ค่าโง่ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
  AREA แถลง ฉบับที่ 141/2563: วันพุธที่ 04 มีนาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้จริงๆ ไม่ใช่ไม่ควรสร้าง แต่ไม่ควรสร้างอย่างที่ออกแบบมา ควรสร้างเพื่อเพิ่มปริมาณถนนมากกว่าการเดินเล่น-ขี่จักรยานเล่น

            เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 มีข่าว “ศาลฯสั่ง “กทม.” ระงับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาชั่วคราว เหตุส่อเค้ามิชอบด้วยกฎหมาย. . . ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่า กทม.ได้มีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนฯ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2528) กรณีจึงมีมูลว่าการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อปรากฏว่า กทม.ได้ดำเนินการเตรียมการที่จะดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นลำดับ กรณีจึงถือได้ว่า กทม.ตั้งใจที่จะกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และการห้ามมิให้ กทม.ดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามิได้มีผลกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของกทม. จึงมีคำสั่งห้ามมิให้ กทม.ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา. . .” (https://bit.ly/2SqObUG)

            ทีนี้มาดูโครงการของประเทศอื่นบ้างว่าเขาทำอย่างไรจึงจะดีต่อเมือง

นครแทมปา ฟลอริดา
            ผมเคยไปประชุมการประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติที่นั่น  และโชคดีได้พบกับโครงการ Water Front  ซึ่งเป็นการสร้างสะพานให้คนได้เดินและวิ่งออกกำลังกายริมแม่น้ำในนครแห่งนี้  ผ่านย่านไหนก็มีป้ายประวัติศาสตร์ให้คนได้ศึกษา
            รูปแบบสะพานก็สร้างง่าย ๆ แต่สวยงาม ที่สำคัญไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่เป็นทัศนะอุจาด  หากนำมาใช้ในกรุงเทพมหานครของเราก็คงทำได้ทันที เสร็จในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น  ใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว  แต่การสร้างแบบนี้ ใช้งบประมาณไม่มาก อาจทำให้มีส่วนต่างไม่มากหรือไม่  ยิ่งตอนนี้ไม่มีระบบตรวจสอบที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย ยิ่งอาจทำให้เกิดข้อครหาได้ จึงเป็นห่วงรัฐบาลครับ

กรุงโซล และนครโฮจิมินห์
            ที่ผ่านมามักมีการอ้างอิงการพัฒนาริมแม่น้ำฮันในประเทศเกาหลีนั้น  ผมอยากตะโกนดัง ๆ ไปถึงหูท่านนายกฯ ว่า นั่นเป็นการอ้างเท็จโดยแท้ เพราะในกรุงโซล เขาสร้างถนนขนาดใหญ่ข้างละ 3 ช่องทางจราจร รวมสองฝั่ง 12 ช่องทางจราจร ริมแม่น้ำเป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย และในกรุงโซลยังมีสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ของเขาเฉลี่ยทุกระยะ 1 กิโลเมตร แต่ของไทยยังมีสะพานข้ามแม่น้ำทุกระยะ 2 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ามีน้อยไป
            ส่วนที่นครโฮจิมินห์ที่ผมไปสำรวจ ไปทำงานให้กระทรวงการคลังของเวียดนามมานับสิบปี ก็ปรากฏว่าเมื่อราว 5 ปีก่อน ชาวบ้านเอือมระอากับปัญหาน้ำเน่าในแม่น้ำลำคลองเป็นอย่างมาก ในที่สุดก็จึงมีการสร้างถนนเลียบสองฝั่งแม่น้ำ รื้อถอนอาคารริมน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่การจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการกำจัดขยะในแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มีมากขึ้น  ทำให้เมืองน่าอยู่มีความศิวิไลซ์มากขึ้น  แต่กรุงเทพมหานครของเรา ก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม

ถนนแห่งดาราที่ฮ่องกง
            ที่ฮ่องกงมีบริเวณหนึ่งชื่อ Avenue of Stars อยู่ฝั่งเกาลูนในบริเวณที่เรียกว่าจิมซาจุ่ย ซึ่งมองเห็นวิวเมืองฮ่องกงได้อย่างเหมาะเจาะสวยงาม ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ ๆ นักท่องเที่ยวต้องแวะมาเยี่ยมเยียนให้ได้เช่นกัน เพราะมีแผ่นป้ายพร้อมรอยฝ่ามือหรือลายเซ็นของดาราชื่อก้องโลกของฮ่องกงถึง 107 คน นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นไม่นาน แม้ผมเองจะไปฮ่องกงหลายครั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้ย่างกรายไป
            ถนนแห่งดารานี้ถอดแบบมาจาก  Hollywood Walk of Fame โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งฮ่องกง สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ฮ่องกง รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอื่น ถนนแห่งดารานี้เปิดตัวเมื่อ 28 เมษายน 2547 แม้ถนนเส้นนี้จะสร้างโดยทุนจากภาคเอกชน แต่ก็ได้มอบให้เป็นสมบัติสาธารณะในการดูแลของรัฐบาลฮ่องกง ถนนเส้นนี้มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตร ยาวประมาณ 440 เมตรเท่านั้น บางส่วนก็สร้างล้ำลงไปในน้ำ ที่สำคัญยังมีรูปปั้นสูง 2.5 เมตรของ บรูซลี ที่สร้างเมื่อปี 2548 ตั้งโดดเด่นอยู่ด้วย

กระเช้าข้ามแม่น้ำเทมส์ ลอนดอน
            ที่กรุงลอนดอนมีโครงการกระเช้าชื่อ the Emirates Air Line ข้ามแม่น้ำเทมส์ ทำให้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ของกรุงลอนดอน  ด้วยความสูงประมาณ 100 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของกรุงลอนดอนได้หลายมุมมอง  นักท่องเที่ยวและชาวลอนดอนก็ใช้โดยสารไปทำงาน สร้างด้วยเงิน 60 ล้านปอนด์หรือ (3,000 ล้านบาท) โดยการนี้ 60% ของงบประมาณมาจากการสนับสนุนของสายการบิน Emirates ทำให้ต้นทุนลดลง  ความยาวของกระเช้าไฟฟ้านี้ มีระยะทาง 1.1 กิโลเมตร รับผู้โดยสารประมาณ 2,500 คนต่อชั่วโมง
            การก่อสร้างกระเช้าแบบนี้ น่าจะสามารถนำมาใช้ในกรณีประเทศไทย โดยอาจสร้างตั้งช่วงสะพานสาทร ถึงสะพานพุทธ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถชมทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน และไม่ควรทีรัฐจะลงทุนเอง อาจให้เอกชนรายหนึ่งหรือหลายรายเป็นผู้ลงทุน หรืออาจให้เอกชนเป็นผู้สนับสนุนโครงการ เช่น สายการบิน หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ
            รัฐบาล จึงไม่พึงสร้างโครงการเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้ และพึงฟังเสียงที่เห็นต่างบ้าง เพราะโครงการเจ้าพระยานี้แพงมาก  สร้างเพื่อพวกคหบดีมีเงินมากมายที่ซื้อจักรยานแพง ๆ มาขี่อวดโฉมกันหรืออย่างไร ไปสร้างในเขตชานเมืองโดยซื้อที่ราคาถูก ๆ ทำเลนให้ขี่เล่น ยังคุ้มค่ากว่ามากนัก เช่น ซื้อที่ 100 ไร่ ๆ ละ 2 ล้านบาท รวม 200 ล้านบาท และปรับปรุงเป็นที่ขี่จักรยานอีก 50 ล้านบาท รวม 250 ล้านบาท เอาเงินของชาติมาบริจาคให้เหล่าคนรวยที่ชอบขี่จักรยานเล่น ยังดีกว่ามาผลาญงบประมาณแผ่นดินในลักษณะนี้
            หากค่าก่อสร้างเป็นเงิน 14,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ปีละ 700 ล้านบาท (จากอัตราดอกเบี้ย 5%) หากมีคนใช้สอยเพียงวันละประมาณ 3,000 คน รวม หรือปีละ 1,095,000 คน ก็เท่ากับรัฐบาลประเคนให้คนเหล่านี้คนละ 639 บาทต่อครั้งที่มาเยือน แจกเงินคนเหล่านี้ไปเข้าฟิตเนส ยังไม่สิ้นเปลืองเท่านั้น แจกเงินผู้สูงอายุยังเป็นเงินแค่ 33 บาทต่อเดือนเท่านั้น นี่จึงเป็นการผลาญชาติโดยแท้
            สร้างด้วยความคิดดรามา ไม่ก่อประโยชน์แก่ชาติอย่างแน่นอน

 

อ่าน 2,813 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved