พระพุทธเจ้าเป็นนักประชาธิปไตย
  AREA แถลง ฉบับที่ 652/2562: วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เห็นมีกระแสให้ไทยละทิ้งระบอบประชาธิปไตย มีการใส่ไคล้ว่าระบอบนี้ไม่ดีต่างๆ นานา แต่ชาวพุทธพึงตระหนักว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักประชาธิปไตย นี่ไม่ใช่การนำการเมืองมาพันการศาสนา แต่เป็นความจริงแท้ที่บิดเบือนไม่ได้

            ในหนังสือ "คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่" ที่แปลมาจากหนังสือ "Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha" ซึ่งเป็นหนังสือพุทธประวัติที่เขียนโดยภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง <1> ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า

            1. พระพุทธเจ้าทรงมุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาลทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับเป็นการขอบคุณ พระพุทธเจ้าเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังช่วยขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุ
            2. พระพุทธเจ้าไม่นิยมเผด็จการ เป็นประชาธิปไตย คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่อิงกับศรัทธาความเชื่อที่ห้ามโต้แย้ง พระพุทธเจ้าสอนให้เคารพเสรีภาพทางความคิดอย่างแท้จริง เช่นกาลามสูตร คำสอนหรือสิกขาบางข้อ พระพุทธก็อนุญาตให้ยกเลิกโดยที่ประชุมสงฆ์ส่วนใหญ่ ไม่ใช้ต้องตายตัวทั้งหมด เพียงแต่สาวกทำให้คำสอนตายตัว ไม่กล้าแก้ไขใดๆ
            3. พระพุทธเจ้าไม่ยึดติดว่าพระองค์เองถูกต้องเสมอ พระพุทธเคยแก้ไขคำพูดของพระองค์ให้ถูกต้อง กล่าวคือ ครั้งหนึ่งแนะนำให้พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) บอกแก่หญิงผู้หนึ่งว่า ตั้งแต่พระอหิงสกะเกิดมา ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใด พอพระอหิงสกะทักว่า ถ้ากล่าวเช่นนั้นอาจตีความเป็นการพูดเท็จ พระพุทธเจ้าจึงแนะให้พระอหิงสกะกล่าวใหม่ให้ชัดเจนว่า นับแต่วันที่ตนถือกำเนิดในอริยธรรม ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใดเลย เป็นต้น
            4. พระพุทธเจ้าทรงตระหนักดีว่าระบอบเผด็จการ ไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขปัญหาสังคม อำนาจของระบอบเปราะบางและมีอยู่อย่างจำกัด ในสมัยนั้น แม้พระเจ้าสุทโธทนะจะทราบว่าขุนนางละโมบและฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ก็จำต้องอาศัยพวกขุนนางทุจริตเหล่านี้รักษาบัลลังก์ ขุนนางเหล่านี้ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อมุ่งปกป้องและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ใช่มุ่งขจัดความทุกข์ยากให้ผู้ยากไร้

            เพราะพุทธเป็นประชาธิปไตย ศาสนจักรจึงมักต้องถูกควบคุมโดยอาณาจักร ด้วยการเผาวัดในประวัติศาสตร์จีน หรือด้วยการแบ่งแยกแล้วปกครอง และด้วยการสร้างชนชั้น ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย หรืออาศัยศาสนาพราหมณ์มาคุมพุทธ ถ้าปราศจากการควบคุมของฝ่ายอาณาจักร ศาสนจักรอาจกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของฝ่ายอาณาจักร ดูอย่างกรณีวาติกันกับประเทศในยุโรป หรือแม้แต่กรณีพระคาร์ดินัลกับประธานาธิบดีมาร์กอส <2> เป็นต้น เมื่อผู้นำฝ่ายศาสนจักรไม่เอาด้วยกับเผด็จการ เผด็จการก็ขาดความมั่นคงขึ้นมาทันที อาณาจักรจึงต้องควบคุมศาสนจักรให้มั่น

            พระพุทธเจ้า มีความเป็นประชาธิปไตยก่อนมีบัญญัติศัพท์ประชาธิปไตยประมาณ 37 ปีในยุคกรีกโบราณเสียอีก <4> แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ความเป็นประชาธิปไตยในระบอบการปกครองก็อยู่ในยุคใกล้เคียงกับพุทธศาสนาเพียงแต่อยู่กันคนละมุมโลกเท่านั้น การสร้างรัฐประชาธิปไตยและศาสนจักรแบบประชาธิปไตยก็ถูกฝ่ายเผด็จการทำลายเรื่อยมา แต่ก็ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้

            ถ้าเราเป็นชาวพุทธแท้ เราต้องยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ แต่เราจะเลือกยอมจำนนศิโรราบต่อระบอบเผด็จการหรือต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ก็อยู่ที่เราท่านเอง

อ้างอิง
<1> พระพุทธเจ้า: ผู้ประกาศศักยภาพความเป็นมนุษย์ https://bit.ly/2MlyZpJ
<2> Cardinal Jaime Sin ผู้ต้านมาร์กอส https://bit.ly/35NX4NM
<3> การปฏิวัติพลังประชาชน (หรือ การปฏิวัติเอ็ดซา และการปฏิวัติฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2529) https://bit.ly/2QaW1AU

 

อ่าน 6,575 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved