อ่าน 4,539 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 154/2556: 31 ตุลาคม 2556
เสียงสะท้อนจากประชาชนนครสวรรค์ต่อเขื่อนแม่วงก์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
www.facebook.com/dr.sopon4

          ตาม AREA แถลง ฉบับที่ 133/2556: 3 ตุลาคม 2556 เรื่องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่หนุนเขื่อนแม่วงก์ บัดนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ได้สรุปรายงานฉบับสมบูรณ์เรื่องเสียงสะท้อนจากประชาชนนครสวรรค์ต่อเขื่อนแม่วงก์ ดังนี้:

การสำรวจความคิดเห็น
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2556 โดยเดินทางจากกรุงเทพมหานครเมื่อเช้าวันที่ 2 ตุลาคม 2556 และเริ่มสำรวจในดังกล่าวตั้งแต่เวลา 07:27 เป็นรายแรก ณ เขตอำเภอแม่วงก์ ถึงอำเภอชุมตาบง อำเภอแม่เปิน อำเภอลาดยาวทั้งในและเขตเทศบาล ไปจนถึงค่ำวันดังกล่าวสำรวจถึงเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ส่วนวันที่ 3 ตุลาคม 2556 สำรวจในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ (นอกเขตเทศบาล) และสิ้นสุดที่อำเภอโกรกพระในเวลา 13:30 น. และประมวลผลนำเสนอเป็น AREA แถลงฉบับที่ 133 ส่งให้สื่อมวลชนในบ่ายวันดังกล่าว

          การสำรวจนี้กระทำโดยการพบปะกับประชาชนทั้งชายและหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปโดยประมาณ ซึ่งทุกคนต่างทราบข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ (ไม่มีใครไม่ทราบหรือไม่เคยได้ยินเลย) ประชาชนเหล่านี้พบในบริเวณต่าง ๆ ตามที่แสดงไว้ในแผนที่ เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างมีการกระจายตัว โดยครอบคลุมถึง 6 อำเภอ โดยแยกเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้:

          1. อำเภอแม่วงก์ (ไม่แยกเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลเพราะเป็นอำเภอขนาดเล็ก)
          2. อำเภอชุมตาบง (ไม่แยกเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลเพราะเป็นอำเภอขนาดเล็ก)
          3. อำเภอบ้านเปิน (ไม่แยกเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลเพราะเป็นอำเภอขนาดเล็ก)
          4. เทศบาลตำบลลาดยาว (เป็นเทศบาลที่มีขนาดใหญ่พอสมควร)
          5. อำเภอลาดยาว (นอกเขตเทศบาล)
          6. เทศบาลนครนครสวรรค์
          7. อำเภอเมืองนครสวรรค์ (นอกเขตเทศบาล)
          8. อำเภอโกรกพระ (ไม่แยกเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลเพราะเป็นอำเภอขนาดเล็ก)
          สำหรับสาระในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนี้ ก็คือความเห็นต่อการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งจะก่อสร้าง ณ บริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไร โดยแยกความเห็นออกเป็น
          1. เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ณ บริเวณดังกล่าว
          2. ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ณ บริเวณดังกล่าว หรือ
          3. ยังไม่แสดงความเห็น ซึ่งคงเป็นเพราะยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดจึงยังไม่ได้ตัดสินใจ หรือตัดสินใจแล้วแต่ยังสงวนท่าทีไม่แสดงความเห็น
          ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เป็นการเดินเข้าพบประชาชนที่อยู่ในบริเวณต่าง ๆ รวมทั้งหมดประมาณ 80 บริเวณ เช่น ภายในลานหมู่บ้าน ส่วนราชการ ตลาด ร้านค้า ทุ่งนา ฯลฯ ที่มีประชาชนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 2-10 คนเป็นหลัก ยกเว้นในเขตตลาดหรือเทศบาลบางบริเวณที่เดินสำรวจความเห็นเป็นช่วง ๆ เป็นกลุ่มเกิน 10 คนขึ้นไป การสำรวจนี้ได้ประมวลผลในทุกช่วง และได้บันทึกความคิดเห็นและเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่สำรวจ พร้อมภาพถ่ายประกอบเอาไว้ด้วย 

พื้นที่ 80 จุดที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ 2-3 ตุลาคม 2556

          โดยที่ห้วงเวลาการสำรวจมีจำกัด เพื่อประมวลผลโดยทันทีเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของทางราชการ ประชาชนในพื้นที่ กลุ่มเอ็นจีโอ (องค์กรภาคเอกชนที่มักเห็นต่างจากรัฐ) และผู้สนใจทั่วไป ในแต่ละพื้นที่จึงสำรวจความเห็นตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป กระจายตัวในบริเวณต่าง ๆ แต่เน้นหนักประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ในเบื้องต้น เพราะเป็นพื้นที่ๆ จะก่อสร้างเขื่อน และเขตที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงคือบางส่วนของอำเภอชุมตาบง และอำเภอลาดยาว ส่วนประชาชนในบริเวณอื่นที่อาจไมได้รับผลกระทบโดยตรง แต่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ก็ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อให้เห็นความคิดเห็นในเชิงเปรียบเทียบด้วย

ผลการสำรวจความคิดเห็น
          ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน สามารถประมวลได้ดังนี้:
          1. ในเบื้องต้นพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 57% ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ และ 27% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน
          2. อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มที่ยังไม่แสดงความเห็นนั้น ส่วนหนึ่งตัดสินใจแล้วแต่ยังสงวนท่าที ไม่แสดงความเห็น แต่ส่วนหนึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง หากต้องตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง ก็คงต้องเลือกในที่สุด แต่ในเบื้องต้นนี้ หากตัดกลุ่มที่ยังไม่ได้แสดงความเห็นออก ให้เหลือเฉพาะกลุ่มที่ต้องการและไม่ต้องการเขื่อนแม่วงก์ สัดส่วนจะเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ หรือมีสัดส่วนเท่ากับ 2:1 หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าประชาชนประมาณสองในสามเห็นควรสร้างเขื่อนแม่วงก์

          3. จากสถิติของทางราชการพบว่า ประชาชนในเขตอำเภอทั้ง 6 แยกเป็น 8 ท้องถิ่นนั้น มีอยู่รวมกัน 458,834 คน โดยเป็นประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปแล้ว 344,736 คน หรือ 75.1% ของทั้งหมด ประชาชนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ถือได้ว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว มีวิจารณญาณในการตัดสินใจต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้
          4. เมื่อนำสัดส่วนผู้ที่สำรวจมาวิเคราะห์จะได้ผลการสำรวจว่า มีประชาชน 197,018 คนเห็นควรให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่ไม่เห็นด้วย มี 92,297 คน และยังมีผู้ที่ยังไม่แสดงความเห็น ซึ่งเป็นส่วนน้อยอยู่เพียง 55,421 คน แต่หากใช้สัดส่วนเฉพาะประชาชนผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน (69% และ 31%) มาพิจารณา จะพบว่าประชาชนที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนจะมีจำนวน 238,486 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยจะมีจำนวน 106,250 คน ทั้งนี้โดยมีสมมติฐานว่ากลุ่มที่ยังไม่แสดงว่าคิดเห็นจะแสดงความเห็นไปในทางใดทางหนึ่งหากมีการลงประชามติ
          5. ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า หากมีการให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และมีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกันลงประชามติโดยเสรี และโดยให้มีหน่วยลงประชามติที่สะดวกและทั่วถึงเช่นการเลือกตั้งทั่วไป ก็จะมีประชาชนที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนสูงถึงประมาณ 197,018 - 238,486 คน ซึ่งถือเป็นประชามติของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั่นเอง
          6. กลุ่มประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ซึ่งไม่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง และในเขตเทศบาลตำบลลาดยาว ซึ่งแม้มีปัญหาน้ำท่วม แต่ก็เป็นเพราะการจัดการน้ำในเขตเทศบาล ไม่เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์โดยตรง อย่างไรก็ตามในเขตอื่น ๆ ประชาชนทั่วไปส่วนมากจะสนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยท้องที่ที่สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนอย่างล้นหลาม ได้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอลาดยาว
          7. ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนให้เหตุผลสำคัญเกี่ยวกับความสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ความไม่เหมาะสมของสถานที่ก่อสร้างเขื่อน ความรักและสงสารสัตว์ป่า โอกาสในการทุจริตในการก่อสร้างโครงการ และการคาดการณ์ถึงความไร้ประสิทธิผลของเขื่อนที่จะสร้างขึ้น
          8. สำหรับผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนให้เหตุผลถึงการป้องกันปัญหาน้ำท่วม และการมีน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมในฤดูแล้ง โดยได้วิงวอนให้สังคมเห็นแก่ความทุกข์ยากของเกษตรกรมากกว่าสัตว์ป่า จะสังเกตได้ว่าผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนจะเป็นเกษตรกรเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเกษตรกรในบางพื้นที่ที่ไม่ได้ผลกระทบก็ไม่เห็นควรให้มีการก่อสร้างเขื่อนเช่นกัน สำหรับผู้คัดค้านส่วนมากเป็นผู้ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรืออยู่ในเขตเมือง เห็นว่าตัวเองไม่เดือดร้อนและเกรงกลัวการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และสัตย์ป่าอย่างไม่มีวันกลับมา


ท่านผู้นี้วอนให้เห็นใจเกษตรกรและชี้ให้เห็นถึงภัยน้ำท่วมที่ส่งผลต่อนาข้าวและถนนพัง (ด้านหลัง)

เสียงสะท้อนของประชาชน
          ที่สำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการก่อสร้างเขื่อนนั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ในฐานะผู้สำรวจให้ความเห็นว่า หากการสำรวจนี้ดำเนินการในช่วงก่อนหน้าการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ของ อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และคณะที่ดำเนินการในช่วงวันที่ 10-22 กันยายน 2556 จำนวนผู้ที่เห็นด้วยกับเขื่อนแม่วงก์น่าจะมีจำนวนมากกว่านี้ แต่เพราะการเคลื่อนไหวนี้ ประชาชนบางส่วนก็เริ่มเชื่อข้อมูลของ อ.ศศิน ต่อประเด็นการเห็นใจสัตว์และเห็นแก่ป่ามากขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และที่เห็นใจประชาชน ก็ยังมีจำนวนมากกว่าถึงประมาณสองในสามของทั้งหมด
          ประชาชนที่เป็นเกษตรกรหลายรายในเขตอำเภอลาดยาวแสดงความรู้สึกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซากทุกปีทำให้เกิดความเสียหายต่อ เกษตรกรรมเป็นอย่างมาก อย่างเช่นในปีล่าสุดนี้เมื่อน้ำป่าเริ่มไหลหลากมาก เกษตรกรจำนวนมากก็ต้องเกี่ยวข้าวขึ้นมาก่อนเวลาอันสมควร และขายได้ในราคาเกวียนละเพียง 3,000 - 4,000 บาท ทั้งที่ราคาประกันเป็นเงินเกวียนละ 13,000 บาท นับเป็นการขาดทุนและความสูญเสียของเกษตรกรเหล่านี้
          อ.ศศินและคณะบอกว่า เกษตรกรอาจเข้าใจผิดว่าน้ำท่วมเกิดจากการไม่มีเขื่อนแม่วงก์ เพราะยังมีน้ำมาจากทางอื่นที่ไม่ใช่จากบริเวณเขื่อนแม่วงก์ ข้อนี้ความเห็นของประชาชนในพื้นที่น่าจะมีน้ำหนักกว่า ทั้งนี้เพราะประชาชนในเขตอำเภอลาดยาวและพื้นที่ใกล้เคียงเหล่านี้อยู่กับภัยน้ำท่วมและฝนแล้งมาทุกปี ตั้งแต่ที่จะสร้างเขื่อนในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2525 ไม่เพียงแต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะมั่นใจว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะส่งผลดี เกษตรกรในเขตอำเภออื่นต่างก็เห็นใจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นความรู้เรื่องน้ำท่วมที่สรุปจากประสบการณ์ตรงของประชาชนจึงมีความน่าเชื่อถือว่าบุคคลภายนอกเช่น อ.ศศิน และคณะ

สังคมควรฟังฝ่ายใด
          ในแง่หนึ่งกลุ่มเอ็นจีโอ ก็อ้างว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงออกล่ารายชื่อคนต้านเขื่อนแม่วงก์ในกรุงเทพมหานครและผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แท้จริงแล้วใครมีสิทธิในพื้นที่บริเวณนั้น
          ปกติเอ็นจีโอจะเน้นถึงสิทธิชุมชน จนมีความพยายามออกโฉนดชุมชนให้กับชาวเขา {1} หรือชาวบ้านคลองโยงที่แต่เดิมจะซื้อที่ดินจากทางราชการเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท แต่กลับได้โฉนดชุมชนไปฟรี {2}  แม้แต่ชาวชุมชนแออัดบุกรุกมาชั่วชีวิต ก็ยังได้โฉนดชุมชนที่ถูกกฏหมายไป {3} หรือเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าเอ็นจีโอเคลื่อนไหวหมายจะ "ปล้น" ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) ที่มักกะสันไปเป็นสวนสาธารณะของชาวกรุง จนผู้ว่าราชการ กทม. ก็ออกมาสนับสนุน {4}
          แปลกที่ว่าในกรณีเขื่อนแม่วงก์ เอ็นจีโอกลับไม่คิดว่าประชาชนในท้องถิ่นควรเป็นผู้ชี้ขาด กลับเห็นว่าประชาชน "โง่" ไม่รู้จริง/ ฟังแต่นักการเมือง {5} และกลับคิดว่าคนไทยทุกคนควรเป็นเจ้าของทรัพยากร เราควรคิดกันอย่างไรกันแน่:
          1. กรณีผู้บุกรุกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวเขา ชาวชุมชนแออัด เมื่อกระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะมาอ้างกฎหมู่ไม่ได้ บุกรุกอยู่กินเอาเปรียบคนอื่นมาชั่วชีวิต ยังจะมาอ้างสิทธิอีกหรือ แต่ที่ผ่านมาก็อ้างกันไปเรื่อย ป่าจึงวิบัติ จะเห็นได้ว่าหลังจากท่านสืบ นาคะเสถียรฆ่าตัวตายเพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของป่า ปรากฏว่าป่าก็ยังลดลงในอัตราเดิม {6} แต่เดิมเราย้ายชาวเขาลงจากป่า แต่เดี๋ยวนี้ กลับยอมให้เขาอยู่รักษาป่า (เพื่อพวกเขาเอง)
          2. ในกรณีการถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น ย่อมไม่ถูกต้อง เช่น กทม. จะหวังเอาที่ดินของ รฟท. ไปทำสวนสาธารณะเพื่อชาวกรุงโดยเฉพาะผู้ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงแถวนั้น ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะ รฟท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นของประชาชนทั้งประเทศ  ถ้า กทม. จะเอาที่ดินนี้ ก็ต้องซื้อจาก รฟท. จะ "ปล้น" เอาเฉยๆ ย่อมไม่ได้ หรือถ้าให้คน กทม. ร่วมกันบริจาคเพื่อการซื้อ ก็คงไม่มีใครยอมจ่าย (แต่ชอบออกเสียงเรียกร้อง)
          3. บางคนบอกว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ต้องถามคนที่อื่นก่อน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากร ถ้าเราคิดเช่นนี้ การที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรมหาศาลไปสร้างสาธารณูปโภคมากมายกระจุกให้กับชาวกรุง ก็ต้องถามประชาชนจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เลย ยะลา ฯลฯ ด้วยหรือไม่  ในความเป็นจริง หากเป็นกรณีความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลก็สามารถที่จะนำเงินส่วนรวมมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้
          4. ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ก็เช่นกัน ประชาชนได้สรุปบทเรียนมานับสิบๆ ปีแล้วว่าเขื่อนแม่วงก์จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งได้ ก็ควรที่จะสร้าง เพราะได้ประโยชน์ต่อประชาชนถึง 127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ หาไม่บริษัทต่างชาติจะย้ายหนี ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย หรือนำเงินไปช่วยเยียวยาในกรณีประสบเภทภัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
          5. หากเรานำประเด็นการสร้างเขื่อนไปถามคนในจังหวัดอื่นที่ไม่เคยได้รับความเดือดร้อน (จนต้องรีบขาวข้าวในนายามน้ำท่วมเหลือเพียง 3,000-4,000 บาทต่อเกวียน จากราคาประกัน 13,000 บาท) เขาก็ไม่เอาเขื่อนอยู่แล้ว จากการสัมภาษณ์พบว่าประชาชนในพื้นที่บางส่วนก็ไม่เอาเขื่อน เนื่องจากตนเองไม่ถูกน้ำท่วม ไม่ได้ทำนา มีแต่ประชาชนที่ไม่เดือดร้อนแต่เห็นใจประชาชนที่เดือดร้อน จึงเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ดังนั้นประชาชนที่อยู่ไกล ย่อมสงสารป่ามากกว่าคนอยู่แล้ว
          ดังนั้นการไปล่ารายชื่อจำนวนแสนชื่อมาค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงไม่มีผลอะไร เป็นเพียงกฏหมู่ เช่นถ้าถามประชาชนต่างจังหวัดว่าควรขุดคลองใหม่เพื่อระบายน้ำท่วมกรุงหรือไม่ พวกที่ไม่เดือดร้อนและไม่เห็นใจคนอื่น ก็ต้องตอบว่าไม่เช่นกัน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความเห็นใน 6 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา {7} พบว่า สองในสามเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน หากให้ประชาชนที่เห็นด้วยเหล่านี้มาลงประชามติ คาดว่าจะมีจำนวนถึง 238,486 คน มากกว่าที่เอ็นจีโอล่ารายชื่อคนค้านมาเสียอีก

เทียบผลการศึกษาอื่น
          มีผลโพลล์หนึ่งโดย ดร.นพดล กรรณิกา ประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ คุณจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาลุ่มน้ำเพื่อเกษตกร เครือข่ายวิชาการฯ สำรวจเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อการตัดสินใจของรัฐบาล กรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ผลการศึกษาพบว่า 59.5% คิดว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ 81.1% ระบุควรชะลอและทบทวนโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ {8}
          การศึกษานี้ไม่อาจนำมาอ้างอิงได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาจากประชากรนอกพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พะเยา นครสวรรค์ นครพนม อุดรธานี สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร และสงขลา จากการสำรวจของ ดร.โสภณ พบว่า สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากเขื่อน ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกร ไม่เดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม-ฝนแล้ง และอยู่ห่างจากพื้นที่ดังกล่าว ก็มักไม่เห็นด้วยและเชื่อตามข้อมูลของเอ็นจีโอที่โฆษณาไว้ก่อนหน้านี้
          ยังมีผลสำรวจอีกอันหนึ่ง คือ "ผลโพล 7 สี ถามคนในจ.นครสวรรค์ว่าต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ ปรากฏว่ามี 22.7% ต้องการเขื่อน 32.5% ต้องการเขื่อนถ้าไม่มีผลกระทบโดยรวม และ 34.2% ไม่ต้องการเขื่อน ในขณะที่ 10% ไม่แน่ใจ แสดงให้เห็นว่า คนในพื้นที่เองส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่ต้องการเขื่อนเลยหรือไม่ต้องการถ้าส่งกระทบต่อส่วนรวม" {9}  ในการสำรวจนี้ เชื่อว่าคงสำรวจเฉพาะในเขตเมืองเป็นสำคัญ ไม่ได้สำรวจในท้องถิ่นต่าง ๆ เช่นที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย สำรวจ จะเห็นได้ว่าในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ และเขตเทศบาลตำบลลาดหญ้า ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพราะตนเองไม่ได้เดือดร้อนอะไรและเห็นใจสัตว์ป่า

บทวิเคราะห์กรณีสัตว์และป่า
          หลายเหตุผลต่อการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจไปว่าการสร้างเขื่อนไม่ดี ตัวอย่างแรกก็คือ การกล่าวถึงความไร้ประสิทธิภาพของเขื่อนแม่วงก์ในทำนองว่า ""ศศิน" ชี้เขื่อนแม่วงก์ป้องน้ำท่วมกทม.ได้แค่ 1%" {10} โดยดูจากปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2554 กรณีนี้ฟังดูแล้วในเบื้องต้นอาจเห็นว่าทางราชการ "ไม่บ้าก็เมาแล้ว" ที่ยังคิดสร้างเขื่อนแม่วงก์
          แต่ในความเป็นจริงอาจถือเป็นการบิดเบือนอย่างยิ่ง เพราะในปีดังกล่าว ต่อให้มีเขื่อนภูมิพลนับสิบเขื่อน ก็อาจไม่สามารถกักน้ำไว้ได้อยู่ดี เขื่อนแม่วงก์ที่มีขนาด 13,000 ไร่นี้ {11} ใหญ่เพียง 2 เท่าของเขตสาทร ซึ่งเป็นเขตขนาดเล็ก ๆ ของกรุงเทพมหานครเท่านั้น จะไปใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร แค่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และแก้ไขภัยแล้วในพื้นที่ใกล้เคียงก็นับว่ามีประสิทธิผลสูงมากแล้ว
          ตัวอย่างที่สองก็คือ บอกว่าใน "พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจำนวนมากเป็นอันดับสองของโลก" {12} ฟังดูแล้วน่าจะอนุรักษ์ไว้ ไม่ควรทำลายป่าเลย แต่ที่พูดนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ ต้องลองตรองดู เพราะพื้นที่ที่มีขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทรนี้จะมีเสือพร้อมสัตว์อื่นที่พร้อมจะเป็นอาหารเสืออีกหลายเผ่าพันธุ์ได้อย่างไร คงมีแต่เสือเดินผ่านมาจากป่าดิบในบริเวณอื่น  ถ้ามีเสือจริง ป่านนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือชาวบ้านแถวนั้นคงถูกเสือกัดตายไปแล้ว หรือถ้ามีคนอื่นเห็นจริง ก็คงต้องรีบตามล่ากันจ้าละหวั่นเหมือนที่เคยมีในบริเวณอื่นแล้ว {13} เพราะรอบ ๆ พื้นที่ชายป่าที่เรียกว่า "แม่วงก์" นี้ มีหมู่บ้านชาวบ้าน รีสอร์ต ฯลฯ เกิดขึ้นเต็มไปหมด ป่านนี้แต่ละบ้านคงได้แต่นั่งสวดมนต์แล้ว
          ตัวอย่างที่สามคือเรื่องคลองส่งน้ำที่มัก "ขู่" ชาวบ้านว่า ขนาดที่ดินที่จะใช้จะใหญ่กว่าเขื่อนเสียอีก {14} อาจทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินจากการเวนคืน ข้อนี้ในความเป็นจริง ในพื้นที่นี้มีคลองธรรมชาติขนาดเล็ก ๆ เป็นหลัก และมักถูกรุก ไม่มีแม่น้ำ ทำให้การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมและการชลประทานมีจำกัด  ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างคลองใหม่ (ตามข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่) เพราะลำพังคลองธรรมชาติไม่มีประสิทธิผลพอ แม้ไม่มีเขื่อนก็ยังต้องมีการก่อสร้างคูคลองระบายน้ำและการชลประทานอยู่ดี
          ตัวอย่างที่สี่คือเรื่องทุจริต มักมีการกล่าวอ้างกันเสมอว่าจะมีการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ของการก่อสร้างเขื่อน {15} เพื่อต่อต้านการก่อสร้างเขื่อน ข้อหาทุจริตเป็นข้อหาครอบจักรวาลที่สุดแท้จะ "ป้ายสี" แก่อีกฝ่ายหนึ่ง หากต้องการแก้ปัญหาทุจริต ก็ต้องตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ หาไม่คงไม่ต้องทำโครงการใด ๆ สิ่งที่เอ็นจีโอทำได้ก็คือควรมีการรณรงค์การตรวจสอบการตัดไม้ในระหว่างการสร้างเขื่อนและมีหน่วยอาสาสมัครคอยพิทักษ์สัตว์

ข้อถกเถียงเรื่องสภาพป่า
          หลายคนเห็นป่า ณ สถานที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วเสียดาย ไม่อยากให้ตัดทิ้งไปสร้างเขื่อน แต่ความจริงก็คือป่านี้เพิ่งสร้างขึ้นมาเพื่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั่นเอง ถ้าสร้างเขื่อนก็ควรสร้างป่าทดแทนความสูญเสียนี้
          มักเป็นความเข้าใจผิดว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มีสภาพเป็นป่าดงดิบ แต่เป็นป่าปลูกใหม่ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมหลังจากเป็นเขตอุทยานฯ {16} ในโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ฯ ระบุว่า เป็นป่าเต็งรัง 33% ป่าไผ่ 9% ป่าไม้เบญจพรรณ 51% ที่รกร้าง 5% และแหล่งน้ำ 2% {17} นายวีระกร คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์กล่าวว่า "ข้อเท็จจริงมันเป็นป่าเสื่อมโทรมที่มีชนกลุ่มน้อยบุกรุกทำลายป่ามาแล้วเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่มากนัก" {18}
          เขื่อนแม่วงก์เริ่มคิดมานาน JICA ก็ทำการศึกษาจนปี พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีจึงให้ศึกษา EIA {19} แต่ในระหว่างนั้น ทางราชการก็ฟื้นฟูต้นไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนี้ แต่ในปัจจุบันต้นไม้ส่วนมากก็ยังมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง (DBH) เพียง 10-30 ซม.เท่านั้น การที่ DBH เล็ก แสดงว่าอายุน้อย เช่น ในเขตป่าทั่วไป กระถินเทพา อายุ 8 ปี DBH 15.8 ซม. หนามหัน อายุ 18 ปี DBH 18.1ซม. ไม้สัก อายุ 8 ปี DBH 10.5 ซม. {20} ไม้สักอายุ 14 และ 20 ปีมี DBH 21 ซม และ 33.5 ซม. ตามลำดับ {21}
          สาธารณชนจึงควรมองเห็นภาพเชิงซ้อน/ซ่อนเร้นให้ชัดว่า ในขณะที่มีการเสนอสร้างเขื่อนบนที่ป่าเสื่อมโทรมนี้ ก็มีการตั้งแง่ให้ไปศึกษาใหม่ไม่จบสิ้น เช่น พอจะสร้างเขื่อนในปี พ.ศ.2525 ก็ปรากฏว่า
          พ.ศ.2532 ให้ไปศึกษา EIA
          พ.ศ.2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น เช่น เขาชนกัน
          พ.ศ.2541 ให้ทำประชาพิจารณ์
          พ.ศ.2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนการสร้างเขื่อน
          พ.ศ.2556 ก็อ้างว่าต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรมแม่วงก์ที่จะเอามาสร้างเขื่อน ที่ทั้งปลูกทั้งฟื้นฟูมามีอายุ 5-18 ปีแล้ว ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมที่เคยมีชาวเขา 200 กว่าครัวเรือนอยู่แล้ว ห้ามสร้างเขื่อนอีก {3}
          หากมีความจำเป็นต้องตัดต้นไม้อายุสิบกว่าปีนี้เพื่อสร้างเขื่อน รายงาน EIA ก็ระบุชัดว่า ไม้มีมูลค่า 1,073 ล้านบาท รวมทั้งปริมาณธาตุอาหารพืช 11.71 ล้านบาทต่อปี {22} ซึ่งก็ยังดีกว่าการไปเวนคืนที่ดินนับหมื่นไร่ กระทบต่อชาวบ้านนับพันๆ ครอบครัวในบริเวณอื่น ยิ่งกว่านั้นเราสามารถนำเงินจำนวนนี้มาชดเชยเพื่อลดค่าก่อสร้างเขื่อน 
          ส่วนการกลัวว่าจะมีพื้นที่ฟอกคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ทางราชการและชาวบ้านก็จะร่วมกันปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 3 เท่า {23} รวมทั้งการปลูกป่าเพิ่มเติมในป่าแม่วงก์และผืนป่าตะวันตกโดยรวมที่เสียหายจากการบุกรุกเป็นหย่อมๆ และไฟป่าปีละนับร้อยครั้ง ก็จะทำให้มีป่าไม้ดังเดิม ยิ่งเมื่อมีเขื่อนก็จะยิ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นประโยชน์ต่อป่าและสามารถใช้ดับไฟป่าได้ทันท่วงทีอีกด้วย

ประมวลผลดีผลเสียของการสร้างเขื่อน
          โดยที่ประชาชนที่ให้สัมภาษณ์ บางส่วนมีความวิตกกังวลในด้านนี้ ดร.โสภณ จึงได้นำรายงาน EIA ที่อ้างถึงข้างต้นมานำเสนอ ทั้งนี้ตามรายงานฉบับเดือนกรกฎาคม 2555 ระบุข้อดีของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไว้ดังนี้:
          1. จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำแม่วงก์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาตรเก็บกักประมาณ 258 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประมงน้ำจืด รวมทั้งเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น
          2. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง 10,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ (ฤดูฝน) และในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 127 หมู่บ้าน 23 ตำบล 6 อำเภอ 3 จังหวัด
          3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทีดินด้านการเกษตรกรรม (Cropping Intensity : CI) เพิ่มขึ้น 40%
          4. การยกระดับรายได้ของเกษตร ซึ่งเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในฤดูฝน และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งผลผลิตพืชฤดูแล้ง
          5. เพิ่มผลผลิตด้านสัตว์น้ำและการประมงน้ำจืด ประมาณปีละ 165 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมดปีละ 7.13 ล้านบาท รวมทั้งทำให้นิเวศน์ด้านท้ายน้ำในลำน้ำแม่วงก์มีความสมบูรณ์มากขึ้น
          6. อ่างเก็บน้ำสามารถเป็นแหล่งน้ำเพื่อการดับไฟป่าที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยในปี พ.ศ.2542 มีไฟป่าเกิดขึ้นถึง 108 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,327 ไร่
          7. ทำให้สมบัติของดินโดยรอบอ่างเก็บน้ำและในพื้นที่ชลประทานมีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชพรรณธรรมชาติรวมทั้งพืชเกษตรกรรม
          8. สัตว์ป่าจะได้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำในด้านการเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร
          9. มีน้ำใช้เพื่อการชลประทานและการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว
          10. ทำให้สภาพทางสาธารณสุขและภาวะโภชนาการมีแนวโน้มดีขึ้น
          ส่วนข้อเสีย มีดังนี้
          1. กระทบต่อพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ 12,300 ไร่
          2. กระทบต่อที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มว.4 (แม่เรวา) และหน่วยรักษาต้นน้ำขุนน้ำเย็น
          3. กระทบไม้ใหญ่ 677,922 ต้น มูลค่าไม้ทั่งหมดประมาณ 1,073 ล้านบาท ปริมาณธาตุอาหารพืช 11.71 ล้านบาท/ปี
          4. กระทบต่อแหล่งโบราณคดี 6 จุด (ในอ่างเก็บน้ำ)
          5. กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว คือ แก่งลานนกยูง แก่งท่าตาแสง และแก่งท่าตาไท
          6. ชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน เช่น ระบบคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานรวม 15,742 ไร่ โดยมีผู้ถือครองที่ดินคิดเป็นมูลค่าชดเชยรวมทั้งสิ้น 801.08 ล้านบาท
          ข้างต้นคือผลสรุปรวบยอดจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งถือเป็นผู้ที่รู้จริงจำนวนมาก ที่เด่น ๆ ได้แก่ ผศ.ดร.บญส่ง ไข่เกษ (คุณภาพน้ำ) ดร.สกุล ห่อวโนทยาน (สจล.ลาดกระบัง: ชลประทาน) ผศ.สารัฐ รัตนะ (ม.เกษตรฯ: การจัดการอุทยานฯ) รศ.ดร.ปรีชา ธรรมานนท์ (วนศาสตร์ ม.เกษตรฯ: ป่าไม้/จัดการลุ่มน้ำ) รศ.ดร.วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (ม.เกษตรฯ: สัตว์ป่า) รศ.ดร.ประทักษ์ ตาบทิพย์วรรณ (ประมง ม.เกษตรฯ: นิเวศวิทยา) ดร.เสถียร รุจิรวนิช (จุฬาฯ: การมีส่วนร่วม) ดร.โกมล ศิวบวร (มหิดล: ผลกระทบต่อสุขภาพ) ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ (ม.เกษตรฯ: สิ่งแวดล้อม) ดร.กิจจา จิตรภิรมย์ (ว.ราชสีมา: ระบาดวิทยา) รศ.ดร.ชวเลข วณิชเวทิน (วิศวฯ ม.เกษตรฯ: คมนาคม) เป็นต้น
          ดังนั้นในเบื้องต้นจึงสรุปได้ว่า การสร้างเขื่อนมีข้อดีมากกว่าข้อเสียหลายประการ แต่สิ่งที่พึงระวังก็คือจะมีแนวทางการจัดการข้อเสียอย่างไรบ้าง เช่น
          1. ในข้อที่เสียป่า 12,300 ไร่นั้นเป็น 2.2% ของอุทยานฯ หรือ 0.1% ของผืนป่าตะวันตกทั้งหมด คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ แต่ก็ส่งผลให้เกิดแหล่งน้ำสำหรับสัตว์เพิ่มขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้น อาจทำให้ป่าไม้โดยรอบหนาแน่นกว่าเดิมชดเชยส่วนที่เสียไปได้ รวมทั้งประโยชน์ที่จะตกแก่ประชาชนถึงราว 50,000 คน
          2. ในส่วนของอาคารที่ทำการ ที่เป็นไม้ก็คงสามารถรื้อไปสร้างใหม่ได้ ส่วนที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก็คงต้องสูญเสียไป แต่คงมีมูลค่าน้อย
          3. ในส่วนของต้นไม้ ซึ่งก็คงซ้ำซ้อนกับข้อแรก และต้องโปร่งใสนำไม้ที่ตัดได้มาขายเพื่อลดต้นทุนให้กับโครงการ และระมัดระวังไม่ให้เงินรั่วไหล หรือมีการตัดไม้เกินจำนวน ซึ่งทางราชการต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และเป็นช่องทางเชิงสร้างสรรค์ของ NGOs ที่จะทำงาน "ปิดทองหลังพระ" ส่งอาสาสมัครเข้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
          4. ในส่วนของแหล่งโบราณคดี 6 จุด ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีได้อย่างไรในพื้นที่ป่าแห่งนี้ แต่ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการก่อสร้างทางหลวง ก็เคยมีการยกย้ายเจดีย์แล้วสร้างใหม่ข้าง ๆ ให้พ้นจากเขตทางมาแล้ว
          5. ในส่วนของแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิม คงไม่เป็นปัญหานัก เพราะเมื่อมีเขื่อน ก็จะเกิดแก่ง หาดทรายและแหล่งท่องเที่ยวสวยงามใหม่ ๆ มากกว่า 3 แก่งนี้
          6. ในส่วนของการชดเชย ทางราชการก็คงรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่ในต้นทุนของโครงการไว้แล้ว และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
          ประเด็นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปพึงทราบเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยวิจารณญาณ

การวิเคราะห์การลงทุนเบื้องต้น
          ข้อวิตกประการหนึ่งของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนก็คือค่าคุ้มค่าของเขื่อน ในส่วนต่อไปนี้จึงเป็นการคำนวณทางการเงินเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ถึงการสูญเสียโอกาสในการไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอดีต และในอนาคตจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น
          1. ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่มาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาทตามข้อมูลของกรมชลประทาน {24}
          2. ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ตามสูตร =((13,000/3,761)^(1/31))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา
          3. หากขณะนั้นกู้เงินมาทำโครงการด้วยเงิน 3,761 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% เป็นระยะเวลา 15 ปี ก็เท่ากับผ่อนชำระคืนเพียงปีละ 419 ล้านบาท หรือเดือนละ 37 ล้านบาท หรือ =8%/(1-(1/(1+8%)^15))*3,761 และตอนนี้ก็ผ่อนหมดไปแล้ว 16 ปี
          4. หากยิ่ง "ซื้อเวลา" ออกไป และหากสร้างในอีก 30 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2586) ค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 43,128 ล้านบาท หรือ = (((1+4.08%)^30)*13,000)หรือแพงขึ้นเป็น 3.32 เท่า (332%) ทั้งนี้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมคือ 4.08% ยิ่งปล่อยนานวันไป ประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย
          5. ถ้าต้องมีเงิน 43,128 ล้านบาท ในการก่อสร้างเขื่อนในอีก 30 ปีข้างหน้า นับแต่วันนี้ไปอีก 30 ปี รัฐบาลต้องเริ่มสะสมเงินปีละ 759 ล้านบาท หรือเดือนละ 63 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% ต่อปี หรือ = 4.08%/(((1+4.08%)^30)-1)*43,128 จึงจะได้เงินจำนวนดังกล่าว นี่คือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการ "เตะถ่วง" โครงการอย่างไม่สิ้นสุด
          6. หากสมมติให้ผลตอบแทนจากเขื่อนเป็นเงิน 5% ของ 3,761 ล้านบาทหรือ 188 ล้านบาทต่อปี และเก็บกินมาได้แล้ว 23 ปี (31 ปีที่ผ่านมาลบด้วย 8 ปีในการก่อสร้าง) ก็จะได้เม็ดเงิน ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% เป็นเงินถึง 6,952 ล้านบาท หรือ = ((((1+4.08%)^23)-1)/4.08%)*(3,761*0.05) นี่คือโอกาสที่สูญเสียไปจากการไม่ได้สร้างเขื่อนแม่วงก์
          7. ถ้าเขื่อนแม่วงก์สามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิได้ 10% ต่อปีเท่า ๆ กันโดยไม่มีการเติบโตของผลตอบแทนเลย (ปกติควรมี) และนำผลตอบแทนนี้มาคิดด้วยอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากการเพิ่มค่าก่อสร้างของเขื่อน ณ 4.08% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริง ก็จะพบว่า การลงทุนก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะคุ้มทุนในปีที่ 14 ของการดำเนินงาน และหากคิดถึงปัจจุบัน คงได้กำไรไปเป็นอันมากแล้ว

ข้อเสนอแนะ
          สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างให้ข้อมูล นอกจากนี้ควรให้มีการลงประชามติในหมู่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียงที่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้ ทางราชการควรมีการประชุมประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเชิญทั้งเอ็นจีโอและหน่วยงานอื่น ๆ ให้เข้าร่วม และสื่อสารกับประชาชนโดยตรง จะได้ไม่ต้องฟังผ่านสื่อต่าง ๆ
          นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเขื่อนที่คิดจะจัดสร้าง ทางราชการยังควรพัฒนาคลองชลประทาน คลองส่งน้ำขนาดใหญ่ รวมการทั้งขยายและขุดลอกคูคลองในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างฝาย หรืออ่างเก็บน้ำที่มีประสิทธิผลเพิ่มเติม

อ้างอิง:
{1} อสังหาริมทรัพย์กับชาวเขา:  www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market104.htm และ www.hilltribe.org/autopage/show_page.php?h=37&s_id=29&d_id=29
{2} โฉนดชุมชน: เอาสมบัติชาติให้กฎหมู่: www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement229.htm
{3} ชุมชนบ้านมั่นคงอ่างทองรับสิทธิ์ใช้ที่ดินสาธารณะ ร้องขอโฉนดชุมชนเพื่อความยั่งยืน สำนักข่าวอิสรา ศุกร์ ที่ 28 กันยายน 2555
{4} ‘สุขุมพันธุ์’รับผลักดันสวนมักกะสัน: www.thaipost.net/x-cite/270513/74108
{5} เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. จากแม่วงก์ ถึงพลังหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ www.naewna.com/politic/columnist/8993
{6} อย่าปล่อยให้ "สืบ นาคะเสถียร" ตายฟรี www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market203.htm
{7} ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่หนุนเขื่อนแม่วงก์ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement574.htm
{8} โพล'เอแบค'ชี้ กว่า 81% เห็นควรทบทวน สร้างเขื่อน'แม่วงก์' www.thairath.co.th/content/pol/373688
{9} โปรดดู www.greenworld.or.th/greenworld/local/1795
{10} ข่าว "ศศิน" ชี้เขื่อนแม่วงก์ป้องน้ำท่วมกทม.ได้แค่ 1% ถาม "ปลอดประสพ" หาที่ไหนปลูกป่า สำนักข่าว TNews: http://www.tnews.co.th/html/news/70372/ศศิน-ชี้เขื่อนแม่วงก์ป้องน้ำท่วมกทมได้แค่-1-ถาม-ปลอดประสพ-หาที่ไหนปลูกป่า.html และข่าว "ศศิน" บุกสภาแจงกมธ. ยืนกรานเขื่อนแม่วงก์แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1EY3dOelE0T0E9PQ==
{11} เขื่อนแม่วงก์: http://th.wikipedia.org/wiki/เขื่อนแม่วงก์
{12} Clip ป่าแม่วงก์ ที่เอาสัตว์หลากหลายที่มาลง ทำให้เข้าใจว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ที่บริเวณจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ www.youtube.com/watch?v=ZM8ap166l-I
{13} ย้ำอีกครั้ง อย่าอ้างเสือมาลวงค้านเขื่อนแม่วงก์ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement581.htm ถ้ามีเสือแถวที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์จริง ป่านนี้มีข่าวเช่นนี้แล้ว ชาวบ้านคงผวานอนไม่หลับ ออกล่าเสือ . . . ชาวบ้าน อ.ประทาย โคราช ออกไล่ล่าเสือโคร่ง หลังพบออกมาหากินในพื้นที่ (www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374306107) วอนอย่าล่า เสือ 2 ตัว หลังชาวบ้านพบใน ป่าชุมชนโป่งแดง (http://hilight.kapook.com/view/57796‎) เสือเบตง สิ้นฤทธิ์ จับตายเสือเบตง หลังตะปบชาวบ้านดับ 3 ราย (http://hilight.kapook.com/view/79574‎) ชาวบ้านขอนแก่นผวา เสือดาวบุกกินไก่ วอน จนท.เร่งล่า (www.thairath.co.th/content/region/358936‎)
{14} เขื่อนแม่วงก์ ตกลงคุ้มหรือไม่คุ้ม?: http://www.siamensis.org/article/35988
{15} Clip ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ www.youtube.com/watch?v=_SJeKiYzcCU
{16} โปรดดู www.wcsthailand.org/main/news/maewong_wildlife_recovery
{17} โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ (EIA) โดย บริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด เมษายน 2555 หน้า 3-162, 166-168
{18}  โปรดดู www.matichon.co.th/play_clip.php?newsid=1335505221
{19} มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=840
{20} โปรดดู www.conference.tgo.or.th/download/2011/research/PPT/180811/J14/05_r.pdf
{21} โปรดดู www.teak-teca.com/wp-content/uploads/2010/10/การจัดการสวนป่าไม้สักอายุ-14-ปีขึ้นไป.ppt
{22} รายงาน EIA หน้า ษษ และ ศศ
{23} โปรดดูรายงานข่าวนี้ที่ www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9560000118879
{24} โปรดดู http://maha-arai.blogspot.com/2013/09/blog-post_25.html


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved