สมเด็จฯ ป. อ. ปยุตฺโต ไม่เข้าใจประชาธิปไตย?: วิพากษ์ความคิด ป. อ. ปยุตฺโต 3
  AREA แถลง ฉบับที่ 81/2560: วันพฤหัสบดีที่ 09 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เห็นพระคือสมเด็จฯ ป. อ. ปยุตโต เขียนเรื่องประชาธิปไตย  ดร.โสภณในฐานะผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ (ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเหมือนกัน) จึงขอเขียนถึงเรื่องนี้บ้าง โดยมีโจทย์ว่า สมเด็จฯ (อาจ) ไม่เข้าใจประชาธิปไตย!?!

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต) เขียนเรื่องประชาธิปไตยไว้ในหนังสือ "กรณีธรรมกาย บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทยฉบับเพิ่มเติม-จัดลำดับใหม่" (http://bit.ly/VxBuIU) ในสมัยเป็นพระธรรมปิฎก และต่อมาเป็นพระพรหมคุณาภรณ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 24 - มกราคม 2551 หน้า 430-431 ไว้ดังนี้:

"เสียงมากตัดสินความต้องการได้ แต่ตัดสินความจริงไม่ได้ ”. . . ๕๐๐ ปี (ก่อน). . .คนบอกว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก. . . สมัยก่อนโน้น คนทั้งโลกเชื่อว่าโลกแบน. . .เรื่องความจริงนั้น ต้องใช้ปัญญา จะมามองผิวเผินแค่เห็นปุบปับไม่ได้และจะเอาความต้องการของเรา เอาความอยาก เอาความชอบใจเอาความปรารถนาของตัวไปตัดสินก็ไม่ได้ ประชาธิปไตยที่ตัดสินด้วยเสียงข้างมากนั้น ก็คือเขาดูความต้องการของประชาชน ว่าคนส่วนมากจะเอาอย่างไร แต่ถ้าขืนปล่อยให้มนุษย์เอาความต้องการกันดิบๆ ไม่นานก็คงวิบัติเขาจึงต้องให้มีการศึกษา เพื่อจะได้ให้คนส่วนมากนั้นมีปัญญารู้ว่า อะไรจริง อะไรดี ที่ควรจะเอา เพื่อให้ความต้องการของคนมาตรงกับธรรม คือจะได้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม เป็นประโยชน์ที่แท้จริง"

            ข้อนี้อาจเป็นความสับสนกล่าวคือในกรณีศิลปวิทยาการ จะไปถามคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แล้ว เช่น ถามคนส่วนใหญ่ว่าจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์อย่างไรก็คงไม่ได้เรื่องแน่นอน หรือในกรณีรูปวาดที่แพงที่สุดในโลก 10 ภาพแรกที่ขายกันถึงภาพละ 4,800 - 9,600 ล้านบาท (http://bit.ly/2kQ5RKU) นั้น ถ้าถามชาวบ้านร้านตลาด ถามสมเด็จฯ หรือถามผม ผมก็คงมองไม่เห็นความสวยงามอะไรได้ลึกซึ้งปานนั้นได้ ดังนั้นเรื่องศิลปวิทยากร จึงเป็นข้อยกเว้น เข้าทำนองกฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น

            ไม่ใช่เฉพาะปราชญ์ด้านศาสนาอย่างสมเด็จฯ แม้แต่ปราชญ์ด้านกฎหมายอย่าง ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ก็ยังคิดทำนองนี้ ท่านว่า “จากคดี Perry v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษา. . .ผลการลงประชามติของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2551 ที่มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียเสียใหม่ เพื่อหวงห้ามมิให้คนเพศเดียวกันทำการสมรสกันได้นั้นขัดต่อหลักความเสมอภาคและขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา. . . เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้” (http://bit.ly/1PrBeEb)

            แต่กรณีนี้อาจารย์กิตติศักดิ์ อาจเข้าใจผิดไป ในความเป็นจริงแล้ว:

            1. ประชามติของชาวมลรัฐหนึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญของทั้งสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมาจากฉันทามติของคนทั้งประเทศ) ย่อมไม่ได้ ประชามติของคนกลุ่มย่อยเช่นนี้ย่อมไม่มีผล เช่น ชาวฮาวายจะลงประชามติแยกออกจากสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้ มติของคณะโจรว่าจะไปปล้นบ้านไหน ชุมชนไหน ย่อมใช้ไม่ได้ เพราะโจรไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในสังคม

            2. อย่างไรก็ตาม หากมีการลงประชามติกันทั่วประเทศห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ต้องแก้กฎหมายตามเสียงส่วนใหญ่ ผู้พิพากษาก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาตัดสินเป็นอื่นได้

            3. ดังนั้นมันจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะกล่าวว่า “ศาล (ผู้พิพากษาไม่กี่คน) ซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้” ไม่ได้ เพราะเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัว

            บางคนยังอ้างผิด ๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจผิดพลาด เช่น กรณีการเถลิงอำนาจของนาซี โดยอ้างว่าฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือ การเลือกตั้งในปี 2476 ดังกล่าว นาซีไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ นาซีได้คะแนนเสียงเพียง 44% ทั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งสกปรก รวมทั้งการทำลายคู่แข่งของฮิตเลอร์  การชนะด้วยเสียงข้างมากแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อยู่ดี (http://bit.ly/NrvayI)

            เรามายืนยันความถูกต้องกันเถิดว่าเสียงส่วนใหญ่คือสัจธรรม หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ  ดร.โสภณซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ขอยกวิธีการประเมินค่าทรัพย์สินวิธีหนึ่งก็คือ การเปรียบเทียบตลาด (Market Comparison Approach) โดยผู้ประเมินต้องหาข้อมูลให้เพียงพอ เราจึงจะทราบได้ว่าในตลาดมีระดับราคาที่เรียกว่า “ช่วงชั้นราคาตลาด” (Zone of Market Prices) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “หั่งเส็ง” หรือ “หั่งเช้ง” ที่คนส่วนใหญ่ซื้อบ้านในราคาตลาด (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value) ของทรัพย์สินที่เราประเมินซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างตามลักษณะเฉพาะของทรัพย์สิน

            พฤติกรรมตลาด (Market Behavior หรือ Market Practices) ในท้องตลาด เป็นผู้กำหนดราคาตลาด ซึ่งสะท้อนจากความเป็นไปได้ทั้งทางกายภาพ ตลาด การเงิน และกฎหมาย เช่น ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ที่ดินที่เป็นที่นากับที่ดินที่เป็นสวนยางพารา หรือที่ดินที่มีระบบชลประทานกับที่ดินที่ไม่มี ย่อมมีราคาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามพฤติกรรมตลาด อย่างไรก็ตามในตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) กลไกตลาดอาจถูกบิดเบือนไปได้ในบางขณะสั้น ๆ แต่ไมใช่ตลอดไป

            อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีตลาด ก็จะมีราคา เพราะตลาดเป็นแหล่งสังเคราะห์อุปสงค์และอุปทานให้ออกมาเป็นราคาตลาด ถ้าเราไม่ฟังเสียงตลาดหรือคนส่วนใหญ่ เราก็จะไม่สามารถทราบราคาที่แท้จริงได้ เช่น หินดวงจันทร์ก้อนหนึ่งมีราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีราคาเช่นนี้ก็เพราะมีพฤติกรรมตลาดที่แน่ชัดที่ผ่านการซื้อขายมาหลายต่อหลายครั้งในตลาด จนสามารถทราบได้นั่นเอง นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่สามารถไปดวงจันทร์ก็อยากได้หินมาทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีระบบตลาดของหินดวงจันทร์เกิดขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่า

            ในความเป็นจริงอาจมีข้อมูลที่สูงหรือต่ำผิดปกติ (Outliers) อยู่บ้าง ซึ่งย่อมเป็นความผิดพลาด (Errors) ที่อธิบายได้หรือยังอธิบายไม่ได้อันเป็นผลมาจากการจดบันทึกหรือเก็บข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน มีตัวแปรพิเศษ หรือกลุ่มตัวอย่างแตกต่างไปจากกลุ่มส่วนใหญ่ เช่น ปกติบ้านแบบเดียวกันในย่านนี้ มีราคา 1 ล้านบาท บวก/ลบ 10% แต่มีบางคนซื้อเพียง 5 แสนบาท เพราะเป็นบ้านที่ทรุดโทรมมาก หรือมีคนฆ่าตัวตายในบ้าน บางคนก็อาจซื้อถึง 2 ล้านบาท เพราะจำเป็นต้องซื้อหรือเพราะความไม่รู้ เราจึงต้องร่อนเอา Outliers ออกก่อนการวิเคราะห์และประมวลผล หาไม่ก็จะเป็นข้อมูลขยะ ถ้าเราเอาขยะเข้ามาวิเคราะห์ เราก็จะได้ขยะออกมา (Garbage In, Garbage Out)

            ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ให้สาวกยึดมั่นในพระพุทธองค์ (หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว) แต่ให้ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน แม้แต่พระวินัยบางข้อ ถ้าที่ประชุมสงฆ์เห็นควรละเว้นแก้ไข พระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้ทำได้ นี่แสดงว่าพระพุทธเจ้ายอมรับปัญญา และความเป็นอิสระของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังปฏิเสธการแบ่งชั้นวรรณะ เห็นคนเท่าเทียมกัน บวชให้จัณฑาล จึงนับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งประชาธิปไตย และจึงถูกทำลายหรือไม่ก็ถูกควบคุมให้อยู่ใต้อาณัติของวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เรื่อยมา

            แต่การที่กฎทุกกฏย่อมมีข้อยกเว้น พวกเผด็จการทรราชจึงนำมาบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการอุปโลกน์ตนเป็นผู้นำ ผู้รู้ คนดีหรืออภิชนเหนือคนอื่น และข่มว่ามหาชนเป็นคนโง่ ถูกซื้อได้ง่าย ไร้สามารถ ขาดศักยภาพในการตัดสินใจ จำเป็นต้องมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรค์ส่งมานำทางให้ การบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ท้ายพวกเผด็จการทรราชมาทำการรัฐประหาร แล้วมาควบคุมประชาชน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มาโกงกิน ดังเช่นที่เห็นตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สามทรราช รสช. คมช. มีใครเชื่อบ้างว่ารัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านั้นใสสะอาดกว่ายุคอื่น  ในยุคเผด็จการทรราชมักมีการโกงกินมากกว่าพวกนักการเมืองพลเรือนเพราะขาดการตรวจสอบและเพราะมักอ้างตนมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น

            เผด็จการทรราชยังใช้อำนาจเขียนประวัติศาสตร์บิดเบือนต่าง ๆ นานา เช่น ในสมัย 6 ตุลาคม ก็หาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ก็จัดแสดงนิทรรศการอาวุธในธรรมศาสตร์ที่สนามไชย ซึ่ง ดร.โสภณในฐานะนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งมั่นใจไม่เคยมีอาวุธสงครามเช่นนั้น หาไม่ตำรวจ ทหารและกลุ่มฝ่ายขวาที่บุกเข้าไปคงต้องเสียชีวิตกันมากมายไปแล้ว

            ประชาชนมักถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นเมือง” หรือ “ปุถุชน” (บุคคลผู้มีกิเลสหนา) แต่ในความเป็นจริง ปุถุชนหรือสามัญชนนี่แหละคือเจ้าของประเทศตัวจริง ไม่ว่าชนชั้นปกครองจากชาติใด หรือลัทธิใดมาครอบครอง สามัญชนก็ยังอยู่สร้างชาติ รักษาความเป็นชาติ เช่นที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์จีน เกาหลี หรือล่าสุดในสมัยสงครามเวียดนามที่มีเพียงประชาชนระดับบนที่มีฐานะและโอกาสที่ดีกว่าที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดส่วนตัว ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงคุณค่าของมวลมหาประชาชน

            โปรดน้อมนำพระบรมราโชวาท ร.7 ในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย 12 พฤศจิกายน 2473 ที่ว่า:

"การปกครองแบบเดโมคราซีนั้น ผู้ที่ชนะแล้วได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง . . . ส่วนผู้ที่แพ้ก็เหมือนกัน เมื่อแพ้แล้วก็ต้องยอมรับว่าตนแพ้ในความคิดในโวหาร แพ้เพราะประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย เมื่อแพ้แล้วก็ตั้งกองวิวาทเรื่อยบอกว่า ถึงแม้คะแนนโหวตแพ้กำหมัดยังไม่แพ้ เช่นนั้นแล้วความเรียบร้อยจะมีไม่ได้ คงได้เกิดตีกันหัวแตกเต็มไป ฝ่ายผู้แพ้ควรต้องนึกว่า คราวนี้เราแพ้แล้วต้องไม่ขัดขวางหรือขัดคอพวกที่ชนะอย่างใดเลย ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการตามความเห็นชอบของเขา ต่อไปภายหน้าเราอาจเป็นฝ่ายที่ชนะได้เหมือนกัน" (http://bit.ly/2kJNgO4)

            และโปรดเคารพเสียงของประชาชนคนเล็กคนน้อย

            “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ

 ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป

            เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

(โปรดฟังเพลงที่ลิงค์นี่: www.youtube.com/watch?v=WT7eG8WeQ2g)

อ่าน 12,109 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved