ภาษีมรดกที่ผิดเพี้ยนของไทย
  AREA แถลง ฉบับที่ 258/2558: วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ว่ากันว่า "ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น" อย่างภาษีมรดกที่เพิ่งประกาศใช้ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมดังเจตนารมณ์ของภาษีมรดกเลย

            ภาษีมรดกคือภาษีที่เก็บจากกองมรดกหลังมรณกรรม โดยเก็บในอัตรา 10% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี (พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 http://bit.ly/1i7HTWg) อาจกล่าวได้ว่าการออกกฎหมายภาษีมรดกนี้แทบไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ แก่ส่วนรวม ภาษีมรดกควรมีไว้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้มีผลใด ๆ เพราะสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่าย จำนวนเงินรวมสูงเกินไป อัตราภาษีที่จัดเก็บก็ต่ำเกินไป
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ให้ข้อคิดว่า
            1. ในกรณีประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้ผู้มีมรดกไม่เกิน 10 ล้านเยน (3 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก ต้องเสียภาษี 10% ไปจนถึงอัตราสูงสุดคือ 50% (https://goo.gl/QjyNfR)
            2. ในอังกฤษ ผู้ที่มีมรดกตั้งแต่ 350,000 ปอนด์ (18.15 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก โดยเสียสูงถึง 40% ของมูลค่า (https://goo.gl/4q43Fx)
            3. ในสหรัฐอเมริกา ราคาขั้นต่ำของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงิน 5.34 ล้านดอลลาร์ หรือ 172.319 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในระดับมลรัฐ ผศ.กานดา นาคน้อยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาษีมรดกเก็บกับทรัพย์สินที่มีค่าตั้งแต่ 2 ล้านดอลลาร์ (64.5 ล้านบาท) ขึ้นไปโดยเก็บในอัตราสูงสุด 20% (http://bit.ly/1JC2f4n)

            จะเห็นได้ว่าทุกประเทศกำหนดขีดคั่นที่ต้องเสียภาษีไว้ต่ำกว่า ไทยเสียอีก แต่ของไทยมีข้อยกเว้นที่หลวมกว่า ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงค่าของเงินแล้ว ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น กำหนดให้ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี มีมูลค่าต่ำกว่าของไทยที่กำหนดไว้เป็นเงิน 100 ล้านบาทขึ้นไปจากราคาประเมินของทางราชการ ยิ่งกว่านั้นราคาที่ต้องเสียภาษีนั้นคิดตามราคาประเมินของทางราชการซึ่งมักต่ำกว่าราคาตลาดเป็นอันมาก แต่ในประเทศตะวันตกราคาประเมินทางราชการกับราคาตลาดใกล้เคียงกันมาก

            นี่แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่าในประเทศตะวันตก เขาพยายามทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากกว่าไทย แต่เดิม เราเชื่อกันว่า ภาษีมรดกคงไม่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริง แม้รัฐบาลจากรัฐประหาร ก็ไม่อาจเข็นกฎหมายภาษีมรดกได้เช่นกัน เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ล้วนแต่มีฐานะดีทั้งสิ้น เข้าทำนองภาษิตกฎหมายที่ว่า "ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น" นั่นเอง

            สำหรับการยกทรัพย์สินให้กับบุตรหลานในระหว่างที่เข้าของทรัพย์สินยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นการให้ ตามกฎหมายระบุไว้ว่า “เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น" (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 40 พ.ศ. 2558 มาตรา 4 http://bit.ly/1KSloLY)

            ในทางปฏิบัติ หากผู้ใดคาดว่าจะมีกองมรดกไม่เกิน 100 ล้าน ก็รอให้ผู้นั้นถึงแก่กรรมเสียก่อน แล้วลูกหลานก็สามารถแบ่งกันได้โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีทรัพย์สินมาก ส่วนที่เกินก็ทยอยโอนให้ลูก ๆ คนละไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสียชีวิตกันไป ก็เท่ากับว่าผู้มีทรัพย์มากทั้งหลายก็ได้เลี่ยงภาษีได้ กฎหมายภาษีมรดกจึงเป็นกฎหมายที่มีแต่เหมือนไม่มี ไม่ได้มีผลบังคับกับคนรวย ๆ ที่รู้ช่องทางในการ "วางแผนภาษี" ได้อย่างมีออาชีพนั่นเอง

            อันที่จริงแนวคิดการเสียภาษีมรดกมาจากการลดความเหลื่อมล้ำและ สร้างความเท่าเทียมกัน อภิมหาเศรษฐีฝรั่งมีค่านิยมในการบริจาคเงินมหาศาลเพื่อสังคม เพราะเชื่อตามนายแอนดรูว์ คาร์เนกี อภิมหาเศรษฐีอเมริกันที่กล่าวว่า "คนที่ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างน่าอับอาย" (the man who dies thus rich dies disgraced) เขาบริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดให้การกุศลก่อนตาย เหลือไว้ให้ทายาทบางส่วน ซึ่งต่างจากคติไทยที่ยินดีตายอย่างร่ำรวย

            ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าภาษีมรดกที่รัฐบาลออกมานั้น ก็เป็นกฎหมายที่แทบไม่มีผลในทางปฏิบัตินัก เป็นเพียงการออกกฎหมายเพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ออกมาตามที่สัญญาไว้แล้ว แต่ไม่ได้มีผลต่อการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมแต่อย่างใด กฎหมายมรดกที่เกลี่ยความมั่งคั่งจะเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ประเทศอย่างแท้จริง (ไม่ใช่แค่ในนาม) หรือประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินเช่นในประเทศตะวันตกเท่านั้น (ซึ่งไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อไหร่)

            เราจึงควรแก้ไขภาษีมรดกนี้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ในระหว่างมีชีวิต ก็ต้องเสียภาษีเสมือนการให้ การได้รับของรางวัลทั่วไป จึงจะลดความเหลื่อมล้ำได้จริง การที่ประเทศไทยยังสามารถออกกฎหมายที่ "เพี้ยน ๆ" แบบนี้ได้ ก็แสดงว่าเรายังมีคนรวยสุดๆ ที่มีอิทธิพลทางการเมือง (แม้ในยุคข้าราชการประจำเป็นใหญ่ก็ตาม) ยังมีผู้ยิ่งใหญ่ที่คอยแสดงฤทธิเดช ฟาดงวง ฟาดงา ในฐานะอภิสิทธิชนในสังคมไทย  รัฐบาลของประชาชนต้องพยายามสร้างความเท่าเทียมกัน จะให้ใครแหลมมารวยสุด ๆ โดยไม่เสียภาษีตามสมควรไม่ได้

อ่าน 2,736 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved