วิธีอ่าน พรบ.ที่มีการแก้ไขมากมาย
  AREA แถลง ฉบับที่ 204/2562: วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ล่าสุดมีพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) เราท่านที่ไม่ใช่นักกฎหมายอาจจะงงว่า แล้วฉบับที่ 1-7 จะไปหาที่ไหน จะอ่านครบหรือไม่ จะตกหล่นหรือเปล่า แบบนี้ทำอย่างไรดี

            ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ก ตอนที่ 50 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 (http://bit.ly/2V94dWE)ปรากฏความตอนหนึ่งว่า "มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน    (5) ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช  2484  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่  31/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ลงวันที่ 21 มิถุนายน พุทธศักราช 2559 และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน '(5)  “ทำไม้”  หมายความว่า  ตัด  ฟัน  กาน  โค่น  ลิด  เลื่อย  ผ่า  ถาก  ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า  หรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ'"

            หรืออีกตอนหนึ่งว่า "มาตรา           4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "'มาตรา ๗ ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา   สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวล กฎหมายที่ดิน  ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภท หนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็น ไม้หวงห้าม'"

            หรืออีกตอนหนึ่งว่า "มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 2/1 การรับรองไม้ มาตรา 18/1 มาตรา  18/2 และมาตรา 18/3 ของหมวด 1 การทำไม้และเก็บหาของป่า  แห่งพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พุทธศักราช 2484. . ." และในฉบับที่ 8 นี้ ก็เขียนมาตราที่ 18/1, 18/2 และ 18/3 ขึ้นมาใหม่เลย

            ในการอ่านกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติที่มีการแก้ไขแล้วแก้ไขเล่าแบบนี้ ให้อ่านในฉบับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีการนำสิ่งที่แก้ไขต่างๆ ไป "ปะชุน" ในพระราชบัญญัติฉบับแรกไว้หมดแล้ว จะได้ไม่ตกหล่น ไม่สับสน เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับของกฤษฎีกา สามารถหาอ่านได้ที่ https://tinyurl.com/y33jwg35 เป็นต้น ในกฎหมายฉบับอื่นๆ ก็เช่นกัน  แต่ถ้าเราค้นหาด้วย google ก็จะมีทั้งพระราชบัญญัติทั้งของเก่าและของใหม่ออกมาเต็มไปหมด ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนได้

            ในต่างประเทศก็เช่นกัน อย่างกรณี พ.ร.บ. การพัฒนาและที่อยู่อาศัย หรือ Housing and Development Act ของประเทศสิงคโปร์ (http://bit.ly/2IqgEHN) ซึ่งตราขึ้นครั้งแรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2503 แต่เมื่อมีการแก้ไขจุดไหน ก็ใส่สิ่งที่แก้ไขพร้อมหมายเหตุลงไปใน พ.ร.บ.ฉบับเดิมเลย  หรือพระราชกฎษฎีกาเรื่องที่อยู่อาศัยของฮ่องกง (Housing Ordinance Hong Kong: http://bit.ly/2PiA2ab) ก็ปรากฏว่าตราครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2516 และในมาตราใดที่มีการแก้ไข ก็จะระบุวันที่แก้ไว้เรียบร้อยเลย

            อ่านกฎหมายของสำนักงานกฤษฎีกา ครบถ้วน ชัดเจน ที่สุด

 

อ่าน 5,143 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved