เพี้ยน มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนซื้อบ้าน
  AREA แถลง ฉบับที่ 564/2562: วันจันทร์ที่ 04 พฤศจิกายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่ทางราชการสั่งลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอน ถือเป็นมาตรการที่ผิดพลาด ไม่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์  รัฐบาลพึงทบทวน

            ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มีรายละเอียดว่า “ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน ร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง สำหรับกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จากผู้จัดสรรที่ดินที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือที่ดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยทางราชการหรือองค์การของรัฐบาลซึ่งมีอำนาจ หน้าที่ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย โดยราคาซื้อขายไม่เกินสามล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกินสามล้านบาท” (https://bit.ly/2CfxwM5)

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะนายกสมาคมผู้ซื้อบ้าน (www.thaihomebuyers.org) มีความเห็นว่าประกาศนี้มีความไม่ถูกต้อง คือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ใช่การช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้เพราะในกรณีประชาชนซื้อขายบ้านกันเอง กลับไม่ได้รับการลดค่าธรรมเนียมโอนเอง

            รัฐบาลจำเป็นต้องถือประชาชนเจ้าของประเทศเป็นที่ตั้ง หากประชาชนสามารถได้รับส่วนลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอน ก็จะกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย ทำให้ประชาชนมีเงินในการใช้หนี้ หรือมีเงินในการไปลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลและทั่วหน้าทั้งประเทศ ระบบเศรษฐกิจก็จะฟื้นคืนมาได้ในระดับหนึ่ง แต่มาตรการนี้กลับเป็นการช่วยบริษัทพัฒนาที่ดินเป็นสำคัญ

            มาตรการแบบนี้เป็นเพียงการช่วยระบายสินค้าของผู้ประกอบการ และทำให้ผู้ประกอบการผลิตที่อยู่อาศัยมากขึ้นในภาวะที่ในตลาดยังมีบ้านเหลือขายของประชาชนทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก  การผลิตที่อยู่อาศัยมากขึ้นในภาวะขณะนี้ ย่อมทำให้ต้องผลิตปูนซีเมนต์มากขึ้น ซื้อเหล็กจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและสูญเสียดุลการค้า

            รัฐบาลอาจเข้าใจผิดว่าการผลิตที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ  แต่ความจริงการซื้อทรัพย์ที่เป็นบ้านหรือห้องชุดมือสอง ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะบ้านมือสองก็ต้องตบแต่ง แม้จะไม่มากเท่าบ้านมือหนึ่ง แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่บ้านมือหนึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้  ในการซื้อทั้งบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสองต่างก็ต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน ต้องใช้บริการสำรวจประเมินค่าทรัพย์สิน ต้องใช้บริการนายหน้า ในการเข้าอยู่อาศัย ต่างก็ต้องซื้อเครื่องเรือนใหม่  แต่บ้านมือสองมีราคาถูกกว่า ยังเหลือเงินสำหรับการฉลองการย้ายบ้านใหม่เสียอีก

            ยิ่งกว่านั้นหากมีมาตรการช่วยเหลือบริษัทนักพัฒนาที่ดินจริงๆ ก็ควรเน้นช่วยบริษัทพัฒนาที่ดินที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่ใช่ช่วยรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 45 แห่ง แต่บริษัทมหาชนมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า ครองส่วนแบ่งในตลาดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณสองในสาม  ในขณะที่บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ จำนวนประมาณ 600 แห่ง ครองส่วนแบ่งในตลาดเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น

            รัฐบาลจึงควรทบทวนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ให้ถูกทางเสียใหม่โดยมุ่งไปที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งเน้นช่วยผู้ประกอบการ SMEs มากกว่ารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์

 

อ่าน 2,575 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved