ที่ดินจุฬาฯ มาจากไหนกันแน่
  AREA แถลง ฉบับที่ 499/2563: วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนบอกว่าที่ดินจุฬาฯ มาจากคณะราษฎร บ้างก็ว่าเป็นที่ดินพระราชทาน ความจริงเป็นอย่างไร กันแน่ เรื่องนี้กลายเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมาก ดร.โสภณ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดินมีหลักฐานมาแสดง

            ตั้งแต่ผม (ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย: www.area.co.th) จบมาจากธรรมศาสตร์ก็มาทำงานที่แรกในชีวิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ สถาบันวิจัยสังคม ในฐานะเจ้าหน้าที่โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คล้ายสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ธรรมศาสตร์) ตั้งแต่กลางปี 2523 - ต้นปี 2525 ผมจึงผูกพันกับจุฬาฯ อยู่พอสมควร และเมื่อปี 2550 ผมได้รู้จัก รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ <1> อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสียชีวิตไปในปี 2560 ท่านก็พูดถึงเรื่องที่ดินจุฬาฯ เช่นกัน

            คุณูปการที่สำคัญที่สุดของคณะราษฎรและ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (พันเอกหลวงพิบูลสงคราม) ผู้เป็นอธิการบดีจุฬาฯ รวมราว 9 ปี <2> ต่อจุฬาฯ ก็คือ การตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย <3> โดยโอนที่ดิน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 1,196  ไร่ 32 ตารางวา  ที่บอกว่าที่ดินของจุฬาฯ เป็นที่พระราชทานนั้น ในความเป็นจริง แต่เดิมนั้นจุฬาฯ เช่าที่ดินจากในหลวง เช่น ตามโฉนดที่ดินของจุฬาฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2478 ในหลวง รัชกาลที่ 8 “ให้เช่า 30 ปี” แก่จุฬาฯ ไม่ใช่การพระราชทานให้โดยตรง ถ้าไม่ได้คณะราษฎรโดยจอมพล ป. ป่านนี้จุฬาฯ ก็ยังต่อทะเบียนเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทุก 30 ปีเช่นหน่วยงานอื่น

            ภายหลังการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลังการปฏิวัติ 2475 นั้น กระทรวงการคลัง (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์-ของสถาบันไม่ใช่ส่วนพระองค์) ก็เป็นผู้ถือครองที่ดินนี้ และในวันที่ 12 ธันวาคม 2483 กระทรวงการคลังฯ ก็ “ให้” ที่ดินแปลงนี้แก่จุฬาฯ <4> ในปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 1,153 ไร่ (หลังจากหักแบ่งเป็นถนน) โดยแบ่งออกเป็น พื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่ <5>

            แต่เดิมรัชกาลที่ 6 “ได้พระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาท ให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการ. . .ทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458” <6> โดยให้สร้างอาคารเรียนในบริเวณหนึ่งบนที่ดินที่ไม่มีโฉนดแต่อยู่ในการครอบครองของรัชกาลที่ 5 มาก่อนแล้ว โดยรัชกาลที่ 5 ทรงให้ใช้ที่ดินนี้เก็บผลประโยชน์เพื่อบาทบริจาริกา (ภรรยาที่เป็นสามัญชนของพระมหากษัตริย์: ราชบัณฑิตยสถาน<7>)

            ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม 2459 พระองค์ก็ได้ทรงออกโฉนดที่ดินให้กับพระองค์เองเป็นโฉนดที่ดินฉบับที่ 2057 2058 และ 2059 <8> โดยไม่ได้ยกให้จุฬาฯ ดังที่เข้าใจ ที่ดินทั้ง 3 โฉนดนี้ มีผู้เช่าครอบครองอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากแผนที่หลังโฉนดที่วางแปลงผักเรือกสวนเพื่อการเกษตรต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีวังวินเซอร์ (สนามศุภชลาศัยในปัจจุบัน) ตั้งอยู่โดยก่อนหน้านี้โดยไม่มีโฉนด ทั้งนี้เพราะสมัยนั้นคงยังไม่สนใจเรื่องโฉนดที่ดิน

            โฉนดที่ดินทั้ง 3 ฉบับนี้ตกทอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 8 ปรากฏหลักฐานสารบัญจดทะเบียนว่าเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2478 พระองค์ทรงให้จุฬาฯ เช่าที่ดินเป็นเวลา 30 ปี  แต่พอถึง 12 ธันวาคม 2483  รัฐบาลจอมพล ป. ก็โอนเปลี่ยนนามผู้ถือเป็นกระทรวงการคลัง (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) และในวันเดียวกันจุฬาฯ ก็ทำสัญญาเลิกเช่าและกระทรวงการคลังก็ “ให้” ที่ดินสองแปลงนี้แก่จุฬาฯ

            การโอนที่ดินให้จุฬาฯ นี้เกิดขึ้นในสมัยคณะราษฎร (เพราะถ้าเป็นรัฐบาลอื่นคงไม่ได้ทำ) โดยมติคณะรัฐมนตรี “นายทวี บุณยเกตุ. . .(ที่ดิน) ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่าทำการปลูกสร้างสถานศึกษา. . .คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ. . .เงื่อนไขในพระบรมราชโองการรัชกาลที่ 5 ซึ่งให้ยกที่ดินรายนี้ไว้ในบัญชีเลี้ยงชีพบาทบริจาริกาในพระองค์ เพื่อเก็บผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินนั้นเฉลี่ยส่วนให้บาทบริจาริกาเป็นคราวๆ ยังคงใช้ได้อยู่ ฉะนั้นการที่จะโอนไปให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะกระทำได้ก็แต่โดยทางพระราชบัญญัติ กระทรวงการคลังจึงขอเสนอร่างพระราชบัญญัติ. . .”<9>

            คณะราษฎรโดยจอมพล ป. ทำให้จุฬามีรายได้มหาศาลจากการให้เช่าที่ดินทั้งแก่ภาครัฐและภาคเอกชน กลายเป็นทรัพยากรสำคัญของจุฬาฯ ในการพัฒนาการเรียนการสอนและความสะดวกสบายแก่บุคลากรของจุฬาฯ จนถึงทุกวันนี้  มีตัวเลขรายได้ของจุฬาฯ ว่า “ในปี 2558. . .รายได้จากรัฐบาล 7,117 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน 4,950 ล้านบาท (ในปัจจุบันปี 2563 คงมากกว่านี้มาก) รายได้จากการจัดการศึกษา 2,927 ล้านบาท โดยรายได้รวมทั้งหมดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ 21,538 ล้านบาท” <10>

            จอมพล ป. ในนามของคณะราษฎรจึงเป็นผู้ที่ทำให้จุฬาฯ  มีรายได้มหาศาลหลายพันล้านบาทต่อปีในขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณแผ่นดินน้อยกว่ารายได้ของจุฬาฯ ก้อนนี้ด้วยซ้ำไป

 

 

 

อ้างอิง
<1> Wikipedia. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. https://bit.ly/30b1bDj
<2> Wikipedia. แปลก พิบูลสงคราม. https://bit.ly/3jP82tR
<3> พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/1364.PDF
<4> โปรดดูรายละเอียดในโฉนดที่ดินของจุฬาฯ ทั้ง 2 แปลง
<5> ตามข้อ 3
<6> จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ประวัติจุฬาฯ. https://www.chula.ac.th/about/overview/history/
<7> ดูโฉนดฉบับกรมที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร
<8> พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 https://dictionary.apps.royin.go.th/
<9> ดูหลักฐานที่ https://bit.ly/3hnjCe8 https://bit.ly/3geW2P9
<10> ลงทุนแมน. ทรัพย์สินของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://www.longtunman.com/10549

 

โฉนดเลขที่ 2057 (หน้าแรก)
ผังที่ดินของโฉนดเลขที่ 2057
โฉนดที่ดินเลขที่ 2058 (เป็นสนามม้าราชกรีฑาสโมสร) ไม่ได้แสดงไว้ในที่นี้
โฉนดเลขที่ 2059 (หน้าแรก)
ผังที่ดินของโฉนดเลขที่ 2059 (ฉบับเริ่มแรก)
ผังที่ดินของโฉนดเลขที่ 2059 (ฉบับภายหลัง)
ผังที่ดินของโฉนดเลขที่ 2057 และ 2059 (รวมกันแล้ว)
จะสังเกตได้ว่าที่ดินจุฬาฯ นี้ เป็นที่ดินที่มีผู้ใช้ประโยชน์โดยเช่าทำเรือกสวนไร่นามาก่อน รวมทั้งที่เป็น “วังวินเซอร์” ที่คณะราษฎรสั่งทุบทิ้งเพื่อนำมาสร้างเป็นสนามศุภชลาศัยจนถึงทุกวันนี้

รายการจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดิน 1 ใน 3 โฉนดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ระบุว่าแต่เดิมจุฬาฯ เช่าจากรัชกาลที่ 8 แล้วกระทรวงการคลัง (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) จึง “ให้” กับจุฬาฯ
รายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (1)
(
รายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (2)
โฉนดที่ดิน 3 แปลงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/1364.PDF
อ่าน 113,644 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved