พรบ.อีอีซี กับศักราชใหม่ของการขายชาติ
  AREA แถลง ฉบับที่ 269/2561: วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม 2561 พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 (10 พฤษภาคม) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มาชำแหละ พรบ.ฉบับนี้ว่าเป็นการปูทางสู่ศักราชใหม่ของการขายชาติอย่างแท้จริงหรือไม่

ดูวิดิโอ fb Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/1592089750903605/

 

ดูวิดิโอ Youtube คลิกที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/E_WQ2PPh0mU

 

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ และเคยทำงานในโครงการที่ปรึกษาขององค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ได้วิพากษ์พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 (https://bit.ly/2Gel8vu) ลองมาดูกันทีละมาตรา

            มาตรา 6 ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยองและพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก. . .เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

            ข้อแย้ง

            1. แสดงว่าไม่ได้จำกัดเฉพาะ (ตรงไหนก็ได้ใน) 3 จังหวัดตามที่โฆษณาแล้ว

            2. ต่อไปลามไปทั้งภาคตะวันออก รวมถึงสระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด โดยไม่ต้องตราเป็นพรบ.อีกต่อไป

            3. และต่อไปคงลามไปทั่วประเทศโดยเฉพาะกรณีให้ต่างชาติเซ้งที่ดินได้ 99 ปี ขีดความสามารถของไทยก็ด้อยกว่าเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น (https://goo.gl/wPYLQX) ไม่ต้องให้ต่างชาติเช่าที่ 99 ปีเลย

 


แผนที่ภาคตะวันออก 7 จังหวัด

            มาตรา 33 ในกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการใดเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ. . . ไม่ว่าการนั้นจําเป็นต้องดําเนินการภายในหรือภายนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หากการดําเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่และอํานาจของหน่วยงานของรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วย คณะรัฐมนตรีจะกําหนดให้หน่วยงานของรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือสํานักงานเป็นผู้ดําเนินการแต่เพียงหน่วยเดียว หรือให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือบางหน่วยร่วมกันดําเนินการหรือร่วมกับสํานักงานดําเนินการก็ได้. . . หากมีกฎหมายกําหนดให้ผู้ดําเนินการนั้นต้องได้รับอนุมัติหรืออนุญาตหรือต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหน่วยใด ให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้พิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบแทนหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น. . .

            ข้อแย้ง:

            1. เท่ากับสามารถดำเนินการนอกพื้นที่ 7 จังหวัดได้อีก

            2. เท่ากับคณะกรรมการนโยบายอยู่เหนือหน่วยราชการอื่นใดในประเทศไทย

 

            มาตรา 35 ให้สํานักงานและผู้ซึ่งทําธุรกรรมกับสํานักงานในกิจการเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์บรรดาที่กฎหมายกําหนดให้ต้องมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายนั้น

            ข้อแย้ง

            นี่ใช่การขายชาติหรือเปล่า ชาติอื่น เช่น สิงคโปร์ แค่ต่างชาติมาซื้อห้องชุดยังต้องเสียภาษีซื้อ 15% ฮ่องกง 30% แต่ไทยเราจะไม่เก็บค่าธรรมเนียม แถมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ร่างกันอยู่ก็ต่ำจนแทบไม่ต้องเสีย  อย่างนี้เราเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ไหม นอกจากเรายกแผ่นดินให้ต่างชาติแล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน ที่แม้แต่คนไทยก็ต้องเสีย ยกต่างชาติให้อยู่เหนือกว่าไทยแท้ๆ เช่นนี้คนไทยเสียเปรียบต่างชาติแล้ว


ที่มา: กรมที่ดิน https://bit.ly/2GOaLD0

            มาตรา 36 . . . คณะกรรมการนโยบายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอํานาจให้สํานักงานเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้. . .ให้อํานาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นอํานาจของคณะกรรมการนโยบาย. . .

            ข้อแย้ง

            1. แสดงว่าเกษตรกรผู้ที่ถือครองที่ ส.ป.ก.4-01 ก็จะขาดความมั่นคงในการถือครองที่ดินแล้ว

 

            มาตรา 39 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ. . .คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมดหรือบางส่วน หรืออุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอาจรวมถึงอุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรมอื่นใดด้วยก็ได้แต่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้. . .

            ข้อแย้ง

            อุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว จัดประชุม ฯลฯ มันเกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูงและสิ่งแวดล้อมตรงไหน คนไทยก็ทำได้ด้วยดีอยู่แล้ว นี่เท่ากับอ้างเพื่อหาทางให้ต่างชาติมา ฆ่า” อุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะใช่หรือไม่ นี่แสดงว่ารัฐจะกำหนดอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีก พวกต่างชาติจะพาเหรดกันมายึดประเทศไทยแล้ว ส่วนที่อ้างเรื่องยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร ก็ไม่ต้องไปไกลถึงภาคตะวันออก ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมใกล้ๆ ก็ได้ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณไปมหาศาลแบบ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” แบบนี้

 

           ที่บอกว่ามี 10 อุตสาหกรรมส่งเสริม เป็นแค่ฉากหน้าหลอก!! ยังมีบริการ-ท่องเที่ยวที่มีได้เปรอะไปหมดในอีอีซี แย่งคนไทยหากินหมดแน่ ดูที่มา: www.eeco.or.th

 

            มาตรา 48 ให้ผู้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ดังต่อไปนี้ (๑) สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว (๒) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร (๓) สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร (๔) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน

(๕) สิทธิประโยชน์อื่น. . .

            ข้อแย้ง

            นี่เท่ากับเป็นเขตเช่าของคนต่างชาติไปแล้วหรือไม่

 

            มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบ. . .ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน. . .ให้มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด แล้วแต่กรณี. . .

            ข้อแย้ง

            นี่ไม่แค่เช่าที่ดิน 99 ปี ประเคนที่ดินให้พวกต่างชาติ ทั้งที่ก็ไม่เห็นมีใครเรียกร้องอะไรเลย

 

            มาตรา 51. . .บุคคลดังกล่าวรวมทั้งคู่สมรส บุพการี และบุตร. . .อาจได้รับการลดหย่อนภาษี สิทธิเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการขออนุญาตทํางาน และสิทธิอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกําหนดก็ได้. . .

            ข้อแย้ง

            นี่ให้ต่างชาติขนคนเข้ามาโดยไม่เสียอะไรเลย มาตั้งอาณานิคม? แต่คนไทยแท้ๆ ต้องเสียภาษี

 

            มาตรา 52 การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์. . .มิให้นําความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ. . .ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลาเกินห้าสิบปี. . . การต่อสัญญาเช่า

อาจทําได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้. . .

            ข้อแย้ง

            ที่ยกเลิกไม่ใช่มาตราตามกฎหมายเดิม เพราะกฎหมายเดิมระบุชัดว่าจะต่อสัญญาได้อีกก็ต่อเมื่อหมดสัญญาเดิมที่จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น นี่เท่ากับจะทำให้การ “งุบงิบ” ทำสัญญาซ้อนเป็นการถูกกฎหมายใช่ไหม ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยให้เช่าช่วงได้อีก พวกต่างชาติไม่ใช่ที่ดินแล้ว ยังปล่อยให้เช่าช่วงอีก แต่ทีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เกษตรกรไม่ใช้ทำเกษตรแล้ว ยังต้องคืนหลวง นี่ปล่อยให้พวกต่างชาติมาหากินกับที่ดินไทย

 

            มาตรา 58 ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ. . . (1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน. . . (2) สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชําระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ. . .

            ข้อแย้ง: ต่างชาติสามารถใช้เงินตราสกุลของเขาเองได้ ต่อไปคงเอาไปซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ ไทยคงเหมือนกัมพูชาที่เดี๋ยวนี้ใช้แต่เงินดอลลาร์ กลายเป็นประเทศราชทางการเงินของมหาอำนาจ

 

            มาตรา 59 . . .(1) ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกําหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาต

ต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด สามารถประกอบวิชาชีพนั้นเพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้. . .

            ข้อแย้ง

            เราจะไม่ยกระดับนักวิชาชีพไทย และให้นักวิชาชีพต่างชาติมาเอาเปรียบนักวิชาชีพไทย

 

            บางท่านจึงอาจดูคล้ายกับว่าศักราชการขายชาติที่แท้ให้กับคนต่างชาติกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้วด้วย พรบ.ฉบับนี้ แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่คนไทยต้องพิจารณา ไทยไม่มีความจำเป็นต้องไปทำแบบนี้เลย ต่างชาติก็ไม่มีใคร “ขายชาติ” กันถึงขนาดนี้ เราทำชาติให้มีอารยะ มีเลือกตั้ง คนก็แห่กันมาลงทุนแบบที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเมียนมา

อ่าน 4,452 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved