วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในอาเซียน
  AREA แถลง ฉบับที่ 534/2562: วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศเพื่อนบ้านก้าวเร็วกว่าไทย เรามาดูกันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะอดีตกรรมการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาเซียน และสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุม 22nd Asean Valuers Association Congress ณ เมืองพัทยาในบ่ายวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2562 จึงขอสรุปแนวโน้มการพัฒนาวิชาชีพผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในอาเซียน

 

กัมพูชา

            ตั้งแต่ปี 2551 กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กัมพูชาตั้งคณะกรรมการการประเมินค่าทรัพย์สิน ตอนนี้มีบริษัทประเมิน 40 แห่งแต่ที่ยังดำเนินการมี 10 แห่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีสมาคมนายหน้า-ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศกัมพูชา ผู้ประเมินต้องจบปริญญาตรีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 6 เดือน ไม่มีประวัติอาชญากรรม ต่างชาติก็จดทะเบียนได้ บริษัทประเมินต้องมีผู้ประเมิน 2-3 คน ส่วนการประเมินเพื่อการจัดเก็บภาษี ทางราชการประเมินเอง

 

บรูไน

            ใช้มาตรฐาน RICS แต่บรูไนกำลังจะตั้งคณะกรรมการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน แต่ที่ผ่านมามีกรมที่ดินเป็นผู้ดูแลวิชาชีพนี้ มีผู้ประเมินเพียง 50 คนเท่านั้น

 

ฟิลิปปินส์

            เริ่มมีกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติในปี 2531 แต่มีผลด้านปฏิบัติในปี 2551 เริ่มควบคุมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินรายบุคคล โดย Professional Regulatory Commission สำหรับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ก็มีรายชื่อบริษัทผู้ประเมินเอง  ในกรณี Assessment ทางราชการมีผู้ประเมินเอง

 

มาเลเซีย

            มาเลเซียมี พรบ.ประเมินและนายหน้าตั้งแต่ปี 2524 โดยตั้งคณะกรรมการผู้ประเมิน-นายหน้า-ผู้บริหารทรัพย์สิน โดยมีทางราชการและบริษัทประเมิน ทั้งนี้อธิบดีกรมประเมินเป็นประธานคณะกรรมการ ผู้ประเมินต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ ไม่มีการแบ่งแยกประเภทผู้ประเมิน แต่มีนักประเมินในภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น เช่น การประเมินค่าธุรกิจ แต่ใช้หลักการเดียวกัน

 

เวียดนาม

            กระทรวงการคลังโดยใช้พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินออกเป็น 10 มาตรฐาน คนที่จะทำประเมินได้ต้องผ่านการสอบผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ขณะนี้มี ผู้ประเมิน 3,000 คน รวมใน 200 บริษัท ผู้ประเมินต้องเรียนหลักสูตร 20 เดือน ที่จัดโดย Price Control Department หรือสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน

 

สิงคโปร์

            ในสิงคโปร์ ต้องมีใบอนุญาตประเมินค่าทรัพย์สิน โดยกรมเก็บภาษี หรือ  Inland Revenue Department ภายใต้กระทรวงการคลัง ตอนนี้มีผู้ประเมิน 500 คน โดยต้องจบด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำงานมา 2 ปีแล้ว และต้องเป็นสมาชิกสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินสิงคโปร์

 

อินโดนีเซีย

            กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกใบอนุญาตผู้ประเมินแบบ public valuers  แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่จับต้องได้ กลุ่ม 2 เป็นการประเมินทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน หรือมูลค่าธุรกิจ กลุ่ม 3 เป็นผู้ประเมินให้ธนาคาร และกลุ่มสุดท้ายเป็นผู้ประเมินเฉพาะสังหาริมทรัพย์ โดยมีรวมกัน 700 คน แต่มีสมาชิกสมาคมผู้ประเมิน 8,000 คน  ผู้ประเมินต้องผ่านการอบรมพื้นฐานจากสมาคม แล้วจดทะเบียน และหลังจาก 2 ปี ก็จะเป็น public valuers ยิ่งกว่านั้นยังมีผู้ประเมินภาครัฐ (assessors) อีก 3,000 คน  การสอบผู้ประเมิน กระทรวงมอบหมายให้สมาคมจัดสอบ

            สำหรับประเทศไทยยังไม่มีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง มีเพียงสำนักงาน กลต. ที่ดำเนินการแต่เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะเป็นหลัก และมีสมาคมที่เกี่ยวข้องดูแลกันเองเป็นหลัก

อ่าน 1,758 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved