AREA แถลง ฉบับที่ 106/2561: วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          โมดีแห่งอินเดีย และประยุทธ์แห่งประเทศไทย มาเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาไล่เลี่ยกันในปี 2557 ผ่านมาเกือบ 4 ปี ผลงานต่างกันฟ้ากับเหว เรามาดูกัน

          เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวว่านายกฯ โมดีของอินเดีย ได้รับการ vote ให้เป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูง โดยสูงกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีสี จิ้นผิง ของจีน (https://goo.gl/Y1iFXP) ทั้งนี้สูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากนายกฯ เยอรมนี และประธานาธิบดีฝรั่งเศส

          ไม่เฉพาะแต่ประเทศมหาอำนาจเท่านั้นในการ vote นี้ยังรวมถึงกษัตริย์ซาอุฯ นายกฯ อิสราเอล ประธานาธิบดีอิหร่าน ประธานาธิบดีตุรกี อีกด้วย แน่นอนว่าในการ vote นี้ไม่มีนายกฯ ประยุทธ์ นี่แสดงชัดว่านายกฯ โมดี ไม่ธรรมดาจริงๆ

          นายกฯ โมดี เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 หลังจากที่พรรคภารตียชนตา ที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2557 ส่วนนายกฯ ประยุทธ์ ก็เข้ามามีอำนาจในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จึงถือได้ว่าทั้งสองท่านเข้ามามีอำนาจในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทีนี้เรามาลองเทียบดูผลงานที่ผ่านมา

          ประเด็นแรกเรามาดูเรื่องเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สิน นอกจากนายกฯ โมดีจะกล้าประกาศยกเลิกธนบัตรหลังจากวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกาศยกเลิกธนบัตรชนิด 500 และ 1,000 รูปี (คิดเป็นประมาณ 265 และ 530 บาท) เพื่อการปราบทุจริต (https://goo.gl/UxJ68L) ยังสั่งเพิ่มภาษีเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ (https://goo.gl/jx9iJ8) เมื่อปลายปี 2560 นายกฯ โมดิกำลังวางแผนที่จะนำการเก็บภาษีมรดกกลับมาใช้ในอินเดีย (https://goo.gl/B21z74) นอกจากนี้ยังกำลังวางแผนเก็บภาษีจากคนรวยที่เลี่ยงภาษีทรัพย์สินโดยซื้อบ้านและที่ดินในนามของคนอื่น (https://goo.gl/aWL15g) เป็นต้น

          ส่วนของไทยเรา “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ ทำเป็นกระตือรือร้นในการเก็บภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ปรากฏว่าในประเทศไทย “พรบ.ภาษีมรดกกับความอัปยศที่เก็บไม่ได้สักบาท” (http://bit.ly/2tHEmnh) ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ศึกษาไปเรื่อยเปื่อย ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้ แต่คาดว่าคงได้ออกมาใช้ แต่เป็นกฎหมายที่มีตัวบทบัญญัติไว้ แต่แทบไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ แบบเดียวกับภาษีมรดกนั่นเอง

          อาจกล่าวได้ว่า นักกฎหมายไทยมีความสามารถขั้นมหาเทพจริงๆ ที่ออกกฎหมายมาเหมือนไม่มีกฎหมาย ตกลงว่าประเทศไทยของเราไม่มีนักการเมืองมาเกือบ 4 ปี แต่เรายังเอาใจแต่คนรวย คนที่ได้เปรียบในสังคม เราไม่ได้มีการปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูปประเทศให้เห็นแก่คนส่วนใหญ่ตามราคาคุยเอาไว้เลย แล้วอย่างนี้นี่เอง จึงไม่มีใครมา vote ให้นายกฯ ประยุทธ์ขึ้นแทนเป็นผู้นำที่เป็นที่นิยม

          ประเด็นที่พึงพิจารณาต่อมาก็คือที่อยู่อาศัย อินเดียขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศสุดยากจนที่มีคนนอนข้างถนนหรือเรียกว่า Street Dwellers กันมากที่สุดแห่งหนึ่ง สังเกตได้ว่าว่าแม่ชีเทเรซาท่านอยู่ที่อินเดียเกือบ 70 ปีจนถึงวันที่ท่านเสียชีวิตในปี 2540 จำนวนประชากรสลัมในอินเดียก็ยังสูงถึง 55% ในปี 2533 และยังสูงถึง 42% ในปี 2543 ภายหลังจากที่ท่านเสียชีวิต แต่หลังจากนั้นอีก 20 ปีนับแต่ท่านเสียชีวิต จำนวนประชากรในสลัมก็ลดเหลือ 24% ในปี 2560 ทั้งที่ในปี 2552 ยังมีสลัมอยู่ถึง 29% (https://goo.gl/2pAmRA) ทั่วนครต่างๆ ในอินเดีย นี่คือผลงานที่จับต้องได้ ที่กินได้ใช้ได้ของนายกฯ โมดีของอินเดีย

          แต่สำหรับประเทศไทยของเรา เราส่งเสริมให้คน “ทำดี” การทำดีเพื่อสังคมนั้น อาจได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ใช่ว่าจะสามารถส่งผลดีต่อสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น มีการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง มีการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในยุคนายกรัฐมนตรีโมดี (https://goo.gl/VppzBg) ทำให้เศรษฐกิจและสถานะของอินเดียสูงเด่นชัดเจน ภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี ชาวอินเดียประจักษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างแน่แท้

          ประเด็นสุดท้ายก็คือการคาดหวังทางเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ ผมได้ทำการสำรวจความเห็นของเหล่าผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในงานประชุมสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอินเดีย โดยผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ผลปรากฏว่า ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจด้วยคะแนนเต็ม 10 มีความเห็นกันว่าเศรษฐกิจอินเดียในระหว่างปี 2559, 2560 และ 2561 ได้คะแนนจาก 5.7 เป็น 6.1 และ 7.4 ตามลำดับ แต่ที่ผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจจะถดถอยลงเหลือราว 7% แต่ก็ยังดีกว่าของไทยที่ว่าจะได้ 4% ในปี 2560 ที่ผ่านมา

          ในแง่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ในปี 2559, 2560 และ 2560 ที่ฐานคะแนนเต็ม 10 ได้รับการประเมินเป็น 5.4, 5.4 และ 6.4 ตามลำดับ แสดงว่าส่วนใหญ่เห็นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอินเดียค่อนข้างชะลอตัวกว่าแต่ก่อน แต่ในปี 2561 ส่วนมากคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จะมีการลงทุนกันมากขึ้นตามผลการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในระยะยาว (http://bit.ly/2v7Ded3)

          สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีการเติบโตสูงในปี 2561 ในอินเดีย ประกอบด้วย ภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เห็นด้วย 25% ภาคที่อยู่อาศัย เห็นด้วย 17% อุตสาหกรรม เห็นด้วย 17% โครงสร้างพื้นฐาน เห็นด้วย 11% ที่อยู่อาศัยราคาถูก 8% ที่ดิน 5% ที่อยู่อาศัยแบบเช่า 4% และภาคการสร้างเมืองใหม่ เห็นด้วย 4%

          แต่สำหรับของประเทศไทยเรา ปรากฏว่าที่อยู่อาศัยราคาสูงๆ แพงๆ ขายดี แต่บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย-รายได้ปานกลาง เช่น 1-3 ล้านบาท กลับปรากฏว่าขายไม่ค่อยออก เพราะประชาชนจนกรอบลง ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือที่ว่า GDP ของไทยจะเติบโตถึง 4% (แต่ก็ยังรองบ๊วยในอาเซียน) นั้น เป็นการเติบโตเพราะการลงทุนภาครัฐและวิสาหกิจเอกชนใหญ่ๆ และการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ ภาวะประเทศไทยยังเป็นแบบ “รวยกระจุก จนกระจาย” ยังไม่มีการปฏิรูปการเมืองที่ทำเพื่อประชาชนเลยใน 3 ปีที่ผ่านมา

          นายกฯ ประยุทธ์มี “อาญาสิทธิ์” ในมือคือ “ม.44” แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต่างกับในยุคประชาธิปไตยในอินเดียหรือไทยที่สามารถสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศได้อย่างหลากหลาย ปัญหาอาจไมได้อยู่ที่อำนาจ แต่อยู่ที่ความตั้งใจจริงเพื่อชาติหรือไม่

          วันหน้าถ้านายกฯ ประยุทธ์ไป คนคงจำจนวันตาย แต่ยังไม่รู้ว่าในแง่ไหนกัน

อ่าน 8,695 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved