เรียนรู้รถไฟฟ้า Light Rail สิงคโปร์
  AREA แถลง ฉบับที่ 484/2561: วันพฤหัสบดีที่ 04 ตุลาคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          สิงคโปร์มีระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานมาช้านานแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พึงรู้ก็คือ เขายังมีระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยควรมีบ้าง เพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น เรามาเอาเยี่ยงกา (บางอย่าง) แต่ใช่ต้องเอาอย่างกา (ไปซะทุกอย่าง) ลองมาดูกันครับ

          อันที่จริงระบบรถไฟฟ้า (Mass Rapid Transit) ของสิงคโปร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก่อนไทยถึง 12 ปีเลยทีเดียว โดยของไทยเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ระบบรถไฟฟ้าของสิงคโปร์มีผู้ใช้บริการถึง 3.031 ล้านคน ประกอบด้วยสถานีถึง 119 สถานี รวมระยะทาง 199.6 กิโลเมตร บนพื้นที่เกาะเล็ก ๆ ของสิงคโปร์เพียงประมาณ 722 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

          ในปี 2555 หรือ 6 ปีก่อน ระบบรถไฟฟ้าของสิงคโปร์มีผู้ใช้บริการ 2.406 ล้านคน ประกอบด้วยสถานีถึง 102 สถานี รวมระยะทาง 148.9 กิโลเมตร บนพื้นที่เกาะเล็ก ๆ ของสิงคโปร์เพียงประมาณ 625 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้น โดยกล่าวได้ว่าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสิงคโปร์ สามารถบริการประชาชนเพิ่มขึ้น 26% ของจำนวนผู้ใช้บริการ จำนวนสถานีเพิ่มขึ้น 17% (เพิ่ม 17 สถานี) และระยะทางของรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 34% หรือเพิ่มขึ้น 51 กิโลเมตร แสดงว่ารถไฟฟ้าในสิงคโปร์ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาขึ้นโดยตลอด

          นอกจากระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไปแล้ว สิ่งที่สิงคโปร์มีก็คือ Light Rail Transit (Light Rapid Transit) หรือรถไฟฟ้ามวลเบา ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2542 ปีเดียวกับที่ประเทศไทยเริ่มมีรถไฟฟ้า โดยถือเป็นระบบเสริมของรถไฟฟ้ามาตรฐาน (MRT) โดยเชื่อมในท้องที่ 3 แห่งที่มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ได้แก่ พื้นที่ Bukit Panjang ทางตะวันตก และพื้นที่ Sengkang และ Punggol ทางตะวันตกของเกาะสิงคโปร์

          ลักษณะของรถไฟฟ้ามวลเบาของเขาก็คล้ายกับระบบรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างอาคารท่าอากาศยานของท่าอากาศยานใหญ่ ๆ ทั่วโลก ซึ่งดอนเมืองเราก็เคยมีใช้เช่นกัน โดยมากเป็นรถไฟฟ้าตู้เดียวหรือไม่กี่ตู้เพราะไม่ได้มีผู้โดยสารมากมายเช่นรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไป สิงคโปร์พัฒนาระบบรถไฟฟ้ามวลเขาขึ้นมาเพื่อเชื่อมชุมชนใกล้เคียงกับระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานหลักที่มีอยู่ และขณะนี้มี 3 สาย จำนวน 42 สถานี รวมระยะทาง 28.8 กิโลเมตร มีผู้ใช้บริการวันละ 160,000 คนโดยรวม

          ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพื้นที่หนึ่ง คือ Punggol ซึ่งถือเป็นเมืองใหม่ที่มีระบบรถไฟฟ้ามวลเบาวิ่ง พื้นที่นี้มีขนาดประมาณ 9.57 ตารางกิโลเมตร 5,981 ไร่เท่านั้น  แต่บริเวณที่อยู่อาศัยมีขนาดเพียงประมาณ 2,000 ไร่ มีที่อยู่อาศัย 16,000 หน่วย คาดว่าจะสามารถมีประชากรราว 60,000 คน โดยคิดค่าโดยสารระหว่าง 20-25 บาท ซึ่งนับว่าถูกมากสำหรับคนสิงคโปร์ที่มีรายได้มากกว่าคนไทยถึงประมาณ 6 เท่า หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับค่าโดยสารประมาณ 4-6 บาทถ้าเป็นในกรณีประเทศไทย (ถูกกว่าค่ารถประจำทางหรือรถสองแถวเสียอีก)

          ในประเทศไทยของเราก็สามารถ “เอาเยี่ยงกา” คือเอาอย่างประเทศสิงคโปร์ได้เช่นกัน ลองนึกถึงพื้นที่ต่อไปนี้ ซึ่งสามารถทำ LRT ได้ประกอบด้วย

          1. ถนนพญาไท บรรทัดทอง อังรีดูนังต์

          2. ถนนเจริญกรุง (ถนนตก) ตรอกจันทน์ เซ็นต์หลุยส์

          3. ถนนทองหล่อ ซอยสุขุมวิท 49 (ซอยกลาง) เอกมัย

          4. ถนนอ่อนนุชและบริเวณใกล้เคียง

          5. ถนนสรรพาวุธและบริเวณใกล้เคียง

          6. ถนนเทียมร่วมมิตร

          7. ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ชานเมือง ประชาสงเคราะห์

          8. ถนนอินทามระ

          9. ถนนรัชดาภิเษก พหลโยธิน

          10. ถนนประชาชื่น ประชาราษฎร์สาย 1

          11. ถนนประดิพัทธ์ อารีย์สัมพันธ์

          12. ถนนพระราม 1 พระราม 6 เพชรบุรี

          13. ถนนสี่พระยา เจริญกรุง สุรวงศ์

          14. ถนนเจริญนคร สมเด็จเจ้าพระยา เป็นต้น

          ถ้ามีการก่อสร้าง LRT เกิดขึ้นจริง อาจให้ภาคเอกชนในประเทศ หรืออาศัยนักลงทุนต่างชาติที่เราต้องร่างข้อกฎหมายให้รัดกุม จะได้ไม่ “เสียค่าโง่” อีก ก็จะทำให้ประเทศชาติและอสังหาริมทรัพย์ไทยเร็วขึ้นและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

          ขอให้สำเร็จ ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตกด้วยเถอะ!

ทางเข้าสถานี Compassvale LRT station

ที่มาของรูปภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Light_Rail_Transit_(Singapore)#/media/File:SE1_Compassvale_Concourse.jpg

 

รถโดยสารขนาดเล็กชื่อ Crystal Mover ของ LRT สิงคโปร์

ที่มาของรูปภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Light_Rail_Transit_(Singapore)#/media/File:Singaporecrystalmover.JPG

อ่าน 4,843 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved