ค่าเช่าศูนย์การค้า ลดเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
  AREA แถลง ฉบับที่ 142/2563: วันพุธที่ 04 มีนาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ไวรัสโควิด 19 ทำให้นักท่องเที่ยวหดหาย นักช็อปทั้งไทยและเทศก็หายไปด้วย เพราะไม่อยากออกจากบ้าน  จนผู้เช่าเดินขบวนประท้วงขอลดค่าเช่า เราควรคิดลดค่าเช่าอย่างไรดี

            มีรายงานข่าวกล่าวว่า (https://bit.ly/2VHeole):
            1. บจก.เอ็ม บี เค ประกาศจะลดค่าเช่าพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการตามสัดส่วนประเภทการเช่าตั้งแต่ 10-20% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 ส.ค. 2563
            2. “เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป” ก็ได้ช่วยเหลือผู้ที่จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน (สัญญา 1 ปี) จะลดค่าเช่า 10-35% ตามสัดส่วนและประเภทการเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 พ.ค. 63
            3. เอเชียทีคฯ มียอดผู้เข้ามาใช้บริการลดลงไปราว 50% จึงมีส่วนลดค่าเช่า 25% สำหรับเดือนมีนาคมนี้
            4. ศูนย์การค้า “ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก” ก็อยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้เช่าถึงมาตรการช่วยเหลือ คาดว่าจะลดค่าเช่าตั้งแต่ 10-30% ขึ้นอยู่กับประเภทร้านค้า เบื้องต้นจะพิจารณาช่วยเหลือ 3 เดือนก่อน

            สำหรับข้อพิจารณาในการนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ข้อคิดว่า
            1. ในกรณีพื้นที่ค้าปลีกใจกลางเมือง อาจมีค่าเช่าอยู่ที่ 3,000 - 7,000 บาทต่อตารางเมตร
            2. ในปัจจุบัน คนเดินน้อยลงไปเหลือประมาณ 40% แต่ยอดรายได้จากการขายหายไปเหลือประมาณ 20% กรณีนี้ย่อมไม่สามารถจ่ายค่าเช่าตามปกติได้
            3. หากผู้เช่าเดิมย้ายออกไป ก็คงยากสำหรับการหาผู้ค้าใหม่ และส่งผลต่อการเปิดบริการภายในห้าง  และยิ่งทำให้การเดินห้างน้อยลงไปอีก
            4. แต่หากผู้เช่าย้ายออกไปจริง ก็อาจถือเป็นการผิดสัญญา นำไปสู่การฟ้องร้องต่างๆ ซึ่งจะบานปลายอีกมาก

            ดังนั้นทางออกจึงเป็นการเจรจาเพื่อหาทางอยู่รอดร่วมกัน
            1. ปกติรายได้สุทธิหรือกำไรของพื้นที่ค้าปลีกอาจอยูที่ 20% ของค่าเช่า
            2. ในกรณีการเดินห้างน้อยลง ก็อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหาร/บริการที่อาจสูงถึง 50% ลดลงเหลือ 30% หรือลดลง 20% แล้วแต่กรณี
            3. ในกรณีที่จะสนับสนุนร้านค้าในช่วงปัจจุบันนี้ จึงอาจลดค่าเช่าลงไป 40% เหลือค่าเช่า 60% หรือในกรณีจำเป็นจริงๆ อาจต้องยอมให้ผู้เช่าจ่ายเพียงค่าดำเนินการประมาณ 30% ของค่าเช่าปกติในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-4 เดือนเป็นต้น
            4. อย่างไรก็ตามรายได้ของร้านอาจหดหายไปเหลือเพียง 20% ก็ยังอาจประสบปัญหาในการจ่ายค่าเช่า  แต่ผู้เช่าก็ต้องพยายามจ่ายค่าเช่าเพื่อรักษาสิทธิในการเช่าไว้   หาไม่หากผิดสัญญา ก็อาจหมดโอกาสในการขายในศูนย์การค้าชั้นดีได้เช่นกัน
            5. ในระหว่างนี้อาจใช้ระบบแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าพื้นที่ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นต่อไป

            ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามเจรจาบนพื้นฐานที่เป็นจริงและเห็นใจกันและกัน เพื่อช่วยกันประคับประคอบสถานการณ์ และรอคอยโอกาสการเติบโตในอนาคต

อ่าน 18,988 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved