อ่าน 3,137 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 34/2558: วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558
สกายวอล์ค สร้างแพงไปไหม จำเป็นไหม

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่กรุงเทพมหานคร กำลังจัดทำร่างประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างทางเดินยกระดับหรือสกายวอล์คตามข่าว http://goo.gl/MDsKU5 นั้น คำถามที่พึงตอบแก่สังคมก็คือ แพงไปหรือไม่ จำเป็นต้องสร้างหรือไม่
          สกายวอล์คที่กรุงเทพมหานครจะสร้างประกอบด้วย
          1. สกายวอล์คเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางนาและสถานีบีทีเอสอุดมสุข ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวผู้ผู้รับเหมาในเดือนพฤษภาคม โดยมีระยะทาง 1,700 เมตร ขนาดกว้าง 4 เมตร ใช้เวลาก่อสร้าง 15 เดือน งบประมาณ 450 ล้านบาท
          2. สกายวอล์คเชื่อมระหว่างสถานีสุรศักดิ์กับสถานีสะพานตากสิน ระยะทาง 700 เมตร ขนาดกว้าง 6 เมตร พร้อมจัดทำทางเลื่อนอัตโนมัติ ระยะทางไปกลับรวม 600 เมตร ซึ่งกทม.จะดำเนินการในส่วนนี้ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกวดราคาหาผู้รับเหมา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจะได้ตัวผู้รับเหมา โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี งบประมาณ 590 ล้านบาท
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ข้อคิดว่าหากพิจารณาจากกรณีแรก (สกายวอล์ค อุดมสุข-บางนา) พื้นที่ก่อสร้างจะเป็น 6,800 ตารางเมตร (ยาว 1,700 เมตร x กว้าง 4 เมตร) ตกเป็นค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรจะเป็นเงินถึง 66,176 บาท ส่วนกรณีที่สอง (สกายวอล์ค สุรศักดิ์-ตากสิน) พื้นที่ก่อสร้าง 3,600 ตารางเมตร (ยาว 600 เมตร x กว้าง6 เมตร) พร้อมทางเลื่อนอัตโนมัติตกเป็นเงินตารางเมตรละ 160,000 บาท
          ในด้านค่าก่อสร้าง หากเปรียบเทียบโดยคร่าว ๆ กับราคาค่าก่อสร้างอาคารของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นราคา ณ เดือนธันวาคม 2557 จะพบว่าอาคารที่พอเทียบเคียงกับสกายวอล์ค อาจเป็นอาคารจอดรถ ส่วนบนดิน ซึ่งตกเป็นเงินเพียงตารางเมตรละ 10,900 บาทเท่านั้น หากเป็นอาคารจอดรถส่วนใต้ดินที่มีจำนวนไม่เกิน 2 ชั้น และที่มีจำนวนไม่เกิน 4 ชั้น ค่าก่อสร้างจะเป็นเงินตารางเมตรละ 18,100 บาท และ 29,000 บาทตามลำดับ ดังนั้นค่าก่อสร้างสกายวอล์คที่ตารางเมตรละ 66,176 บาท (ไม่มีทางเลื่อนอัตโนมัติ) และ 160,000 บาท (มีทางเลื่อน) จึงถือว่าสูงมาก
          สำหรับประเด็นด้านปริมาณคนสัญจร โดยเฉพาะการเดินระหว่างสี่แยกบางนากับซอยอุดมสุขนั้น ปกติแทบไม่มีคนเดินสัญจรตลอดระยะทางดังกล่าวอยู่แล้ว คงมีเพียงการสัญจรสั้น ๆ ส่วนปริมาณคนการสัญจรในช่วงสุรศักดิ์กับสะพานสาทร ก็คงมีผู้เดินจำนวนจำกัด กรุงเทพมหานครควรศึกษาปริมาณและแสดงปริมาณคนสัญจรเพื่อสังคมจะได้ตรวจสอบต่อไป หากกรุงเทพมหานครอยากจะสร้างจริง ดร.โสภณ ขอแนะนำให้สร้างช่วงสุรศักดิ์-ช่องนนทรี น่าจะมีผู้ใช้ประโยชน์มากกว่า
          นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังควรแจงด้วยว่าในกรณีที่เจ้าของอาคารภาคเอกชนต้องการขอเชื่อมทางกับสกายวอล์ค กรุงเทพมหานครจะคิดค่าใช้จ่ายเป็นเงินเท่าใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน ไม่เกิดความลักลั่นและเปิดช่องทางการทุจริต


ภาพจำลองสกายวอล์คบางนาที่มา: http://goo.gl/V1d0KL


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved