วิพากษ์ความคิด ป. อ. ปยุตฺโต กรณีธรรมกาย 1
  AREA แถลง ฉบับที่ 70/2560: วันอาทิตย์ที่ 05 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

AREA แถลงฉบับนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย

            ผมเห็นคนอ้างหนังสือ "กรณีธรรมกาย" เพื่อ "ตีตรา" ว่าธรรมกายผิดอย่างโน้นอย่างนี้ ผมจึงหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านบ้าง แต่ผมกลับพบว่าหนังสือเล่มนี้มีข้อความที่ผิดข้อเท็จจริง

            หนังสือเล่มนี้เขียนโดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในปัจจุบัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 24 - มกราคม 2551 หน้า 396-421 (http://bit.ly/VxBuIU) เรื่องการสร้าง "ธรรมกายเจดีย์" ผมเห็นแย้ง จึงขออนุญาต "มองต่างมุม" เพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาและสร้างสรรค์สังคมไทยตามเจตนารมณ์ของสมเด็จฯ มาลองดูกันครับ

            1. สมเด็จฯ: "การก่อสร้างนี้ใหญ่มาก มีผลเกี่ยวข้องโยงไปหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ควรจะให้ได้มีโอกาสฟังความคิดเห็นกันให้รอบคอบ เรื่องนี้อาตมาไม่ค่อยถนัดที่จะตอบ ไม่ใช่ปัญหาพระธรรมวินัยโดยตรง (น.402) ข้อนี้ขนาดสมเด็จฯ ออกตัวแบบนี้ สมเด็จฯ ยังวิพากษ์ "ธรรมกายเจดีย์" ในประเด็นซ้ำๆ ไปถึง 25 หน้า

            2. สมเด็จฯ: "เรื่องการระดมทุน. . . ยิ่งเวลานี้เศรษฐกิจฝืดเคือง. . .(ต้องประหยัด). . .ต้องเน้นการสร้างคน เพื่อสร้างชาติระยะยาว" (น.398) ข้อนี้เขาทำตามกำลังและศรัทธาของประชาชน ธรรมกายมีกิจกรรมสร้างคน สร้างชาติมากมาย (http://bit.ly/2keC9xP) สมเด็จฯ ไม่แลเห็นหรือ

            3. สมเด็จฯ: ". . .ใช้เงิน ๒๐,๐๐๐ ล้าน ถ้าทําได้เต็มโครงการก็ ๗๐,๐๐๐ ล้านบาทเท่ากับมาเพิ่มกําลังให้แก่ค่านิยมติดตื่นหน้าตา บูชาวัตถุ ทําให้ยิ่งแข่งกันมากขึ้น และเหมือนกับมาซ้ำเติมสังคม. . ." (น.402) สมเด็จฯ คงพูดตามคำคนอื่นโดยไม่ดูความจริงจากแปลนหรือเข้าไปเห็นเอง ความจริงแล้วพื้นที่ส่วนใหญ่เขาใช้ปฏิบัติธรรมและส่งเสริมศาสนา โปรดดู http://bit.ly/2ku43UZ

            4. สมเด็จฯ: "ถ้าเอาตามหลักและตามประเพณีของพระพุทธศาสนาแต่เดิมมากันจริงๆ การก่อสร้างอย่างนี้เป็นเรื่องของฝ่ายคฤหัสถ์ เขาจะริเริ่มขึ้นแสดงศรัทธาของเขา ยิ่งเรื่องใหญ่ขนาดนี้ถ้าเป็นสมัยโบราณ ก็ต้องเป็นเรื่องขององค์พระมหากษัตริย์" (น.402) ข้อนี้เขาก็ทำตามประเพณีคือประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น ไม่ได้ไปปล้นชิง ขูดรีด เกณฑ์แรงงานคนมาทำฟรี ๆ เช่นผู้ปกครองประเทศในสมัยโบราณ

            5. สมเด็จฯ: "ถ้าสร้างแล้วช่วยให้เงินเข้าประเทศปีละ ๑๐๐ ล้านบาท กว่าจะคุ้มทุน ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็ ๗๐๐ ปี หรือถ้าคิดทุนสร้างแค่ ๒๐,๐๐๐ ล้าน ก็ ๒๐๐ ปี" (น.407) ข้อนี้สมเด็จฯ ไม่มีความรู้ทางการเงิน ไม่ควรพูดด้วยความไม่รู้เช่นนี้

            6. สมเด็จฯ: "อนุสรณ์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ใหญ่โตเท่าไรก็อยู่มาเกิน ๒ พันปีแล้ว" (http://bit.ly/2kehIBc) ข้อนี้ไม่จริง แม้ตัวสถูปสาญจี (http://bit.ly/2lauM95  http://bit.ly/2laiDRJ) จะไม่ได้ใหญ่โตมาก (ธรรมกายเจดีย์เช่นกัน) แต่พื้นที่โดยรวมก็มีขนาดนับล้านตารางเมตร มหาสถูปแห่งเกสเรียซึ่งมีรูปร่างคล้ายธรรมกายเจดีย์ (http://bit.ly/2kuneyh  http://bit.ly/2laBECB) ก็สร้างไว้ใหญ่โต สมเด็จฯ ควรศึกษา "17 พุทธสถานในอินเดีย ที่คุณจะต้องทึ่ง" (http://bit.ly/2kuj09X) ให้ดีก่อนจะแสดงความเห็นเช่นนี้

            7. สมเด็จฯ: "สิ่งมหัศจรรย์ของโลก. . .มักเป็นอนุสรณ์แสดงอะไรบางอย่างในจิตใจ ที่ไม่ค่อยดี เป็นเรื่องตัวเรื่องตน อย่างน้อยก็ความต้องการแสดงอํานาจความยิ่งใหญ่. . .น่ายกย่องพระเจ้าอโศกมหาราชมาก ทั้งที่มีทรัพย์และอํานาจเหลือล้น แต่ดูจะทรงสร้างเน้นความเป็นอนุสรณ์ และแสดงความเคารพบูชาพระพุทธเจ้าจริงๆ เช่น มุ่งไปทําในที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เป็นต้น" (น.408)  ข้อนี้ไม่ควรพูดส่อเสียดธรรมกายเจดีย์ สมเด็จฯ คงเข้าใจผิด "เสาอโศก" สร้างกระจายทั่วอินเดียเพื่อเผยแผ่ศาสนามากกว่าแถวสังเวชนียสถานเสียอีก (http://bit.ly/2jPYnmo)

            8. สมเด็จฯ: ". . .ควรจะมาเน้นการสร้างธรรม สร้างปัญญาในตัวคนนี่แหละ เพราะอนุสรณ์ที่เป็นสิ่งก่อสร้างสถูปเจดีย์สําคัญๆ เรามีไม่น้อยแล้ว หรืออาจจะพอแล้ว เจดีย์อยู่ไปพันปีข้างหน้า แต่เวลานั้นพุทธศาสนาอยู่ด้วยหรือเปล่า. . .จะเอาพระพุทธศาสนาฝากไว้กับวัตถุ แล้วคนก็เลยเพลิน ปล่อยให้วัตถุรักษาพระศาสนา" (น.409) ข้อนี้สมเด็จฯ เอาอะไรมาตัดสินคนอื่นว่า "พอแล้ว" นี่เป็นเรื่องแล้วแต่ศรัทธา ไม่ควรไปกะเกณฑ์ใคร นี่ถ้าไม่มีพุทธสถานเหลืออยู่ในอินเดีย ก็คงไม่มีใครรู้ว่าอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดพุทธด้วยซ้ำ

            9. สมเด็จฯ: "ชาวพุทธที่อยู่ไกลที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานออกไป ไม่มีโอกาสไปนมัสการ หรือไปได้ยาก ไปได้น้อยครั้งก็สร้างสถูปเจดีย์ระลึกถึงพระพุทธเจ้า" (น.410)  ข้อนี้แสดงว่าการสร้างธรรมกายเจดีย์จึงชอบแล้ว แต่สมเด็จฯ คงไม่ทราบว่าในมหาธรรมกายเจดีย์ ก็บรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วย

            10. สมเด็จฯ: "เราควรเสริมความสำคัญของ (สถูปเจดีย์) ศูนย์กลางที่มีอยู่แล้วซึ่งโยงพวกเราในปัจจุบันกับประวัติศาสตร์ของประเทศชาติและบรรพบุรุษของเรา. . .ไม่ใช่มาลดทอนความสำคัญของศูนย์กลางเก่าๆ ในประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ แล้วแบ่งแยกกันออกไปให้มากขึ้น" (น.411) การสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ด้วยจิตอันเป็นกุศลของคนนับล้านเป็นการลดทอนความสำคัญของศูนย์กลางเก่าๆ และแบ่งแยกได้อย่างไร สมเด็จฯ ไม่พึงกล่าวเช่นนี้

            11. สมเด็จฯ: "พระสถูปเจดีย์ที่ตรัสรู้และปรินิพพาน เป็นต้น ในอินเดียนั้น แม้เวลาล่วงไป ๒๕๐๐ กว่าปี ชาวพุทธก็เพียรพยายามเดินทางไป. . .ส่วนบรมพุทโธที่ชวานั้น คนไปกันโดยไม่ได้มีจิตใจผูกพันอะไร เพียงอยากไปดูความใหญ่โตสวยงาม. . .บรมพุทโธที่ยิ่งใหญ่ สร้างขึ้นมาสิ้นเปลืองมากมาย แต่ใช้ประโยชน์น้อย. . ."  ข้อนี้สมเด็จฯ ไม่พึงปรามาสคนอื่น พุทธสถานของพระเจ้าอโศกที่สมเด็จฯ ยกย่อง ก็พินาศหมด เพราะประชาชนแถวนั้นเปลี่ยนศาสนา

            12. "ถาม: ทางวัดพระธรรมกายว่า จะให้มหาธรรมกายเจดีย์เป็นศูนย์กลางชาวพุทธทั่วโลก เหมือนอย่างเมกกะ. . .ตอบ: เมกกะนั้นเป็นที่ประสูติของท่านศาสดามูฮัมหมัด. . .(มหาธรรมกายเจดีย์) ก็ไม่เห็นมีความเกี่ยวข้องอะไรกับพระประวัติของพระพุทธเจ้า" (น.413)  ข้อนี้สมเด็จฯ ไม่น่าพูดเป็นอื่น ธรรมกายเขาก็เพียงสร้างเพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่ศาสนาเช่นศาสนาอื่นเท่านั้น ในปัจจุบันศูนย์เผยแพร่พุทธศาสนาก็ล้วนอยู่นอกอินเดีย ถ้าคิดเห็นเป็นชอบมหาธรรมกายเจดีย์อาจคล้ายมหาวิทยาลัยนาลันทะที่ "อาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม. . .นักศึกษามีประมาณ 10,000 คน และมีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน" (http://bit.ly/2bsUkZ5)

            13. สมเด็จฯ: "ทางที่ดีชาวพุทธเราควรไปช่วยกันเสริมความสําคัญของสถานที่ขององค์พระพุทธเจ้าโดยตรง อาจจะเอาพุทธคยาเป็นศูนย์กลางชาวพุทธทั่วโลกกันให้ชัดไปเลย หรือในประเทศไทยของเราที่พุทธมณฑลก็ดี. . .ชื่นใจกว่าจะทำอะไรใหญ่โตขึ้นมาใหม่ ลอยๆ ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้า" (น.414) ข้อนี้แสดงว่าสมเด็จฯ ไม่ชื่นใจการสร้างธรรมกายเจดีย์ตามศรัทธาของชาวพุทธโดยไม่ได้ไปเกณฑ์แรงงาน รีดไถ ปล้นเงินใครมาสร้างหรือ

            14. สมเด็จฯ: "(วัดเชตวัน) ใหญ่แต่บริเวณเท่านั้น แต่อาคารไม่ใหญ่ อย่างกุฏิพระพุทธเจ้า. . .กว้างด้านละ ๒-๓ เมตร เท่านั้นเอง. . .ที่ว่าบริเวณใหญ่โต ก็คือเป็นสวนหรือเป็นป่า. . ." (น.416)  ข้อนี้ไม่น่าเป็นไปได้ที่สมเด็จฯ จะลืมว่า "(ที่ดิน) แพงมหาศาลถึง 18 โกฏิ. . .สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ สิ้นเงินไปอีก 36 โกฏิ" (http://bit.ly/2kBdgNT) แสดงว่าสร้างอย่างยิ่งใหญ่มาก ส่วนกุฏิของพระพุทธเจ้าจะเล็กกว่าของสมเด็จฯ ไม่ใช่ประเด็น

            15. สมเด็จฯ: ". . .พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ไม่เคยสร้างวัดที่ไหนเลยแม้แต่วัดเดียว. . .เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาใหม่ๆ พระไม่มีวัด ไม่มีที่อยู่อาศัย ก็อยู่ตามโคนไม้. . ." (น.417) ข้อนี้สมเด็จฯ จะพยายามบอกว่าธัมมชโยไม่ควรสร้างวัดใช่หรือไม่ ชาววัดธรรมกายเขาสร้างตามศรัทธา  แต่ในทางตรงกันข้าม วัดดังๆ ที่บุกรุกที่บนภูเขานั้น ส่วนมากอาจเป็นเจ้าอาวาสเป็นคนนำสร้าง (http://bit.ly/2h3OwYG) สมเด็จฯ เคยเอ่ยปากว่าเขาหรือไม่ ในสมัยพุทธกาลก็มีทั้งพระป่าและพระบ้าน เทวทัตนิยมให้พระอยู่ตามโคนไม้อยู่ป่าสถานเดียว แต่พระพุทธเจ้าไม่ยินดี (http://bit.ly/2l6h6PX) สมเด็จฯ ต้องการให้พระอยู่แต่ในป่าหรือ

            ดังนั้นการนำข้อมูลที่ผิดความจริงมา "โจมตี" ธรรมกาย จึงดูไม่เป็นธรรมแก่ธรรมกายนัก ท่านอื่นคิดเห็นอย่างไร ลองดูนะครับ ผมเองก็ไม่ใช่ศิษย์ธรรมกาย เพียงแต่เห็นเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพื่อสังคมอุดมปัญญาครับ


ภาพ 1: มหาธรรมกายเจดีย์ วัดธรรมกาย
ที่มา: http://bit.ly/2ku43UZ

 


ภาพ 2: มหาสถูปแห่งเกสเรียซึ่งมีรูปร่างเหมือนธรรมกายเจดีย์ที่สุด
ที่มา: http://bit.ly/2kuneyh http://bit.ly/2laBECB

 


ภาพ 3: เสาอโศกและโองการของพระเจ้าอโศกมีทั่วอินเดียและประเทศใกล้เคียง 
ที่มา: http://bit.ly/2jPYnmo

 


ภาพที่ 4: วัดต่าง ๆ ที่อยู่บนยอดเขา ผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารสิทธิ์ สมเด็จฯ เคยไปต่อว่าไหม ที่มา: http://bit.ly/2h3OwYG

อ่าน 26,697 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved