ดร.โสภณค้าน “บิ๊กเนม” วงการอสังหาฯ
  AREA แถลง ฉบับที่ 547/2563: วันพุธที่ 09 กันยายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            “บิ๊กเนม” วงการอสังหาริมทรัพย์เสนอความเห็นต่อนายกฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ดร.โสภณเห็นว่ายังใช้ไม่ได้ จึงขอค้านและขอเสนอให้จัดสานเสวนา (Dialogue) ไม่ใฃ่ฟังเฉพาะบางคน

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ขอวิจารณ์แนวคิดของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ปรากฏลงในข่าว “อสังหาฯชงล้างพิษธุรกิจ ปลดล็อกกลไกรัฐหนุนโต” (https://bit.ly/3bDLloJ) ดังนี้:

            1. บางคนกล่าวว่า  “กลไกของรัฐไม่เอื้อให้เกิดสร้างเมือง สร้างสังคม ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงที่อยู่อาศัย” ทำไมไม่พูดว่าเพราะมีการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการในกรมกองต่างๆ มากมาย ทำให้ต้นทุนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

            2. บางคนบอกว่าควร “จะส่งเสริมให้ต่างชาตินำเงินมาลงทุนในไทย” แต่ไม่มองว่าเวียดนามและจีนก็ห้ามให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ประเทศเหล่านี้กลับเติบโต นิวซีแลนด์ก็ไม่ยอมให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์เลย ออสเตรเลียให้ต่างชาติซื้อได้เฉพาะบ้านมือหนึ่ง สิงคโปร์และฮ่องกงก็เก็บภาษีคนซื้อต่างชาติ 20-30% ของมูลคา แต่เราจะตัดแผ่นดินขายท่าเดียว โดยไม่ยอมเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกเยี่ยงนานาอารยประเทศ ถ้าให้ต่างชาติซื้อ ก็คือความเสียเปรียบเพราะถ้าเราไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เราต้องเสียภาษีมากมาย

            3.  กรณี “พื้นที่สีน้ำเงินของรัฐที่มีอยู่ทั่วประเทศมีโอกาสพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ถือเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ในรัฐบาลปัจจุบัน ทำอะไรมักได้รับกาารวิจารณ์ถึงช่องโหว่ในการทุจริตอยู่เสมอ  ความโปร่งใสจึงควรจะมีอย่างเด่นชัด

            4. เรื่อง “ภาคอสังหาฯยังมีปัญหาในด้านฐานข้อมูล ที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการ ส่งเสริมธุรกิจได้ตรงจุด จึงควรเริ่มต้นจัดระบบการจัดเก็บข้อมูลภาคธุรกิจอสังหาฯ ของแต่ละจังหวัด” อันนี้เป็นความเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์ข้อมูลของธนาคารต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ของ ดร.โสภณ ทำข้อมูลอุปสงค์อุปทานทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว มีสมาชิกที่ยินดีจ่ายเพื่อให้ได้ข้อมูลมากมาย

            5. บางคนก็กล่าวว่าควร “ยกเลิกมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ (LTV) ตัวการสำคัญที่สกัดกั้นคนระดับล่างที่ต้องการมีบ้าน เข้าถึงสินเชื่อซื้อบ้านได้น้อยลง” ซึ่งไม่เป็นความจริง ปัญหาขณะนี้ตกงานมากมาย คนจนไม่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว การยกเลิก LTV เท่ากับขาดวินัยทางการเงิน ไม่ควรเห็นแก่การขายในระยะสั้นของผู้ประกอบการเอง

            ดร.โสภณ ย้ำว่าการพบกันระหว่างบิ๊กเนมอสังหาฯ กับรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย รวมทั้งตัวแทนจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เป็นปฐมบท “จับเข่าหารือ” เพื่อพลิกวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า2019 (โควิด-19) เป็นโอกาส แต่นี่คือความล้มเหลวตั้งแต่แรกเพราะฟังความเฉพาะรายใหญ่ ไม่ฟังความโดยรวม ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เป็นการคิดผิดๆ อีกอย่างหนึ่งของรัฐบาล

            แนวทางการแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ต้องมาจากการจัดสานเสวนา (Dialogue) ระหว่างผู้เกี่ยวข้องในวงการอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 50 องค์กรๆ ละ 2 คนเพื่อร่วมกันระดมความเห็น  ไม่ใช่ไปฟังแต่รายใหญ่ แค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว

อ่าน 3,530 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved