นิราศเบลเยียม: สุดยอด Light Traveler
  AREA แถลง ฉบับที่ 5/2563: วันศุกร์ที่ 03 มกราคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

              ในการเดินทางไปต่างประเทศนั้น ปัญหาหนักอกประการหนึ่งก็คือสัมภาระที่อาจมีมาก ทำให้น้ำหนักเกินจนต้องซื้อน้ำหนักบรรทุกเพิ่ม ยิ่งในช่วงฤดูหนาว ยิ่งน่าหนักใจเพราะเสื้อหนาวมักจะหนามากเป็นพิเศษ ดร.โสภณ จัดการปัญหานี้แบบ Backpacker อย่างไร

              ในระหว่างวันที่ 2-9 ธันวาคม 2562 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะนายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล (www.fiabci-thai.org) เดินทางไปประชุม FIABCI Global Business Forum (https://fiabci.org/en/dbm ) ณ นครเกนต์ ประเทศเบลเยียม จากการตรวจสอบสภาพอากาศพบว่ามีทั้งฝนและความหนาว โดยเฉพาะความหนาวเย็นอยู่ระหว่าง -3 ถึง 10 องศาเซลเซียส ทำให้เสื้อหนาวต้องหนาเป็นพิเศษ

              อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ ไปแบบ Backpacker โดยมีกระเป๋าหิ้วหลังเพียงใบเดียว ขาไปก็เอาเสื้อหนาวตัวหนาที่ใช้กันหนาวใส่ถุงพลาสติกไป ในขณะอากาศหนาวนั้น เสื้อหนาวหนาๆ ตัวเดียวก็เอาอยู่ ไม่ต้องใส่หลายชั้นให้อุ้ยอ้ายและแบกหนักแต่อย่างใด  ดังนั้นท่านที่คิดจะไปต่างประเทศในช่วงหนาวหนัก จึงควรเตรียมเสื้อหนาวที่ปกป้องร่างกายจากความหนาวให้ดีที่สุด อาจจะแพงหน่อย แต่มักจะไม่หนา ใส่สบายเพียงชั้นเดียวก็พอ

              ส่วนชั้นในก็ใส่เพียงเสื้อยืดตัวหนึ่ง และในวันประชุมก็ใส่เสื้อเชิ้ตอีกตัวหนึ่ง  อันที่จริงเอาเสื้อเชิ้ตไปตัวเดียวก็พอ ใส่สลับกับเสื้อยืดอีกตัว โดยอาจมีลองจอนฮีทเทคทั้งเสื้อและกางเกงใส่ไว้อีกชั้นหนึ่งก็ดี  เท่านี้เองกระเป๋าหรือเป้ที่แบกไปก็จะเล็กลงไปเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังอาจหาถุงพลาสติกที่สามารถรีดอากาศออกได้ จะทำให้สัมภาระแฟบลงไปอีก ที่เป็นปัญหาหน่อยก็คือสูทที่ต้องรู้จักวิธีพับที่ไม่ยับและไม่กินพื้นที่นั่นเอง

              สำหรับสายการบิน ปกติ ดร.โสภณ จะไม่บินการบินไทย เพราะราคาแพงกว่าเพื่อน แต่ในกรณีนี้ การบินไทยบินตรงถึงกรุงบรัสเซลส์ ดร.โสภณจึงยินดีใช้บริการสายการบินแห่งชาตินี้ อีกอย่างหนึ่งก็คือโดยที่รู้ตัวว่าจะต้องไปประชุม 4 เดือนล่วงหน้า ดังนั้น ดร.โสภณ จึงจองตั๋วไว้ล่วงหน้า ทำให้ราคาตั๋วถูกลงเป็นอย่างมาก คุ้มกับที่ไม่ต้องไปรอต่อเครื่องบิน และเป็นที่แน่นอนว่า ดร.โสภณเลือกที่นั่งชั้นประหยัดแม้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะกินเวลาประมาณ 12 ชั่วโมงก็ตาม

              เมื่อไปถึงกรุงบรัสเซลส์ ดร.โสภณ ก็เดินทางไปนครเลอวิง (Leuven) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยคาธอลิกเลอวิงตั้งอยู่ ทั้งนี้ ดร.โสภณ เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในปี 2529 หรือ 33 ปีนับถึงปี 2562  และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กลับไปเยือน มีอดีตคณบดี อาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น  และแน่นอนอีกเช่นกันว่า การเดินทางไปครั้งนี้ ดร.โสภณ เดินทางโดยรถไฟ ใช้เงินไปประมาณ 300 บาทเท่านั้น นับว่าถูกมาก  การนั่งแท็กซี่ ไม่เคยมีอยู่ในหัวเพราะราคาแพงกว่า แม้จะสะดวกกว่า

              การเดินทางครั้งนี้ค่อนข้างทุลักทุเลสักเล็กน้อยโดยเฉพาะขาไป เพราะ ดร.โสภณเอาหนังสือพ็อกเก็ตบุคภาษาอังกฤษไปแจก 1 ห่อ 60 เล่ม ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม  อาจจะหนักหน่อย แต่ก็ทยอยแจกตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัยคาธอลิกเลอวิง และในงานประชุมที่นครเกนต์  ดังนั้น ดร.โสภณ จึงต้องแบกเดินทาง  แต่ก็ถือว่าได้อออกกำลังกายไป และบนรถไฟก็ไม่ต้องหิ้ว สามารถวางไว้ได้

              ดร.โสภณพักโรงแรมแบบแสนถูกแต่ปลอดภัย โดยหาจาก booking.com / agoda.com เป็นโรงแรมขนาด 30 เตียง  ห้องที่ ดร.โสภณพักนั้นมี 6 เตียง นอน 5 คืน มีคนนอนจริงระหว่าง 2-4 คนเท่านั้น นับว่าโชคดีไป  สนนราคาที่พักนั้นเป็นเงิน 4,500 บาทสำหรับการพัก 5 คืน ตกคืนละ 900 บาท ทั้งนี้รวมอาหารเช้าที่มีให้รับประทานอย่างจุใจเลยทีเดียว นับว่าสุดคุ้ม  เพียงแต่ว่าโรงแรมตั้งอยู่ห่างจากสถานที่จัดงาน 1 กิโลเมตร เดินประมาณ 12 นาที ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ได้ออกกำลังกาย เดินไปกลับวันละ 2 รอบรวม 4 กิโลเมตร  แถมบางวันเดินมากกว่านั้น เพราะเดินเที่ยวในเมืองอีกต่างหาก

              การพักโรงแรมแบบนี้อาจมีข้อเสียบ้างที่ขาดความเป็นส่วนตัวเพราะนอนห้องละ 6 เตียง  มีเสียงกรนใส่กันและกันบ้าง  แต่ว่าแต่ละคนที่มาพัก ซึ่งมักเป็นนักท่องเที่ยวบ้าง คนเข้าร่วมอบรมสัมมนาบ้าง ต่างหากให้เกียรติกันและกันอย่างดี ไม่พยายามรบกวนกันและกัน นับว่ามีอารยธรรมน่ารักดี แม้ว่าจะพยายามอยู่แบบไม่แพงกันก็ตาม โชคดีอีกอย่างของโรงแรมนี้ก็คือมีตู้เซฟให้เก็บของด้วยจะได้ไม่ต้องใส่กระเป๋ากางเกงตอนนอน

              ถ้าพักโรงแรมจัดงาน คืนละประมาณ 4,500 บาท ถ้าผมนอน 1 คืนในโรงแรมจัดงาน ก็เท่ากับนอน 5 คืนในโรงแรมที่ผมจอง แม้โรงแรมดังกล่าวจะดูหรูหราดี แต่ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรกับผมเลย เพราะวันๆ หนึ่งก็อยู่ในห้องประชุม  แทบไม่ได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกหรือห้องหับสวยๆ แต่อย่างใด  ใครถามผมว่าผมพักที่ไหน ผมก็บอกเขาตรงๆ ว่านอนที่อื่นที่ถูกกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าอาย  การมีปัญญาความรู้น้อยกว่า ด้อยกว่าต่างหากเป็นสิ่งที่ต้องอาย  เราต้องไม่อายกับสิ่งประดับภายนอก

              ดร.โสภณถามเจ้าของโรงแรมแล้วทราบว่าเมื่อ 11 ปีก่อนซื้อมาในราคา 5 แสนยูโรหรือ 17.5 ล้านบาท และเสียค่าปรับปรุงอาคารมาเป็นระยะๆ อีก 3 แสนยูโร หรือ 10.5 ล้านบาท แต่มาบัดนี้เพิ่มเป็น 1.3 ล้านยูโรหรือ 43.55 ล้านบาท แต่สามารถสร้างรายได้เป็นเงินคืนละ 14,400 บาท (900 บาทต่อเตียงเฉลี่ย 16 เตียง) หากมีค่าใช้จ่ายสัก 50% ก็เหลือค่าห้องสุทธิ 7,200 บาทต่อคืน ถ้าเป็นทั้งปี ก็คงเป็นเงิน 2,628,000 บาท หรือได้ผลตอบแทนสุทธิ 6.03% ซึ่งก็นับว่าสูงพอสมควรสำหรับในประเทศเบลเยียม

              ทำเลของโรงแรมแห่งนี้นับว่าอยู่ใกล้ใจกลางเมืองมาก คู่แข่งมีน้อยมาก น่าซื้อ  ดร.โสภณจึงตัดสินใจว่าจะปรึกษาภริยาเพื่อไปซื้อโรงแรมดังกล่าวต่อไป

อ่าน 1,254 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved