การจ้างงานกับโควิด-19
  AREA แถลง ฉบับที่ 632/2563: วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            แม้ไทยจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าหลายประเทศ แต่ปรากฏว่าใช้เงินไปมหาศาลถึง 16% ของรายได้ประชาชาติ ถลุงขนาดนี้นี่เองที่จะทำให้ประเทศชาติจมปลักพังทลายลงได้อย่างไม่คิดคิด โปรดสังวร มาฟังรายงานของ ILO.

            เมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2563 นี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ได้ไปเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง “การรับมือกับปัญหาเนื่องจากการระบาดโควิด-19 การร่วมปรึกษาหารือเพื่อการฟื้นฟูให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO (International Labour Organization) ร่วมกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย

            จากการรายงานของ ILO พบว่าในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น เวียดนาม เมียนมาร์ จีน เนปาลและบังคลาเทศที่เศรษฐกิจไม่ติดลบในปี 2563 แต่ยังเติบโตประมาณ 2% (เวียดนาม) - 5% (บังคลาเทศ) สำหรับไทยนั้นเศรษฐกิจจะติดลบเป็น -8% ในปี 2563 ซึ่งถือว่าเกือบต่ำสุด ยกเว้นอินเดียที่จะเติบโต -9% และมัลดีฟส์ที่จะติดลบถึง -20% เพราะเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในเมื่อไม่มีการท่องเที่ยว เศรษฐกิจจึงติดลบหนัก นอกนั้นทั้งอาเซียนอยู่ในภาวะที่ดีกว่าไทยทั้งสิ้น 

            ความเสี่ยงของภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด มี 19 ล้านคน ได้แก่

            6.3 ล้านคนในภาคการค้าส่งและค้าปลีก

            6.1 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

            2.8 ล้านคนในภาคที่พักและบริการด้านอาหาร

            1.4 ล้านคนในภาคการคมนาคม คลังสินค้าและการสื่อสาร

            1.2 ล้านคนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสนับสนุนต่างๆ

            1.1 ล้านคนในภาคศิลปะการบันเทิงและบริการอื่นๆ

            อาจกล่าวได้ว่าโควิด-19 ทำให้การจ้างงานสูญเสีย 1.1 ล้านตำแหน่งในประเทศไทย แต่มีงานชดเชยเพิ่มขึ้น เช่นในภาคเกษตร 741,000 ตำแหน่ง ทำให้การจ้างงานสูญเสียสุทธิ 344,000 ตำแหน่งงาน  อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ได้ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย แต่มีปัญหาที่มีตำแหน่งงานแต่ไม่มีการจ่ายค่าจ้าง (ยังไม่ให้ออก แต่ไม่จ่ายค่าจ้าง หรือจ่ายน้อยมาก)

            ยิ่งกว่านั้นยังรวมถึงการลดเวลาทำงาน ซึ่งแม้ยังมีตำแหน่งงานอยู่ แต่รายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  และล่าสุดยังมีปัญหาการจ่างงานที่จ่ายต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งลูกจ้างก็จำต้องยอมรับเพราะดีกว่าตกงานไปเลย ปัญหาแรงงานในที่นี้จึงค่อนข้างซับซ้อน ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่สูญเสียมากที่สุดก็คือ ภาคการท่องเที่ยว ภาคงานบันเทิง ภาคการโรงแรม และภาคกิจกรรมกีฬา-สันทนาการนั่นเอง

            รัฐบาลไทยใช้เงินถึงประมาณ 16% ของรายได้ประชาชาติไปเพื่อการแก้ปัญหาโควิด-19 แต่ก็มีประเทศที่ใช้เงินในสัดส่วนมากกว่าไทย แต่ส่วนมากเป็นประเทศที่พัฒนาไปไกลกว่าไทยและมีปัญหาผู้ติดเชื้อมหาศาล เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกงและญี่ปุ่น  ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ แม้จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่าไทยมหาศาล แต่ก็ใช้เงินน้อยกว่าไทยมาก

            ปัญหาที่ต้องคิดก็คือรัฐบาลใช้เงินอย่างคุ้มค่าหรือไม่ ดร.โสภณ ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญของ ILO ที่บรรยายว่า

  1. มีประเทศไหนในโลกที่จ่ายเงินให้ทุกคนเหมือนกันโดยไม่เลือกจ่ายเฉพาะคนจนหรือไม่ ก็ปรากฏว่ามี แต่เป็นประเทศที่ร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ในประเทศกำลังพัฒนาอื่น คงไม่ได้ทำแบบเดียวกับไทยที่ “จ่ายดะ”
  2. มีประเทศไหนในโลกนี้ไหมที่หยุดยาว หยุดบ่อยๆ เพื่อให้คนไปเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ปรากฏว่าแทบไม่มี แต่อาจเป็นเพราะไทยมีภาคการท่องเที่ยวที่ใหญ่กว่าหลายประเทศก็ได้
  3. มีประเทศไหนในโลกที่ลดเงินเดือนข้าราชการเพื่อเงินนำมาสู้กับโควิด-19 หรือไม่ ก็ปรากฏว่ามี แต่ในประเทศไทยยังไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้  ดร.โสภณมองว่าข้าราชการที่มีสิทธิพิเศษมากกว่าประชาชนทั่วไป น่าจะเสียสละบ้าง

            ถ้าไทยยังใช้เงินไม่ยั้ง แถมยังเอาเงินไปช่วยคนที่ไม่ได้เดือดร้อนโดยตรง ต่อไปไทยอาจติดหล่มทำให้เป็นหนี้มหาศาล กำลังแรงงานคนหนุ่มสาวที่เกิดใหม่ก็คง “โงหัวไม่ขึ้น” ไม่มีอิสรภาพทางการเงิน ไม่มีอิสรภาพทางความคิดที่จะเป็นไทแก่ตัว เป็นประชาธิปไตยแก่ประเทศชาติ

อ่าน 6,743 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved