ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี: ผิดพลาดร้ายแรง
  AREA แถลง ฉบับที่ 510/2561: วันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4
            AREA แถลงนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย เรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Online ประชาไท เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ตาม link นี้ https://prachatai.com/journal/2018/10/79209

            ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่เพิ่งลงในราชกิจจานุเบกษานั้น มีจุดอ่อนมากมายที่ทางราชการควรทบทวน ผมจึงขออนุญาตนำเสนอความเห็นเพื่อประโยชน์ของชาติ

 

            หน้า คำนำ: รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล

            ผิด: จะมีธรรมาภิบาลได้อย่างไรในเมื่อยุทธศาสตร์ชาตินี้กำหนดโดยคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และจะมาบังคับใช้กับประชาชนไปอีก 20 ปีโดยขาดการตรวจสอบ

 

            หน้า 1: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 ที่ร้อยละ 3.9 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ. . .มีสาเหตุหลักจาก. . .สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่

            ผิด: ความจริงเศรษฐกิจโลกโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยต่างหาก (http://bit.ly/2lelmbB) ที่ไทยโตช้าเพราะการสร้างสถานการณ์วุ่นวายในประเทศเพื่อนำไปสู่รัฐประหารต่างหาก ประเทศในอาเซียนเติบโตกว่าไทยแทบทั้งสิ้น (https://goo.gl/UmPXtr)

 

            หน้า 2: ประเด็นท้าทายต่อการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งรวมถึงการสร้างความสามัคคีของคนในชาติที่จะนําไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชากรไทยที่มีแนวคิดและความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างยั่งยืน

            ผิด: การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต้องอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย แต่นี่แต่งตั้ง สว. กันเอง และให้คนเหล่านี้ยกมือตั้งนายกรัฐมนตรีได้ องค์กร (ไม่) อิสระก็ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน ไม่อาจเป็นที่พึ่งของประชาชน ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย นี่คือปมความขัดแย้งที่ไม่ได้แก้จึงทำให้ไม่เกิดความสามัคคีของคนในชาติ

 

            หน้า 2: การขยายอิทธิพลและการเพิ่มบทบาทของประเทศมหาอํานาจ ที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบหลายขั้วอํานาจ หรือเกิดการย้ายขั้วอํานาจทางเศรษฐกิจ

            ผิด: ในยุทธศาสตร์ชาติเขียนอย่างนี้ แต่ใน พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ กลับให้มหาอำนาจซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ 100% ไม่ต้องเสียภาษี ให้นักวิชาชีพต่างชาติมาแย่งงานคนไทยได้ สามารถใช้เงินตราต่างประเทศในไทยได้ ฯลฯ  อย่างนี้เท่ากับไทยสยบยอมต่อมหาอำนาจหรือไม่

 

            หน้า 5: “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

            ผิด: เป็นไปไม่ได้เพราะงบประมาณสวัสดิการของประชาชนคิดเป็นเพียงร้อยละ 42 ของประมาณสวัสดิการทั้งหมด ทั้งที่มีจำนวนผู้ที่ใช้บริการมากกว่าถึงเกือบ 9 เท่า (https://bit.ly/2yHs0ju) สภาวะที่ข้าราชการประจำเอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ ทำให้คนไทยจนลง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นต่างหาก (http://bit.ly/2xYuOLP) ต่างจากในยุคประชาธิปไตยที่ประชาชนมีรายได้มากขึ้น เช่น การจำนำพืชผลทางการเกษตร

 

            หน้า 8: เป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน”

            ผิด: การที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย มีคนที่ได้เปรียบมาบริหารประเทศโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ประชาชนไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง จะบรรลุเป้าหมายข้างต้นไม่ได้แน่นอน ขีดความสามารถก็จะไม่พัฒนา ความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคมก็จะไม่บังเกิดขึ้นได้เลย

 

            หน้า 11: ยกระดับขีดความสามารถของกองทัพหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ให้มีความพร้อมและเพียงพอในการป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศ

            ผิด: การที่ประเทศไทยมีจำนวนนายพลนับพันคนหรือมากกว่ากองทัพสหรัฐอเมริกา (https://bit.ly/2Ae2qog https://bit.ly/2P5pqxN) แสดงว่าไทยใช้งบประมาณเพื่อข้าราชการมากเกินไป ทำให้ขาดความมั่นคงของประเทศและประชาชนต่างหาก

 

            หน้า 12: ตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง

            ผิด: เพราะเป็นตัวแปรที่กว้าง ไม่สามารถใช้ชีวัดอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน เช่น 3.1 ความสุขของประชากรไทย 3.2 ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ 3.3 ความพร้อมของกองทัพ. . .3.4 บทบาทและการยอมรับในด้านความมั่นคงของไทยในประชาคมระหว่างประเทศ 3.5 ประสิทธิภาพการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม

 

            หน้า 13-14: การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเสถียรภาพและมีธรรมาภิบาล เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน. . .การบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาลสากล. . . สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม. . .

            ผิด: ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ยังยึดโยงกับกลุ่มผู้มีอำนาจ สามารถแต่งตั้ง สว. และองค์กรอิสระได้ ยังสามารถ "สืบทอดอำนาจ" ได้  การโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเองเป็นคนดีมีคุณธรรมสูงกว่านักการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ผิดขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว

 

            หน้า 21: เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 2.1 ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน 2.2 ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

            ผิด: ยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้ ไม่ได้ประกันอะไรได้เลยว่าไทยเราจะไม่ด้อยลงกว่าต่างชาติ เมื่อก่อนเศรษฐกิจไทยพอๆ กับหลายชาติ แต่ก็ถูกชาติอื่นแซงไป ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย และในอนาคตอาจเป็นเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้สามารถแข่งขันได้จริงหรือ จะเห็นได้ว่าประเทศที่เริ่มเป็นประชาธิปไตยจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น เมียนมา อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

 

            หน้า 34: ที่ว่า “คนไทยในอนาคตจะต้องมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์อดออม โอบอ้อมอารีมีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติมีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21. . ."

            ผิด: นี่เป็นตัวอย่างของการเขียนไปเรื่อย ถ้าคนไทยไม่มีลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว คงสิ้นชาติไปนานแล้ว คนที่ไม่มัธยัสถ์อดออม ไม่มีจิตสาธารณะ ขาดศีลธรรม ปล้นชิงและเสพติดอำนาจล้วนแต่เป็นข้าราชการประจำระดับสูงที่สร้างปัญหาให้แก่ชาติต่างหาก

 

            หน้า 35: เป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ 2.1 คนไทยเป็นคนดีคนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสําหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 2.2 สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต โดยมี ตัวชี้วัด 3.1 การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาวะ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย 3.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3.3 การพัฒนาสังคมและครอบครัวไทย

            ผิด: เป็นการเขียนที่ไม่เป็นรูปธรรม วัดอะไรไม่ได้เลย ไม่อาจถือเป็นยุทธศาสตร์ของชาติได้เลย

 

            หน้า 35: การสร้างความเข้มแข็งในสถาบันทางศาสนา เพื่อเผยแผ่หลักคําสอนที่ดีงามให้แก่ประชาชน. . .

            ผิด: ที่ผ่านมา แม้แต่การตั้งสังฆราชที่คณะสงฆ์เห็นชอบ ทางราชการก็แทรกแซง ถือเป็นการครอบงำวงการศาสนา บ่อนทำลายความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาหรือไม่

 

            หน้า 36: การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่พึงประสงค์จากภาคธุรกิจ โดยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล พัฒนาสร้างความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมของคนทุกคนในบริษัททั้งพนักงานและลูกค้า ปรับเปลี่ยนทัศนคติการคํานวณผลตอบแทนให้คํานึงถึงต้นทุนทางสังคม. . .

            ผิด: ถ้าทางราชการไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ภาคเอกชนก็มีธรรมาภิบาล ไม่ต้องเจียดกำไรไปให้ข้าราชการทุจริต แต่ที่ผ่านมาดัชนีความโปร่งใสของไทยก็ยังต่ำมากหลังรัฐประหารผ่านมา 4 ปีแล้วก็ตาม (https://bit.ly/2AftB1M)

 

            หน้า 38: การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกประเภท จัดให้มีมาตรฐานขั้นต่ำของโรงเรียนในทุกระดับ จัดโครงสร้างการจัดการการศึกษาเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์และให้เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค ทั่วถึง. . .ยกระดับสถาบันการศึกษาในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสู่ความเป็นเลิศ . . .

            ผิด: สิ่งที่เขียนส่งเดชไว้ ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ หรืออะไรชี้วัดได้เลยว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง

 

            หน้า 41: การสร้างความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย

            ผิด: ที่เขียนในยุทธศาสตร์ นอกประเด็นทั้งสิ้น ประชาชนอยู่ดีกินดี ต้องมีการประกันราคาพืชผล  มีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดี มีการทำลายวงจรอุบาทว์ที่ทำให้คนไทยยากจนลง เช่น ปราบปรามยาบ้า หวยใต้ดิน บ่อนเถื่อน แต่รัฐบาลหลังรัฐประหารไม่ได้ดำเนินการจริงจัง ยังคงมีเกลื่อนเมือง

 

            หน้า 41: การส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

            ผิด: ที่เขียนเป็นคุ้งเป็นแควในยุทธศาสตร์ไม่ได้มีประเด็นการเลือกผู้ว่าฯ นายอำเภอ ยังคงส่งเสริมให้ราชการส่วนกลางไปครอบงำท้องถิ่น แล้วประชาชนจะมีส่วนร่วมอะไรได้

 

            หน้า 45: ปฏิรูประบบภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค

            ผิด: ที่ผ่านมาไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ภาษีมรดกที่ออกมาก็ผิดเพี้ยน ปกป้องคนรวย เก็บภาษีจริงแทบไม่ได้ (https://bit.ly/2Afv7Rw) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ร่างไม่เสร็จสักที อาจไม่ทันรัฐบาลนี้ ผิดเพี้ยน และปกป้องคนรวยเช่นเดิม โดยมีข้อยกเว้นสารพัด (https://bit.ly/2Ov2PeD)

 

            หน้า 47: การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

            ผิด: อ้างกระจายความเจริญ แต่แท้จริงแล้ว กลับเป็นการพัฒนาที่สะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง อย่างเช่น พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ก็ไม่มีผังเมือง ควรมีผังเมือง มีการเวนคืนก่อนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ที่ "เตะถ่วง" นี้ก็เพื่อเอื้อเอกชนรายใหญ่ให้รวบรวมที่ดินมาขออนุญาตสร้างเมืองใหม่โดยไม่ต้องผ่านการประมูลหรือไม่

 

            หน้า 51: สร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างประชาธิปไตยชุมชนโดยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มและมีเวทีกลางเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและเพื่อปรึกษาหารือ. . .

            ผิด: แทนที่จะให้มีการเลือกตัวแทนของประชาชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อปท. นายอำเภอ ผู้ว่าฯ กลับไพล่ไปเสนอการมีส่วนร่วมแบบฉาบฉวย เบี่ยงประเด็น และไม่มีพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตย

 

            หน้า 52: อนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้อย่างยั่งยืน มีสมดุล

            ผิด: ไม่มีการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง ชาวบ้านยังบุกรุกถางถางป่าเพื่อปลูกพืชไร่ขายแก่นายทุนใหญ่ กลับคิดแต่จะทำในสิ่งที่ไม่มีแก่นสารเท่าที่ควรแต่ประดิษฐ์ประดอยคำพูดให้ดูสวยงาม

 

            หน้า 58: จัดทําแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเมือง ชนบท พื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์ตามศักยภาพและความเหมาะสมทางภูมินิเวศอย่างเป็นเอกภาพ

            ผิด: ที่ผ่านมาเรามีผังเมืองที่ผิดเพี้ยน หมดอายุ แทนที่จะรีบแก้ ก็สั่งให้ไม่มีวันหมดอายุ การผังเมืองล้าหลัง ก็ไม่ได้มียุทธศาสตร์การพัฒนาให้ทันนานาอารยประเทศใดๆ เลย แล้วยุทธศาสตร์ที่ออกมานี้จะได้ประโยชน์อะไร

 

            หน้า  60: พัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ

            ผิด: สิ่งที่เขียนเป็นเพียงคำพูดหรูๆ ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มียุทธศาสตร์การจัดการป้องกันภัยหน้าน้ำท่วมฝนแล้งซ้ำซากด้วยการสร้างเขื่อน หรือจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสม ยังคงปล่อยให้น้ำไหลทิ้งลงทะเลอย่างสูญเปล่า

 

            หน้า 65: ภาครัฐมีขนาดที่เล็กลง พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง (และ) ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ

            ผิด: ไม่มีแผนการชัดเจนแม้แต่น้อยในการลดขนาดภาครัฐ มีแต่เพิ่มขนาดมากขึ้น พร้อมสวัสดิการมากมาย บุคลากรภาครัฐยังไม่มียุทธศาสตร์ "รับใช้ประชาชน" แม้แต่คำเดียว มีแต่ลักษณะเป็นเจ้าคนนายคนมากขึ้นทุกวัน นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้ดัชนีความโปร่งใสของไทยไมได้กระเตื้องขึ้นนัก

 

            หน้า 70:  บุคลากรและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเคารพและยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พึงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

            ผิด: ที่ผ่านมามีการยึดอำนาจ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่เคยคัดค้านหรือทัดทาน สิ่งที่ไม่มีในยุทธศาสตร์ชาติก็คือ ผู้พิพากษาควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่แน่นอนเช่นอารยประเทศ (http://bit.ly/2ck3lVN)

 

            อาจกล่าวได้ว่าในเอกสาร 72 หน้าของยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) นั้น ได้แต่เขียนยาว เยิ่นเย้อ โดยไม่มีสาระสำคัญอะไรเท่าที่ควร กว้างๆ แคบๆ ดูคล้ายการเอานโยบายและแผนของส่วนราชการต่าง ๆ มาปะติดปะต่อกันมากกว่าจะมีความเป็นยุทธศาสตร์ที่แท้จริง ไม่น่าจะเป็นเรื่องระดับยุทธศาสตร์ของชาติ ไม่มีสาระที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร

            ที่น่าคิดไปกว่านั้นก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการร่างโดยคณะกรรมการ (https://bit.ly/2CmAxvF) คงใช้จ่ายเงินไปนับร้อยล้านบาท แถมจะอยู่ต่อได้อีก 5 ปี มันคุ้มค่าหรือ

อ่าน 9,112 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved