ไทยควรปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอย่างไร: ศึกษาจากต่างประเทศ
  AREA แถลง ฉบับที่ 13/2563: วันอังคารที่ 07 มกราคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ผมสังเกตดูในกลุ่มไลน์ต่างๆ ในช่วงนี้กล่าวถึงศาสนาอิสลามจนดูน่ากลัวไปไหม เรามาทำความเข้าใจกันว่าในประเทศต่างๆ เขาอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมอย่างไร

            ผมเป็นคนไทยพุทธ แต่มีเพื่อนมุสลิมมากมาย เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งก็เป็นศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมอยู่ปากีสถาน เพื่อนสนิทก็มีอยู่ทั้งในบังคลาเทศ มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ เพื่อนที่มีบทบาทในสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล (FIABCI) ด้วยกัน ก็เป็นคนอาหรับหลายประเทศ  ผมไปเจอคนมุสลิมในอิหร่าน อาร์เซอร์ไบจัน ก็ล้วนแต่น่ารักมีน้ำใจงดงามเหมือนพวกเรา

            ในเมืองไทยเรากำลังกลัวว่ามุสลิมจะสร้างมัสยิดใหญ่ๆ ให้ครบทุกจังหวัดทั้งที่ประชากรมุสลิมมีเพียง 5% และบางจังหวัดก็ (แทบ) ไม่มีคนนับถือศาสนาอิสลามเลย ข้อนี้ ผมถามเพื่อนชาวอินโดนีเซียว่า เขาอนุญาตให้ตั้งศาสนสถานของศาสนาอื่นไหม ก็ปรากฏว่าอินโดนีเซียในยุคหลังมานี้อนุญาตแล้ว แต่เขามีข้อกำหนดว่าต้องมีศาสนิกชนอยู่ในบริเวณนั้นในจำนวนที่เพียงพอที่จะสร้างวัด ศาลเจ้าหรือโบสถ์คริสต์ และต้องสร้างด้วยเงินบริจาคที่มีการตรวจสอบที่มาแล้วโดยรัฐบาลไม่ได้จัดงบประมาณสนับสนุน

            ในการก่อสร้างอาคารก็ต้องผ่านการตรวจสอบ จะสร้างแบบใหญ่โตอลังการมากคงไม่ได้ แต่ก็มีศาลเจ้าใหญ่โตอยู่แห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตาอยู่เหมือนกัน  อย่างไรก็ตามก็คงไม่มีความพยายามในการสร้างโบสถ์คริสต์ ศาลเจ้าหรือวัดพุทธให้ครบทุกจังหวัดเป็นแน่  อันที่จริงทางการอินโดนีเซียไม่ค่อยเคร่งครัดกับชาวพุทธนัก แต่จะเข้มงวดกับการสร้างโบสถ์ของชาวคริสต์มากกว่า  อาจเป็นเพราะชาวคริสต์มีความพยายามในการเผยแผ่ศาสนาที่ค่อนข้างคึกคักหนักแน่นนั่นเอง

            อย่างไรก็ตามการก่อสร้างศาสนสถานในฐานะอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่ได้มีเป็นจำนวนมากจนส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจยกเว้นในกรณีการก่อสร้างศูนย์ศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลาที่มีขนาดยิ่งใหญ่มาก คล้าย เมกกะ ในไทย กรณีนี้ก็อาจกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีคนเดินทางมาแสวงบุญมากๆ ก็คงทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบดีขึ้นไปด้วย

            ศาสนาอาจมีการกระทบกับสังคมยุคใหม่บ้าง เช่น เสียงพระตีระฆังตอนตีสี่ของวัดไทร บางคอแหลม ก็สร้างความลำบากใจแก่ชุมชนอาคารชุดที่มาใหม่ แต่ต่อมาวัดก็ยอมลดเสียงลง  ผมไปทำงานในโครงการของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ปรากฏว่าโรงแรมตั้งอยู่ติดมัสยิด 3 แห่ง เสียงก็อาจดังมาก  มุสลิมบางกลุ่มในอินโดนีเซียเองก็ไม่นิยมเปิดลำโพง ปฏิบัติศาสนกิจกันเงียบๆ ภายในมัสยิด  เพื่อนผมที่เบลเยียมก็บอกว่าเทศบาลแต่ละแห่งสั่งห้ามมัสยิดกระจายเสียง

            อย่างไรก็ตามทนายของมัสยิดก็บอกว่าโบสถ์คริสต์ก็ยังตีระฆังเลย แต่ทางการเบลเยียมก็ชี้แจงว่าก็นี่เป็นประเทศคริสต์ ที่มีประเพณีถือปฏิบัติกันมานานการที่ผู้อพยพหนีร้อนมาพึ่งเย็นในสังคมคริสต์ ก็ควรปรับตัวเข้าหาสังคมของเจ้าของประเทศ โดยนัยเรื่องการปรับตัวนั้น ทางการฝรั่งเศสก็ห้ามนักเรียนหญิงมุสลิมคลุมหน้าเข้าไปในโรงเรียนเช่นกัน ส่วนในไทยนั้นก็เพิ่งมีการคลุมหน้าในยุคโคไมนีเมื่อราว 40 ปีก่อน  แต่ในอินโดนีเซีย มีกลุ่มสตรีมุสลิมที่ไม่คลุมผ้าเช่นกัน

            ในอินโดนีเซีย โครงการบ้านจัดสรรบางแห่งรับแต่คนมุสลิม ไม่ขายให้คนต่างศาสนา พร้อมสร้างสุเหร่าประจำโครงการให้เลย แต่ที่มาเลเซีย ไม่มีการแบ่งแยกขนาดนี้ คนมุสลิมและคนต่างศาสนาอยู่ในทาวน์เฮาส์แถวเดียวกัน  ที่สิงคโปร์เด็ดกว่านั้น รัฐบาลกำหนดให้มีการจับฉลากเข้าอยู่ในห้องชุด ไม่ยอมให้มีการอยู่รวมกันตามเชื้อชาติและศาสนาเป็นอันขาด  แต่ในแง่หนึ่งก็มีข้อดี เช่นเกิดเป็นย่าน Little India ในสิงคโปร์ หรือ China Town ในหลายประเทศ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

            แต่บางทีก็ทำให้ราคาบ้านในย่านนั้นไม่ขึ้น เช่น ย่านคนดำในนิวยอร์กที่มีอาชญากรรมมาก  หรือย่านคนต่างชาติต่างศาสนาในกรุงโตเกียวที่มาอยู่ทำงานร่วมกันเป็นจำนวนมากๆ  ทำให้คนกลุ่มอื่นๆ ไม่ค่อยกล้าเข้าไปอยู่  ราคาที่อยู่อาศัยจึงอาจไม่ขึ้นเท่าเขตปกติ  สำหรับในยุโรป คนมุสลิมก็มักอยู่รวมกัน มักเป็นย่านกลุ่มคนจนในยุโรปที่เรียกขานกันว่าเป็น “โลกที่ 4” หรือ the Forth World (ล้อตามโลกที่ 3 คือประเทศกำลังพัฒนา)  ย่านคนมุสลิมหรือคนต่างชาติเหล่านี้ก็มักมีปัญหาอาชญากรรม มีปัญหายาเสพติด ว่ากันว่าคนคุก 70% ในเบลเยียมเป็นคนมุสลิมเพราะทำผิดกฎหมายกันมาก

            ในเรื่องการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของชาวมุสลิมนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องข้อกฎหมาย อย่างที่เขาใหญ่ใกล้บ้านอดีตนายกฯ สุรยุทธ์ที่รื้อไปแล้ว ก็มีชุมชนพี่น้องมุสลิมจนกระทั่งมีมัสยิดขนาดใหญ่โตมโหฬาร  บนเขาใหญ่ไม่เคยมีชาวมุสลิมจนเมื่อ 30-40 ปีก่อน เริ่มมีชาวมุสลิมจากหนองจอกทยอยไปซื้อที่ดินใบ ภ.บ.ท.5 ซึ่งซื้อขายกันไม่ได้  แต่เพราะความย่อหย่อนของทางราชการ ก็มีการซื้อขาย  จนกระทั่งเดี๋ยวนี้มีเขยมุสลิมผิวขาว และต่อไปก็คงมีเขยมุสลิมผิวดำจากต่างประเทศอีก  กรณีนี้ก็คงคล้ายเมืองปายที่เมื่อ 60 ปีก่อนก็เพิ่งมีชาวมุสลิมย้ายเข้ามาอยู่ (https://bit.ly/354OwSk)

            บางคนบอกว่าประเทศไทยควรประกาศให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติของคนส่วนใหญ่ถึง 95% คล้ายกับมาเลเซียที่ประกาศว่าเป็นประเทศอิสลามเพราะคนส่วนใหญ่ 60% นับถือศาสนานี้  ข้อนี้อาจละเอียดอ่อน  แต่เราก็ไม่ควรทำขนาดมาเลเซียที่กำหนดให้คนมาเลย์มุสลิมได้รับสิทธิพิเศษเหนือพลเมืองเชื้อสายจีนและอินเดียในการรับราชการ หรือซื้อบ้านได้ลดราคา ซึ่งเป็นการทำให้คนส่วนน้อยถูกกดขี่ 

            แต่สิ่งที่ไทยควรทำก็คือการให้คนส่วนน้อยไม่ทำตัวแปลกแยกจากสังคมคนไทยส่วนใหญ่ การให้มีขอบเขตในการเผยแผ่ศาสนา การไม่ไปอุดหนุนการสร้างศาสนสถานของศาสนาใดๆ เพราะควรมาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธามากกว่า และทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเสียเปรียบคนส่วนน้อย  ในข้อของการเปิดกว้างนั้น ครอบครัวในอินโดนีเซียค่อนข้างแสดงออกชัดเจน มีการแต่งงานข้ามศาสนา ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้คนปัจจุบัน ก็มีลูกชายคนหนึ่งแต่งกับชาวคริสต์ อีกลูกชายอีกคนก็แต่งกับคนเชื้อจีน เป็นต้น

            การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียนกันตามหลักศาสนาทั้งพุทธและอิสลาม ดีที่สุด

อ่าน 12,567 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved