ทั่วไทยยังมีบ้านเหลือขาย 454,814 หน่วย มูลค่า 1.34 ล้านล้านบาท
  AREA แถลง ฉบับที่ 10/2562: วันพุธที่ 09 มกราคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในปี 2562 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยพบว่าจะมีที่อยู่อาศัยรอขายในประเทศไทย 454,814 หน่วย รวมมูลค่า 1,344,356 ล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสุดยิ่งใหญ่ มีหน่วยขายถึง 40% ของทั้งตลาด แต่มีมูลค่ารวมกันถึง 55% ของทั้งตลาด จังหวัดที่น่าเป็นห่วงได้แก่ ตาก นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี ซึ่งแม้เป็นเมืองใหญ่ แต่การขายช้าและเหลืออยู่มาก

            จากการประเมินของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่และมีฐานข้อมูลมากและยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2537  พบว่า ณ สิ้นปี 2561 มีหน่วยขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศทุกประเภททั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว อาคารชุดและที่ดินจัดสรร ที่จะเข้ามาขายในปี 2562 จำนวนรวมกันถึง 454,814 หน่วย หรือประมาณ 30% ของหน่วยขายที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งนี้รวมมูลค่ารวมกันถึง 1,344,356 ล้านบาท หรือประมาณ 45% ของงบประมาณแผ่นดินไทยในปัจจุบัน  หน่วยขายที่อยู่อาศัยหน่วยหนึ่งมีราคาราว 2.956 ล้านบาท ในแต่ละเดือนแต่ละโครงการควรขายได้ประมาณ 3.2% ของหน่วยขายทั้งหมด

            เมืองที่ยังมีหน่วยรอขายอยู่มากที่สุดได้แก่ กรุงเทพมหานคร มีอยู่ 91,600 หน่วยที่ยังรอขายในปี 2562 รองลงมาคือ ชลบุรี มีจำรนวน 34,400 หน่วยเป็นอันดับสอง ตามด้วย อันดับสาม นนทบุรี 32,700 หน่วย ส่วนอันดับสี่คือ สมุทรปราการ มีจำนวน 25,300 หน่วย  และปทุมธานี เป็นอันดับห้า มีจำนวน 22,600 หน่วย  อาจกล่าวได้ว่า 5 อันดับแรกนี้มีสัดส่วนเป็น 20%, 8%, 7%, 6% และ 5% ตามลำดับ เมืองใหญ่ 5 อันดับแรกนี้ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 45% ของตลาดที่อยู่อาศัยในมือของผู้ประกอบการในประเทศไทย  ในขณะที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็มีขนาดใหญ่เป็น 40% ของทั้งประเทศเช่นกัน

            มูลค่าหน่วยขายทั้งหมด 454,814 หน่วย รวมมูลค่า 1,344,356 ล้านบาทนั้นปรากฏว่าใน 5 อันดับแรกได้แก่ อันดับที่หนึ่ง กรุงเทพมหานคร รวมมูลค่า 454,230 ล้านบาท หรือราว 34% ของทั้งตลาดทั่วประเทศ อันดับที่สองคือ นนทบุรี มีมูลค่า 107,730 ล้านบาทหรือราว 8%  อันดับที่สามคือ ชลบุรี รวม 94,700 ล้านบาท หรือมีสัด่วน 7% ของทั้งหมด อันดับที่ 4 คือ สมุทรปราการ มีมูลค่า 82,260 ล้านบาท หรือ 6% และอันดับที่ 6 คือ ปทุมธานี ที่มีรวมกัน 62,640 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนอยู่ 5%  ส่วนเชียงใหม่นับเป็นอันดับที่ 6 ยังมีบ้านรอขายอยู่ 54,100 ล้านบาท มีสัดส่วน 4% เท่านั้น

            ดร.โสภณกล่าวว่า โดยเฉพาะ 5 มหานครแรกของประเทศไทยนี้ (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี) มีมูลค่าที่อยู่อาศัยรอการขายในปี 2562 ในสัดส่วน 59% ของทั้งหมดในตลาดทั่วประเทศ  ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) มีสัดส่วนอยู่รวมกัน 55% ซึ่งถือว่าเป็นอภิมหานคร (Primate City)     จะสังเกตได้ว่าขนาดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อ 10 ปีก่อนที่ศูนย์ข้อมูลฯ สำรวจไว้ มีขนาดราว 50% แต่ขณะนี้มีขนาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับทั่วปรเเทศ

            ยิ่งกว่านั้นยังมีข้อสังเกตว่า มหานครที่มีขนาดใหญ่รองจาก กทม.และปริมณฑล เป็นจังหวัดชลบุรี ซึ่งศูนย์ข้อมูลแบ่งย่อยเป็นเมืองย่อย 8 เมือง แต่หลังจากชลบุรี ก็เป็นเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง เพชรบุรี ก็เติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะเป็นทั้งเมืองอุตสาหกรรม และยังเป็นเมืองตากอากาศอีกด้วย  เมืองหลักในจังหวัดภูมิภาคทั้งหลาย ที่ไม่ใช่เป็นเมืองชายแดน ไม่ใช่เมืองตากอากาศ หรือไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม กลับมีขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยไม่ใหญ่มากนัก แสดงให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยภูมิภาคหดตัวลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยลงกว่าแต่ก่อน

            ราคาที่อยู่อาศัยที่พัฒนาโดยนักพัฒนาที่ดินภาคเอกชนในประเทศไทยเป็นเงินหน่วยละ 2.956 ล้านบาท ดร.โสภณกล่าวว่า ราคาในกรุงเทพมหานคร มีราคาสูงสุดโดยเฉลี่ยหน่วยละ 4.959 ล้านบาท อันดับที่ 2 คือ ภูเก็ต มีราคาเฉลี่ยหน่วยละ 4.615 ล้านบาท อันดับสามคือ เชียงใหม่ มีราคา 4.434 ล้านบาทต่อหน่วย อันดับสี่คือ ประจวบคีรีขันธ์ ราคา 3.902 ล้านบาทต่อหน่วย ตามด้วยอันดับที่ 5 เพชรบุรี ราคาเฉลี่ย 3.351 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเมืองตากอากาศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด มักจะมีราคาที่อยู่อาศัยที่สูงกว่า ส่วนเมืองหลักในภูมิภาคมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และหลายเมือง  เส้นมัธยฐานอยู่ที่ 2.7 ล้านบาทเท่านั้น

            จังหวัดที่มีสัดส่วนการขายสูงสุดไม่ใช่กรุงเทพมหานคร แต่เป็นภูเก็ต โดยในแต่ละเดือนขายได้ประมาณ  6.9% ของหน่วยขายทั้งหมด แสดงว่าโครงการหนึ่งๆ เฉลี่ยจะขายได้หมดภายในเวลา 15 เดือน ส่วนกรุงเทพมหานครเป็นอันดับที่สองด้วยสัดส่วน 5.2% ต่อเดือน  สำหรับอันดับที่ 3 ร่วมมี 3 จังหวัดคือ ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี และระยอง ขายได้เดือนละ 4.5% โดยคาดว่าโครงการหนึ่งๆ จะขายหมดในเวลา 22 เดือนนับแต่การเปิดตัว

            จังหวัดที่น่าห่วงใยในกรณีการขายที่อยู่อาศัยที่พึงสังวรเป็นพิเศษ มี 5 จังหวัด ได้แก่ อันดับหนึ่ง ตาก แม้มีหน่วยขายเหลือเพียง 480 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 40% ของทั้งหมดและมีอัตราการขายต่อเพียง 2.1%  อันดับสอง นครศรีธรรมราช เหลือขายอยู่ 2,100 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 38% ของทั้งหมดและมีอัตราการขายต่อเพียง 2.3%  อันดับสาม ปราจีนบุรี เหลือขายอยู่ 2,700 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 55% ของทั้งหมดและมีอัตราการขายต่อเพียง 2.7%  อันดับสี่ สุราษฎร์ธานี เหลือขายอยู่ 3,100 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 36% ของทั้งหมดและมีอัตราการขายต่อเพียง 2.6%  อันดับห้า อุบลราชธานี เหลือขายอยู่ 2,200 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 34% ของทั้งหมดและมีอัตราการขายต่อเพียง 2.9% เท่านั้น

            นอกจากที่อยู่อาศัยใน 30 จังหวัดที่สำรวจประจำแล้ว ดร.โสภณ ยังประมาณการอีก 47 จังหวัดที่มีขนาดเล็ก คาดว่าจะมีหน่วยขายเหลือเข้ามาขายในปี 2562 จำนวน 114,331 หน่วย ซึ่งถือเป็นประมาณ 30% ของหน่วยขายที่เคยเปิดตัวทั้งหมด มีมูลค่าหน่วยเหลือขายหรือที่รอผู้ซื้ออยู่รวมกันเป็นเงิน 217,229 ล้านบาท ทำให้ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของที่อยู่อาศัยในจังหวัดเล็ก มีค่าเพียง 1.9 ล้านบาทต่อหน่วย และมีอัตราการขายได้ราว 3.0% ต่อเดือน  อาจกล่าวได้ว่าใน 47 จังหวัดนี้เฉลี่ยแล้วจังหวัดหนึ่งๆ มีจำนวนหน่วยเหลือขาย 2,433 หน่วย เป็นเงิน 4,622 ล้านบาท นับว่าเป็นเพียงจังหวัดที่มีขนาดอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก ทั้ง 47 จังหวัดนี้รวมกันมีจำนวนหน่วยรอขายมากกว่ากรุงเทพมหานครเล็กน้อย แต่มูลค่าน้อยกว่ามาก เพราะราคาเแลี่ยถูกมาก

            ราคาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยที่ค่าเฉลี่ยที่ 2.956 ล้านบาทนี้ นับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงพนมเปญ สิงคโปร์ กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ซิตี้  ซึ่งแต่ละแห่งมีราคาเฉลี่ยเกินกว่าประมาณ 4.5 ล้านบาทขึ้นไป  ราคาที่อยู่อาศัยที่ถูกกว่าประเทศไทยได้แก่ที่กรุงจาการ์ตา และกรุงมะนิลา ที่ขายราคาเฉลี่ยไม่เกิน 3 ล้านบาท  ทั้งนี้เพราะตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของไทยมีขนาดใหญ่กว่าประเทศทั่วอาเซียน  ประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไม่มีประชาชนออกมาเรียกร้องว่าบ้านแพง ไม่สามารถซื้อบ้านได้  จำนวนประชากรข้างถนน (Street Dwellers) ก็มีเพียงไม่เกิน 5,000 คน ทั้งนี้เป็นผลการสำรวจของมูลนิธิอิสรชนซึ่ง ดร.โสภณ เป็นประธานมูลนิธินี้เช่นกัน

อ่าน 5,665 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved