เชื่อไหม วิธีแก้ทำลายป่า คือให้สัมปทานทำรีสอร์ตหรู (อย่าอ่านเฉพาะหัวข้อ)
  AREA แถลง ฉบับที่ 233/2561: วันอังคารที่ 24 เมษายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ป่าเขาที่เราไม่ให้แตะนั้น รักษาไว้ให้พวกชนชั้นปกครองเสพสุข ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้านำมาให้สัมปทานทำรีสอร์ตหรู จะยังประโยชน์ต่อประชาชนมหาศาล อย่ากลัวป่าถูกทำลาย ป่าจะยิ่งขยายตัว การทำลายป่าก็จะหมดไป (โปรดอ่านให้ดีก่อนเห็นแย้ง)

            การเอาป่าเขาสุดสวยงามมาทำรีสอร์ตนั้น มาดูตัวอย่างจากต่างประเทศกัน ที่แรกคือ เก็นติ้งไฮแลนด์ในมาเลเซียที่เปิดในปี 2514 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ 1,800 เมตร และอยู่ในรัฐปาหัง ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปทางเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง บนนั้นอากาศหนาวเย็น ลมแรง สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเหมาะแก่การท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง บนยอดเขายังมีโรงแรมให้พัก มีห้องพักรวมกันถึง 6,300 ห้อง มีสวนสนุก ร้านค้า ภัตตาคาร กระเช้าไฟฟ้าสะดวก ปลอดภัยที่คนชราและผู้พิการสามารถขึ้นไปชื่นชมธรรมชาติได้เช่นกัน และอื่น ๆ รวมทั้งกาสิโน ทั้งที่อยู่ในประเทศมุสลิมก็ตาม

            ขนาดของเก็นติ้งคือ 30,625 ไร่ หรือราว ๆ 49 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าเขตทวีวัฒนาของกรุงเทพมหานครเพียงเล็กน้อย การที่มาเลเซียยินดีให้พัฒนาโครงการนี้ก็เพราะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่มองเห็นว่าเก็นติ้งจะสามารถสร้างรายได้ได้มหาศาล ในขณะนี้มูลค่าของเก็นติ้งน่าจะเป็นเงินราว 6 แสนล้านบาท หากสามารถสร้างรายได้ๆ ปีละ 5% ของมูลค่าก็เท่ากับปีละ 30,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 55 ปี ณ ดอกเบี้ยปีละ 4% ก็เท่ากับสามารถสร้างเงิน ณ มูลค่าปัจจุบันสูงถึง 663,258 ล้านบาทเข้าไปแล้ว (http://bit.ly/2hYoY0M) ยิ่งถ้ารวมรายได้ของประชาชนโดยรอบ คงสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างเหลือคณานับ

            ในทางตรงกันข้ามถ้ามาเลเซียปล่อยไว้เลี้ยงดูงูเงี้ยวเขี้ยวขอ ก็คงเป็นความสิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เห็นแก่สิงสาราสัตว์ หรือธรรมชาติ เพียงแต่เราเอาที่ดินบางส่วน (ป่าและเขา) มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ แต่เหลือที่ส่วนใหญ่ไว้เพื่อการอนุรักษ์ ยิ่งถ้ามีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ยิ่งมีเงินทองและทรัพยากรมาใช้เพื่อการพัฒนาฟื้นฟูธรรมชาติยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม ยิ่งปล่อยป่าไม้ทิ้งไว้ตามยถากรรมและไม่มีใครเข้าไปดูแล ยิ่งเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าเสียเอง

            ท่านทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปีพื้นที่ป่าไม้ของไทยหายไปปีละ 1 ล้านไร่ (http://bit.ly/2hTgMSE) หรือราวๆ 100 เท่าของพื้นที่ ๆ จะใช้สร้างเขื่อนแม่วงก์ การสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็เพื่อให้ป่าไม้มีน้ำเขียวชอุ่ม สัตว์ป่าจะได้สมบูรณ์เพราะป่าปก ประชาชนจะได้ประโยชน์มีเขื่อนไว้กักเก็บน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง มีน้ำเพื่อการชลประทาน ผลิตไฟฟ้าโดยไม่สร้างมลภาวะเพราะใช้น้ำ สามารถทำประมงและการท่องเที่ยวได้อีก ฯลฯ แต่พอจะสร้างก็ถูกคนส่วนน้อยนิด ปั่นหัวไม่ให้สร้างไปเสีย ตั้งแต่ปี 2525 จนปัจจุบัน ตั้งแต่ย้ายชาวบ้าน 200 ครัวเรือนออกมาตั้งอยู่หน้าทางเข้าเขื่อนจนต้นไม้ค่อย ๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ยังไม่ได้สร้างทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ราว 78% ต้องการให้สร้าง

            อีกตัวอย่างที่จะทำให้เรา "ตาสว่าง" ขึ้นมาอีกอันหนึ่งก็คือ "บานาฮิลล์" ที่นครดานัง ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม  ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อนั่งกระเช้าชมความสวยงามดั่งสวรรค์ของเขาบานาฮิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร ที่นี่มีโรงแรมที่พัก สวนสนุก ศาลเจ้า สวนไม้ดอกนานาพันธุ์ ฯลฯ ทั้งนี้บานาฮิลล์เป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศมาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองแล้ว

            สิ่งที่เร้าใจมากและทำให้เราตาสว่างมากเช่นเดียวกับที่เก็นติ้งก็คือกระเช้าไฟฟ้าเพราะทำให้เห็นทัศนียภาพที่สวยงามเป็นอย่างยิ่ง กระเช้านี้เป็นกระเช้าที่ยาวที่สุดโดยยาวถึง 5 กิโลเมตร วิ่งโดยไม่หยุดแวะพักและยังเป็นกระเช้าที่สูงที่สุดในโลกจากระดับน้ำทะเลคือสูงถึง 1,300 เมตร ระหว่างนั่งกระเช้าสู่ยอดเขาบานาฮิลล์ จะผ่านเขากว่า 20 ลูก โดยไม่ได้ทำลายธรรมชาติเหมือนอย่างที่พวกเอ็นจีโอในประเทศไทย "ดรามา" ว่าจะทำลายธรรมชาติหากสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง กระเช้าที่ลังกาวีก็สวยงามยิ่ง (http://bit.ly/2h8w1pu) ผลการสำรวจภูกระดึงยังพบว่าประชากรในท้องที่ถึง 97% ต้องการให้สร้าง (http://bit.ly/1povC3l) แต่แพ้เสียงส่วนน้อยที่มีพลังอำนาจมากกว่า

            ในทางตรงกันข้าม บ้านเรา ผู้ที่บุกรุกได้ นอกจากผู้มีอิทธิพลใหญ่โตที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐแล้ว ยังรวมถึงวัดดังๆ ของพวกที่มีเส้นสาย และนับถือโดยผู้มีอำนาจรัฐอีกเช่นกัน จึงจะขึ้นไปปลูกสร้างบนยอดเขาให้ดู Amazing ได้เท่านั้น ดังนั้นเราพึงคิดใหม่ ในการบริหารรัฐกิจนั้น เราต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นมงคล เป็นสรณะ การเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดย

            1. เอาป่าเขาสวยๆ งามๆ มาให้สัมปทานแก่ภาคเอกชน อย่าได้กลัวว่าภาคเอกชนจะเอาเปรียบ ต้องประเมินค่าให้ถ้วนถี่ อย่าให้เสียเปรียบภาคเอกชน

            2. นำเงินที่ได้มาปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ซ่อมแซม-ปลูกป่า หรือส่งเสริมการรักษาป่าไม้อย่างได้ผล เพราะทุกวันนี้งบประมาณและกำลังพลมีจำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน

            3. ท้องถิ่นยังได้เงินภาษีที่ดินมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนอีกด้วย ประชาชนได้ประโยชน์ก็จะเลิกคิดไปล่าสัตว์ จับสัตว์ป่าขาย แต่จะรักษาไว้เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ คนยิ่งมาเที่ยว ประชาชนก็ยิ่งได้ประโยชน์จากการขายสินค้าและบริการท้องถิ่นมากขึ้นไปอีก

            4. เป็นการรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การบีฑาส่ำสัตว์ แต่เป็นการเกื้อหนุนกันและกันมากกว่า

            คิดใหม่ คิดมุมกลับเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่ปล่อยให้มีคนมาปั่นหัวเราว่าไม่ควรแตะต้องป่า แต่ปล่อยให้มีคนฉ้อฉลทำลายป่าเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่ทุกวัน

เก็นติ้งไฮแลนด์ https://bit.ly/2FaTEGL

 

บานาฮิลล์ https://bit.ly/2FbyAje

 

กระเช้าลังกาวี https://bit.ly/2Kas543

อ่าน 3,598 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved